โฆษกวิปรัฐบาลเผยผลหารือเบื้องต้น ใช้เวลา 3 วัน ระหว่าง 27-29 พ.ค. อภิปราย พ.ร.ก.การเงินแก้ผลกระทบเชื้อโควิด-19 ทั้ง 3 ฉบับพร้อมกัน นัด 25 พ.ค.ถกแบ่งเวลาฝ่ายค้าน-รัฐบาล “จุลพันธ์” โวยลั่น ต้องแยกอภิปรายเป็นรายฉบับ มัดรวมเป็นก้อนไม่ได้ อ้างวงเงินกู้เยอะสุดเป็นประวัติศาสตร์ ต้องให้เวลาฝ่ายค้านเต็มที่ รวม พ.ร.บ.โอนงบฯ ควรใช้เวลา 10 วัน
วันนี้ (16 พ.ค.) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการประสานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล กล่าวถึงการกำหนดการประชุมเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.3 ฉบับเกี่ยวกับการใช้เงินแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศเนื่องจากการระบาดของเชื่อโควิด-19 ว่า ได้มีการหารือเบื้องต้นแล้ว จะมีการนัดประชุมเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ จำนวน 3 วัน ระหว่างวันที่ 27-29 พฤษภาคมนี้ ซึ่งจากการประเมินคิดว่า จะมีผู้อภิปรายเป็นจำนวนมาก จึงจะมีการนำ พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับมารวมอภิปรายไปพร้อมกันในคราวเดียว เพื่อความรวดเร็วและกระชับ เพราะถือว่าเป็นเรื่องเดียวกัน สำหรับแนวทางการประชุมตลอดทั้ง 3 วันนั้น เบื้องต้นคาดว่า จะมีการเริ่มประชุมตั้งแต่เช้าทุกวัน ขณะที่เรื่องการแบ่งเวลาการอภิปรายนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะต้องนำเข้าหารือในที่ประชุมวิปรัฐบาลในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ เพื่อนำข้อสรุปทั้งหมดของวิปรัฐบาลนำเสนอนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมวิปสภาผู้แทนราษฎรที่มีตัวแทนของวิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน หาข้อสรุปอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับ พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวน 1 ล้านล้านบาท พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) เพื่อดูแลภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SME วงเงิน 5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ (ให้อำนาจ ธปท.เข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดีที่ครบกำหนดชำระ วงเงิน 4 แสนล้านบาท)
นายอัครเดชกล่าวถึงข้อเรียกร้องให้มีการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินว่า แม้ตนจะยังเห็นด้วยกับการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้เพื่อควบคุมสถานการณ์ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่อยากให้มีการพิจารณายกเลิกเคอร์ฟิวหรือคำสั่งห้ามออกนอกเคหะสถาน แม้วันนี้จะลดเวลาลงไป 1 ชั่วโมง เป็นจาก 23.00-04.00 น. แล้วแต่เราจำเป็นต้องรีสตาร์ทการกอบกู้เศรษฐกิจ สร้างบรรยากาศการใช้ชีวิตของประชาชนให้กับมาเป็นปกติอีกครั้งหนึ่ง เพราะบางธุรกิจจำเป็นต้องทำงานกลางคืนแต่ผลจากมาตรการล็อกดาวน์ได้ทำให้ตอนนี้เกิดเป็นปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน ถือเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก ซึ่งขณะนี้เราสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ของไวรัสโควิด-19 ได้ดีพอสมควรแล้ว การยังคงเคอร์ฟิวไว้ทำให้ไม่สามารถการขับเคลื่อนฟื้นฟูทางเศรษฐกิจทำได้เต็มที่ จึงคิดว่าวันนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะมีการพิจารณายกเลิก เพราะหากช้ากว่านี้อาจส่งผลกระทบกับประชาชนมากขึ้นไปอีก สถานการณ์จากนี้คงไว้เพียงแต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการควบคุมก็น่าจะเพียงพอแล้ว
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมพรรคฝ่ายค้าน กล่าวว่า ตนคิดว่าระยะเวลา 3 วันที่ต้องพิจารณา พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ รวมไปถึง พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์อีก 1 ฉบับด้วยนั้นคงไม่เพียงพอ และที่สำคัญการพิจารณา พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ จำเป็นต้องแยกพิจารณารายฉบับ เพราะเนื้อหาแต่ละฉบับมีความเป็นเอกเทศ และมีความสำคัญในตัวเอง จะตีขลุมรวมเป็นก้อนเดียวเพื่อพิจารณาไม่ได้ ที่สำคัญที่สุดวงเงินกู้คราวนี้ถือว่าเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์ จึงอยากให้รัฐบาลเปิดใจกว้างเพราะเมื่อการพิจารณา พ.ร.ก.ไม่สามารถตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาพิจารณาได้ ก็ให้ควรโอกาสฝ่ายค้านได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพราะถือเงินจำนวนมาก ประชาชนต้องการเห็นรายละเอียดว่ารัฐบาลจะเอาเงินไปใช้จ่ายทำอะไรบ้าง ซึ่งตนมองว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการแก้ไขโควิด-19 ที่กำลังจะเข้าสภานั้น ทั้ง พ.ร.ก.3 ฉบับ รวมไปถึงร่าง พ.ร.บ.โอนเงินประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 นั้น ต้องให้เวลาสภาฯ พิจารณารวมกัน 10 วัน แม้จะบอกว่า พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้ไปแล้ว สภาฯ มีหน้าที่อนุมัติเท่านั้น แต่ตนเห็นว่ายิ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วก็ควรให้เวลากับสภาฯ ให้มาก และหากมีการใช้โอกาสนี้เสนอให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ แบบสามวาระรวดในวันเดียวจริง ฝ่ายค้านก็จำเป็นต้องคัดค้าน