รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 63 สานต่อจากปี 62 คุ้มครอง 7 ภัยธรรมชาติและภัยศัตรูพืช-โรคระบาด อนุมัติขยายโควตานำเข้ามันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป แก้ปัญหาขาดวัตถุดิบ ยันไม่กระทบเกษตรกร
วันนี้ (12 พ.ค.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2563 วงเงินงบประมาณ 313.98 ล้านบาท โดยใช้เงินงบประมาณคงเหลือในส่วนที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เบิกจ่ายจากสำนักงบประมาณ เพื่อดำเนินในโครงการฯ ปีการผลิต 2562 จำนวน 48.21 ล้านบาท และเสนอของบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 265.77 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส.ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันแทนรัฐบาล จำนวน 265.77 ล้านบาท และให้ ธ.ก.ส.เบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริง พร้อมด้วยอัตราต้นทุนเงิน ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ธ.ก.ส.บวกร้อยละ 1 ในปีงบประมาณถัดไปตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติผ่านระบบการประกันภัย และเป็นการต่อยอดความช่วยเหลือของภาครัฐในการรองรับต้นทุนการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกรเมื่อประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ ซึ่งโครงการนี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการฯ ปีการผลิต 2562 มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
1. พื้นที่เป้าหมายรับประกันภัยโครงการฯ ปีการผลิต 2563 รวม 3 ล้านไร่ ปรับลดลง 3 แสนไร่ และกำหนดให้ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทุกพื้นที่ โดยกำหนดนิยามผู้เอาประกันภัย คือ เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในปีการผลิต 2563/2564 จากเดิมที่กำหนดให้ ปีการผลิต 2562/63 รับประกันภัยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกที่มีเอกสารสิทธิ
2. ค่าเบี้ยประกันภัย รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์
1) ค่าเบี้ยประกันภัย Tier 1 (รวม 2.9 ล้านไร่) ค่าเบี้ยประกันภัย 172.27 บาทต่อไร่ เท่ากันทุกพื้นที่ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 ลูกค้า ธ.ก.ส.ทุกรายที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม่เกิน 2.8 ล้านไร่ (ประกันภัยกลุ่ม) และกลุ่ม 2 ลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเกษตรกรทั่วไป ไม่เกิน 1 แสนไร่ (ประกันภัยรายบุคคล)
โดยรัฐจะเป็นผู้จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้ทั้ง 2 กลุ่ม จำนวน 108.27 บาทต่อไร่ ส่วนที่เหลืออีก 64 บาทต่อไร่ ในกลุ่ม 1 ธ.ก.ส.เป็นผู้จ่ายให้ ส่วนกลุ่ม 2 เกษตรกรต้องจ่ายเอง
2) ค่าเบี้ยประกันภัย Tier 2 เกษตรกรจ่ายเองตามระดับความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ (รวม 1 แสนไร่) ปรับลดจำนวนพื้นที่จากเดิมที่กำหนดไว้ 3 แสนไร่ เบี้ยประกันภัยในแต่ละพื้นที่ คือ พื้นที่เสี่ยงภัยต่ำ 97.37 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง 108.07 บาทต่อไร่ และพื้นที่เสี่ยงภัยสูง 118.77 บาทต่อไร่
ส่วนวงเงินความคุ้มครอง ครอบคลุม 1) ภัยพิบัติธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยช้างป่า วงเงินคุ้มครองในพื้นที่ Tier1 จำนวน 1,500 บาทต่อไร่ พื้นที่ Tier2 จำนวน 240 บาทต่อไร่ แต่รวมแล้วไม่เกิน 1,740 บาทต่อไร่ 2) ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด วงเงินคุ้มครองในพื้นที่ Tier1 จำนวน 750 บาทต่อไร่ พื้นที่ Tier2 จำนวน 120 บาทต่อไร่ แต่รวมแล้วไม่เกิน 870 บาทต่อไร่
ระยะเวลาการขายประกันภัย แบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบที่ 1 สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝน นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการฯ - วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 และรอบที่ 2 สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 - 15 มกราคม 2564 โดยลูกค้า ธ.ก.ส.เริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ส่วนลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ไม่ได้รับสินเชื่อและเกษตรกรทั่วไป คุ้มครองตั้งแต่วันที่ขอเอาประกันภัย
น.ส.รัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่า และบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้กำชับให้กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของระบบประกันภัยพืชผลทางการเกษตร และมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบค่าเบี้ยประกันภัยมากขึ้นเพื่อสร้างวินัยในการเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งเพื่อช่วยลดภาระงบประมาณที่ใช้ในการอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยลง ถือเป็นหลักการที่สำคัญประการหนึ่งในการดำเนินโครงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรเช่นเดียวกับโครงการประกันภัยข้าวนาปี
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเปิดเผยว่า สืบเนื่องจากประเทศไทยมีความต้องการใช้มันฝั่งสดเพื่อแปรรูปปีละ 150,000-200,000 ตัน ซึ่งมากกว่าผลผลิตที่ผลิตได้ในประเทศ เฉลี่ยปีละ 100,000-120,000 ตัน หรือร้อยละ 60 ของปริมาณความต้องการใช้ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2562) มีอัตราความต้องการใช้มั่นฝรั่งโรงงานภายในประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.32 ต่อปี แต่ผลผลิตมันฝรั่งที่ผลิตได้ในประเทศเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.45 ต่อปี สาเหตุมาจากข้อจำกัดทางด้านพื้นที่เพาะปลูกและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น อุณหภูมิสูง ประมาณน้ำไม่เพียงพอ และเกษตรกรประสบภัยแล้ง เป็นต้น
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจึงได้เห็นชอบการขยายปริมาณในโควตาการนำเข้าสินค้าหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ภายใต้ความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ปี 2563 เพิ่มเติม จำนวน 6,400 ตัน ตามที่คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์เสนอ จากเดิมที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติ (27 มีนาคม 2561) กำหนดให้เปิดตลาดนำเข้ามันฝรั่งสดเพื่อการแปรรูปในช่วงปี 2561-2563 มีปริมาณในโควตาปีละ 52,000 ตัน อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 27 และอัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 125
ทั้งนี้ การบริหารการนำเข้าต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของคณะอนุกรรมการจัดการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง คือ ให้มีการทำสัญญารับซื้อผลผลิตระหว่างผู้ประกอบการนำเข้ากับเกษตรกร โดยกำหนดราคารับซื้อมันฝรั่งสดไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 14 บาท ในช่วงฤดูฝน (เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม) และราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 10.40 บาท ในช่วงฤดูแล้ง (เดือนมกราคม-มิถุนายน)
น.ส.รัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า การขยายปริมาณโควตาการนำเข้าดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งภายในประเทศ เนื่องจากการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าในช่วงการปลูกมันฝรั่งนอกฤดู (เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม) ซึ่งผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรม และมีการทำสัญญารับซื้อผลผลิตในราคาขั้นต่ำตามที่คณะอนุกรรมการจัดการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง กำหนด และนายกรัฐมนตรีได้กำชับในเรื่องการกำหนดปริมาณโควต้านำเข้าในระดับที่เหมาะสมในรอบปีต่อไป ส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่งในพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศเหมาะสม