xs
xsm
sm
md
lg

ชง “บิ๊กวิน” งัดแผนรับมือ ศก.กทม.หดตัวจากโควิด-19 เสนอบิ๊กโปรเจกต์เกิน 500 ล้าน ให้เอกชนร่วมลงทุน เน้นส่งเสริม ศก.เมืองเป็นพิเศษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักคลัง กทม.ชง “บิ๊กวิน” พิจารณาแผนรับมือเศรษฐกิจ กทม.หดตัวจากสถานการณ์โควิด-19 พ่วงภาษีที่ดินฉบับใหม่ ก่อนปรับงบปี 64 วงเงิน 8.5 หมื่นล้านบาท เหตุคาดการณ์จัดเก็บรายได้ ปี 63 หด 1.5 หมื่นล้านบาท หวั่นกระทบจัดทำงบปี 64-65 เสนอบิ๊กโปรเจกต์เกิน 500 ล้านของทุกหน่วยงานในสังกัด ต้องนำเสนอบอร์ดชุดพิเศษพิจารณา ก่อนชงเข้าโครงการรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือพีพีพี เน้นเฉพาะโครงการด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจเมืองเป็นพิเศษ

วันนี้ (13 พ.ค.) มีรายงานจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักการคลัง กทม.ได้รายงานผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีผลต่อสถานการณ์รายได้และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2564 เพื่อเสนอ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการ

ตามรายงานระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไทยมีแนวโน้มชะลอตัวตามไปด้วย ประกอบกับประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในการจัดเก็บภาษีจากพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 เป็นพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในขณะนี้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสถานการณ์รายได้ และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของ กทม.อย่างมาก

ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 กทม.มีการประมาณการรายได้ และนำมาตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 จำนวน 83,000 ล้านบาท โดยในการประมาณการรายได้ของ กทม. แบ่งเป็นเงินรายได้ที่จัดเก็บเองประมาณ 20,500 ล้านบาท และเป็นรายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ประมาณ 62,500 ล้านบาท

“สถานการณ์ปัจจุบัน สำนักการคลังคาดการณ์ว่า รายได้ของ กทม.ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จะจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 15,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.07 โดยแบ่งเป็น รายได้ที่จัดเก็บเอง เนื่องจากปัจจุบันได้มีการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับที่จะทำให้ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามที่ประมาณการไว้ เช่น การเลื่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะออกไปเป็น 1 ต.ค. 2563 และการปรับปรุงรายละเอียดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและการเลื่อนเป็นเดือน ส.ค. 2563 ซึ่งมีผลทำให้รายได้ที่ กทม.จัดเก็บเองไม่สามารถจัดเก็บได้ตามที่ประมาณการไว้"

ส่วนรายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกรายได้ที่ส่วนราชการอื่น จัดเก็บให้ยังคงอยู่ในจำนวนเงินที่ได้ประมาณการไว้ เนื่องจากรายได้ดังกล่าวเป็นรายได้ที่มาจากการจัดเก็บภาษีในช่วงปลายปีงบ 2562 แต่รายได้ที่กทม.จะได้รับหลังจากนั้น จะต้องมีการติดตามจากส่วนราชการต่างๆ ว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและสถานการณ์โควิด-19 หรือไม่

ส่วนรายงานการวิเคราะห์ผลการจัดเก็บรายไดัของ กทม.ปี 2562 และคาดการณ์รายไดัปีงบ 2563 สำนักงบประมาณ กทม.แจ้งว่า ได้อนุมัติเงินประจำงวดทุกหมวดรายจ่าย ในปีงบ 2563 ไปแล้วประมาณ 60,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 72 ของงบประมาณทั้งหมด

ขณะที่ การเตรียมจัดทำงบประมาณ ปี 2564 จำนวน 85,000 ล้านบาท โดยได้แบ่งสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณให้กับงบยุทธศาสตร์ จำนวนร้อยละ 15 คิดเป็นเงินจำนวน 12,000 ล้านบาท และจากสถานการณ์ปัจจุบันได้มีการปรับลดประมาณการรายรับปีงบ 2564 จาก 85,000 ล้านบาท เป็น 76,000 ล้านบาท และหากยังคงสัดส่วนงบยุทธศาลตร์ในจำนวนร้อยละ 15 เท่าเดิม ก็จะคิดเป็นวงเงินงบยุทธศาสตร์ จำนวน 11,400 ล้านบาท ซึ่งจากจำนวนเงินยุทธศาสตร์ที่ลดลง จึงต้องจัดสรรงบปี 2564 ให้กับโครงการยุทธศาสตร์ที่หน่วยงานเสนอของบประมาณโดยให้ความสำคัญกับโครงการด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจเมืองเป็นพิเศษ

“ส่วนงบปี 2565 คาดว่าในปี 2564 กทม.จะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงประมาณการรายรับ ที่จะนำมาตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายปี 2565 จำนวน 78,000 ล้านบาท และหากยังคงสัดส่วนงบยุทธศาสตร์ในจำนวนร้อยละ 15 เท่าเดิม จะคิดเป็นวงเงินงบยุทธศาสตร์ จำนวน 11,700 ล้านบาท”

ทั้งนี้ ในอนาคตหากขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพียงอย่างเดียวจะไม่เพียงพอต่อการผลักดันเป้าหมาย ได้เสนอให้มีการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการของ กทม.โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ประกอบกับ กทม.ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการให้เอกขนร่วมลงทุนในกิจการของ กทม. ตามคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 2928/2560

โดยเห็นควรกำหนดให้ทุกหน่วยงานของ กทม.ที่นำเสนอโครงการที่ต้องใซ้งบประมาณตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป ต้องนำเสนอโครงการให้คณะกรรมการฯ พิจารณาก่อนว่าโครงการดังกล่าว สมควรดำเนินการโดยใช้เงินงบประมาณของ กทม. หรือควรนำไปดำเนินการในรุปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : ppp)

ทั้งนี้ ยังเสนอให้สำนักการคลัง กทม.เป็นหน่วยงานนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนมาตรการฯ ต่อคณะกรรมการพิจารณาการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของ กทม. เพื่อกำหนดกรอบทิศทางการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม และให้บังเกิดผลภายในการบริหารงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2565


กำลังโหลดความคิดเห็น