“ยกสิงคโปร์ โควิดรอบสองน่ากลัว” “อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา” ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำเป็น เพราะอำนาจสั่งการอยู่ที่นายกฯ พ.ร.บ.ควบคุมโรค รมว.สาธารณสุข สั่งการคนเดียว เอาไม่อยู่... กลุ่มต่อต้านย้ำ “รัฐประหารไวรัส”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (23 พ.ค. 63) Chuchart Srisaeng ของ นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ข้อความ ระบุว่า
“.....ถ้ายกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพียงฉบับเดียวมาใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด- 19
.....อำนาจในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เท่านั้น นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีท่านอื่นๆ ไม่มีอำนาจที่จะสั่งการใดๆ ตามกฎหมายฉบับนี้
.....ผู้ที่ออกมาต่อต้านและเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน น่าจะรู้ดีว่า การแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จจนทั่วโลกให้การยอมรับ และยกย่องนั้น เหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ก็คือ การนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาใช้แก้ปัญหาเพราะนายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการได้ในทุกกรณี
.....ถ้ายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และให้ รมต.สาธารณสุข ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อแก้ปัญหา โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีท่านอื่นๆ ไม่มีอำนาจยุ่งเกี่ยว เชื่อได้ว่า การระบาดของโควิด-19 รอบสอง เช่นที่เกิดขึ้นในประเทศสิงคโปร์ ที่ในรอบแรกมีผู้ป่วยเพียง 1,000 คนเศษ แต่ขณะนี้มีผู้ป่วยถึง 30,426 คน ทั้งๆ ที่มีประชากรทั้งประเทศเพียง 5 ล้านคนเศษเท่านั้น
.....ถ้าประเทศไทยมีผู้ป่วยเท่าหรือมากกว่าสิงคโปร์จนเท่ากับประเทศฝรั่งเศส หรือสเปน หรือสหรัฐอเมริกา เมื่อใด ผู้ที่ออกมาต่อต้านการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และผู้ที่คอยจ้องล้มรัฐบาลชุดนี้ ก็จะประสานเสียงออกมาขับไล่รัฐบาลชุดนี้ โดยอ้างเหตุว่า แก้ไขป้องกันการระบาดของโควิด-19 ล้มเหลว
.....ส่วนประชาชนคนไทยจะป่วยเจ็บและเสียชีวิตมากมาย แค่ไหน แม้อาจมีญาติพี่น้องของตนเองรวมอยู่ด้วย บุคคลเหล่านี้ก็คงไม่สนใจ เพราะต้องการเพียงให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากผู้นำของประเทศไทยเท่านั้น”
อีกด้านของฝ่ายต่อต้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เฟซบุ๊ก Anusorn Unno ของ นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์หัวข้อ
“รัฐประหารไวรัส”
เนื้อหาระบุว่า “ศบค. มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ สมช. ในการขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปอีก 1 เดือน ภายใต้เหตุผลว่าจะช่วยให้การรับมือการระบาดที่อาจจะเพิ่มมากขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการระยะ 3 และ 4 เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีเอกภาพ รวมทั้งเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ ขณะที่สถานการณ์การระบาดในโลกยังไม่สิ้นสุด
แต่ปัญหาก็คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นกฎหมายที่มีไว้สำหรับแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ใช่ที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะการบังคับใช้กฎหมายประเภทนี้มี “ต้นทุน” สูง
ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลและการพร้อมรับผลในการใช้อำนาจ หรือในเรื่องของสิทธิเสรีภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การอ้างเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของ ศบค./สมช. จึงผิดหลักการของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่ต้น และจะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาในระดับที่ไม่คุ้ม “ราคา” ที่ต้องจ่าย อีกทั้งยังไม่สามารถเรียกเก็บได้จากคนที่ก่อให้เกิดผลกระทบ
ขณะเดียวกัน การคาดคะเนของ สมช./ศบค. มีความเป็นไปได้ต่ำ เพราะสถิติที่ผ่านมาโดยเฉพาะการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 1 ไม่ได้ส่งผลให้การระบาดรุนแรงขึ้น เรามีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันเป็นหลักหน่วยต่อเนื่องมากว่า 20 วัน เป็นเลข 0 มาแล้ว 3 วัน และไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มมาแล้วหลายวัน อีกทั้งการติดเชื้อส่วนใหญ่ก็อยู่ในเงื่อนไขหรือสภาพแวดล้อมเฉพาะ ไม่ใช่การใช้ชีวิตปกติทั่วไป นอกจากนี้ การคาดคะเนของ สมช./ศบค. ยังเป็นไปอย่างกว้างและหลวม ไม่ได้ชี้ให้เห็นอย่างจำเพาะเจาะจงว่าการผ่อนคลายในกิจกรรมใดที่ไม่ว่าจะใช้มาตรการป้องกันไหนก็จะเป็นเหตุให้เกิดการระบาดระลอกใหม่จนกลายเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน
นอกจากนี้ แม้การผ่อนคลายมาตรการอาจก่อให้เกิดการระบาดเพิ่มขึ้น แต่ในเบื้องต้นก็สามารถอาศัยกฎหมายปกติอย่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ในการแก้ปัญหาได้ และที่ผ่านมา แม้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่การแก้ปัญหาในระดับจังหวัดส่วนใหญ่ก็อาศัยกลไกและอำนาจภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยเฉพาะในตอนนี้ที่ 50 จังหวัด ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากว่า 1 เดือน
และการติดเชื้อเพิ่มส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเงื่อนไข หรือสภาพแวดล้อมเฉพาะ ก็ควรใช้กลไกและมาตรการที่ตอบสนองต่อความจำเพาะของแต่ละพื้นที่และผู้คนภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ มากกว่าจะใช้กลไกและมาตรการที่รวมศูนย์และไม่จำแนกแยกแยะภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ประการสำคัญ การอ้างว่าปัญหาการระบาดเกี่ยวข้องกับกฎหมาย 40 ฉบับ หากไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวบให้มาอยู่ภายใต้อำนาจนายกรัฐมนตรี ก็จะไม่สามารถแก้ได้ นอกจากจะเป็นการอ้างปัญหาระบบราชการไทยอย่างมักง่าย ยังสะท้อนให้เห็นถึงการไม่สามารถประสานความร่วมมือระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุข พาณิชย์ มหาดไทย หรือต่างประเทศ
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การชี้ให้เห็นว่า พลเอก ประยุทธ์ ไม่สามารถธำรงความเป็นผู้นำเหนือพรรคร่วมรัฐบาลในฐานะนายกรัฐมนตรี ในการแก้ปัญหาการระบาดได้ จึงต้องอาศัย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อ "รัฐประหาร" แล้วตั้ง ศบค. ที่ตนเองเป็นผู้อำนวยการและมีฝ่ายความมั่นคง เช่น สมช. เป็นกลไกหลัก แทนรัฐบาลที่ถูกริบอำนาจและบทบาทหน้าที่ไปอย่างสิ้นเชิง
ไวรัสเป็นโรคที่มาแล้วก็จากไป แต่ได้สร้างเงื่อนไขให้สังคมและการเมืองไทยต้องจมปลักอยู่กับรัฐประหารต่อไปไม่สิ้นสุด”
ทั้งสองโพสต์ ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คนไทย มีทั้งคนที่พูดจริงทำจริง และคนฉลาดที่ไม่ทำอะไร นอกจากรับใช้ความคิดความเชื่อของตัวเองในขณะนั้น รวมทั้งแกล้งโง่ ไม่ฟังคนอื่น หรือไม่ฟัง ไม่คิดในแง่อื่นที่เปิดกว้างกว่าที่ตัวเองรับรู้ เพราะจ้องเล่นการเมือง
ประเด็นที่จะต้องชัดเจนเป็นอันดับแรก ก็คือ ประเทศไทยและโลก กำลังมีการระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19 อยู่จริงใช่หรือไม่ รุนแรงจริงใช่หรือไม่ ยังไม่มียารักษาให้หายในเร็ววัน (ต้องเสี่ยงชีวิต) ใช่หรือไม่ ยังไม่มีวัคซีใช่หรือไม่
ประเทศทั่วโลกกลัวกันอยู่จริงใช่หรือไม่ ประเทศทั่วโลกยังงดจัดแข่งขันกีฬาโปรดของหลายคนใช่หรือไม่ ห้ามคนชุมนุมกันใช่หรือไม่ ประเทศทั่วโลกใช้มาตรการรักษาระยะห่างกันจริงใช่หรือไม่ ประเทศทั่วโลกใส่หน้ากากอนามัยป้องกันโรคจริงใช่หรือไม่ ที่สำคัญเหนืออื่นใด ประเทศทั่วโลกมีคนป่วย คนตาย จำนวนมากใช่หรือไม่ และยังป่วย ยังตายทุกวันใช่หรือไม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีตัวอย่างให้เห็นถึงการระบาด “รอบสอง” เกิดขึ้นจริง หลังจากผ่อนคลายล็อกดาวน์ในหลายประเทศใช่หรือไม่
ที่กล่าวมาถ้าใช่ ถ้าเป็นความจริง พวกเอาแต่ต่อต้าน ไปมุดหัวอยู่ที่ไหน อ่านข่าว ติดตามสถานการณ์อย่างรอบรู้หรือไม่ จึงไม่มีความคิดอ่านที่ดี และเข้าใจ อย่างที่ยายสี ยายสา ป้ามี ลุงดำ คุยให้เพื่อนฟังเป็นฉากๆ แล้วพวกเขาก็ดูแลตัวเอง และสังคมชุมชน มีการบอกต่อปากต่อปาก คนเหล่านี้บางคนไม่จบชั้น ป.4 ด้วยซ้ำ
โพสต์ของ นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา พูดถึงสถานการณ์จริง เรื่องจริงทางกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมาย ที่ไม่ต้องกระแหนะกระแหน เหมือน นายอนุสรณ์ อุณโณ ว่า ถ้าลำพังใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคแก้ปัญหา เอาไม่อยู่ แสดงว่า ล้มเหลวในการเป็นผู้นำ
เป็นเรื่องที่ชี้ให้เห็นว่า การระบาดรอบสองใครก็ไม่อาจคาดคิด ไม่ระบาดก็เป็นเรื่องดี และหลายคนเฝ้าภาวนาให้เป็นเช่นนั้น แต่ถ้าเกิดขึ้น เพราะอย่าลืมว่า เราต้องผ่อนคลายอีกหลายเฟส 3-4-5 ก็ว่ากันไป... ความไม่ประมาทเท่านั้น ที่จะไม่เป็นสาเหตุของความตาย เชื่อว่า ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน และถ้าเชื่อมั่นว่า ไม่ระบาดรอบสองแน่ ก็คงยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เรื่องเหล่านี้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจ
และการที่ นายอนุสรณ์ อุณโณ บอกว่า ใช้ข้ออ้างอนาคต กรณีจะเกิดรอบสอง ก็ผิด เพราะอย่าลืม เรื่องนี้มีบทเรียนในช่วงที่ระบาดหนัก เกือบจะแก้ปัญหาไม่ทัน ถ้าไม่มีการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะฉะนั้น การไม่ประมาทเรื่องอนาคต จึงไม่เกินกว่าที่จะวิเคราะห์ได้
อีกอย่างหากไม่เตรียมการอะไรเลย ทั้งที่รู้ว่า มีความเสี่ยงแน่ๆ อยู่แล้ว พอเกิดเหตุใหญ่โตขึ้นมา ก็พวกเดียวกันนี้แหละจะโจมตีว่า ไม่เตรียมความพร้อม แก้ปัญหาไม่เป็น แก้ไม่ได้
สิ่งเหล่านี้เชื่อว่า รัฐบาลมีผู้เชี่ยวชาญปรึกษาหารือ ไม่ใช่สักแต่ออกความเห็นแล้วก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เหมือนคนบางกลุ่ม
ด้วยเหตุนี้ บทสรุปของ นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา จึงนับว่าน่าคิด กรณีถ้ายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามคำเรียกร้อง แล้วเกิดระบาดหนักรอบสอง คนตายเป็นเบือ เพราะแพทย์ พยาบาล เครื่องมือแพทย์ไม่เพียงพอ ฯลฯ
“ผู้ที่ออกมาต่อต้านการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และผู้ที่คอยจ้องล้มรัฐบาลชุดนี้ ก็จะประสานเสียงออกมาขับไล่รัฐบาลชุดนี้ โดยอ้างเหตุว่า แก้ไขป้องกันการระบาดของโควิด-19 ล้มเหลว
ส่วนประชาชนคนไทยจะป่วยเจ็บและเสียชีวิตมากมาย แค่ไหน แม้อาจมีญาติพี่น้องของตนเองรวมอยู่ด้วย บุคคลเหล่านี้ก็คงไม่สนใจ เพราะต้องการเพียงให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากผู้นำของประเทศไทยเท่านั้น”
จริงหรือไม่ ก็ลองพิจารณากันดูเอาเอง