นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม.เขตบึงกุ่ม-คันนายาว พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงปัญหาการทดลองจัดการเรียนการสอนระบบทางไกลและออนไลน์ ของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ความจริงแล้วการเรียนออนไลน์และเรียนทางไกล ถือเป็นแนวทางที่ดีในการวางแผนการเรียนการสอนเพื่อให้สอดรับกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเด็กนักเรียนก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่การจะจัดการเรียนในรูปแบบออนไลน์ หรือ เรียนทางไกลผ่านโทรทัศน์ดาวเทียมนั้น กระทรวงศึกษาฯต้องทำการสำรวจความพร้อมของเด็กในแต่ละพื้นที่ก่อน เพราะข้อจำกัดของเด็กแต่ละครอบครัวแตกต่างกัน โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการเรียน ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์สมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต และโทรทัศน์ เห็นได้จากภาพที่ปรากฏพ่อแม่ ผู้ปกครองบางคนต้องกู้หนี้ยืมสิน ไปซื้อเพื่อให้ลูกได้เรียนหนังสือ แม้กระทรวงศึกษาฯจะออกมาบอกว่าไม่จำเป็น แต่ในฐานะคนเป็นพ่อเป็นแม่ ก็ต้องอยากให้ลูกได้เรียนทัดเทียมคนอื่น เพราะทราบดีว่า การศึกษา คือ จุดเริ่มต้นในการหลุดพ้นจากความยากจนที่พวกเขาประสบอยู่ นอกจากนี้ผู้ปกครองเองก็ไม่มีเวลา และไม่มีทักษะด้านไอทีในการช่วยเหลือบุตรหลานในการเรียนออนไลน์ ในขณะที่เด็กบางส่วนก็ไม่มีทักษะด้านไอทีเช่นกัน
นายพลภูมิ กล่าวด้วยว่า การเรียนออนไลน์ ไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคนโดยเฉพาะเด็กอนุบาลจนถึง ป.3 เพราะเด็กในวัยนี้สมาธิสั้น ต้องมีผู้ปกครองคอยกำกับดูแล ซึ่งเป็นการไปเพิ่มภาระให้ผู้ปกครอง ดังนั้น ตนจึงขอเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ แบ่งรูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และระดับการศึกษาของเด็ก โดยหากพื้นที่ หรือ จังหวัดไหนควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ในระดับที่ค่อนข้างนิ่งแล้ว ก็ควรให้โรงเรียนกลับไปจัดการเรียนตามปกติ โดยจัดสถานที่และวางมาตรการให้เข้มงวด
ส่วนพื้นที่เสี่ยงหรือโรงเรียนในเมืองที่ผู้ปกครองมีความพร้อมก็จัดให้มีการเรียนออนไลน์ โดยกระทรวงศึกษาธิการต้องสนับสนุนอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนแก่เด็กนักเรียน รวมทั้งให้เรียนเฉพาะเด็กในระดับมัธยม ที่เป็นเด็กโตแล้ว น่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่าใช้รูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ
นอกจากนี้ นายพลภูมิ ยังเรียกร้องให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยปรับลดค่าเทอมและค่าบำรุงการศึกษาต่างๆ เพิ่มเติมจากที่เคยดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากนักศึกษาและผู้ปกครองต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนัก แม้การปรับลดจะเป็นอำนาจการพิจารณาของสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง แต่ กระทรวง ก็ควรเข้าไปให้การช่วยเหลือสนับสนุนเรื่องงบประมาณด้วยส่วนหนึ่งไม่ใช่ปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของมหาวิทยาลัยทั้งหมด