ปลัด มท.สั่ง 77 จังหวัด ห้ามใช้ “ท่อระบายน้ำขนาดใหญ่-คันดินปิดเส้นทางคมนาคมสัญจร” เชื่อมต่อระหว่างจังหวัด เหตุชาวบ้านร้องเรียนหลายจังหวัดได้รับความเดือดร้อนทำการเกษตร-ไปโรงพยาบาล-ซื้อหาอาหาร พร้อมให้มีจุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ทดแทนในพื้นที่ที่มีคำสั่งปิดเส้นทางเข้า สอดรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
วันนี้ (7 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้า นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย โทรสารด่วนที่สุดจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ
มีเนื้อหาระบุว่า ด้วยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย ได้รับแจ้งและมีการร้องเรียนว่า ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการเดินทางสัญจรและการประกอบอาชีพจากการที่จังหวัดออกคำสั่งปิดเส้นทางเข้าออกในพื้นที่ของจังหวัด ใช้วัสดุขนาดใหญ่ปิดกั้นเส้นทางคมนาคมสัญจรเชื่อมต่อระหว่างจังหวัตและเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อมวลชนว่า
ส่วนราชการไม่มีการบูรณาการการปฏิบัติและอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ หรืออาจจะเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย จึงให้จังหวัดถือปฏิบัติและดำเนินการเป็นมาตรฐานเดียวกัน ดังนี้
1. ห้ามใช้วัสดุหรือเครื่องกีดขวางขนาดใหญ่ อาทิ ท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ และการทำคันดินเพื่อปิดเส้นทางคมนาคมสัญจรเชื่อมต่อระหว่างจังหวัด 2. ให้จัดให้มีจุดตรวจคัดกรองในบริเวณพื้นที่ที่มีคำสั่งปิดเส้นทางเข้าออกของจังหวัด ให้ดำเนินการให้สอดรับกับข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ข้อ 5 และแนวทางตามโทรสารในราชการกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0230/ว 2564 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 โดยอาจพิจารณามอบหมายให้ข้าราชการของอำเภอ ข้าราชการหรือพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดตรวจคัดกรองดังกล่าว
ทั้งนี้ พบว่า มีหลายจังหวัดได้ออกคำสั่งปิดเส้นทางเข้าออกในพื้นที่ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัด บางพื้นที่มีการปิดตายเส้นทางสายรองดังกล่าวทั้งหมด ไม่ให้คนไปมาหาสู่กัน เพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ให้คนนอกนำเชื้อเข้ามาในพื้นที่ มีภาพการนำท่อระบายน้ำไปวางขวางถนนเชื่อมรอยต่อระหว่างตำบล จนกระทั่งจักรยานยนต์และรถยนต์ไม่สามารถสัญจรไปมาได้
มีการใช้ท่อระบายน้ำปิดตายเส้นทางสายรองซึ่งเชื่อมการเดินทางระหว่างกันในพื้นที่รอยต่อ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านที่ไปทำการเกษตร ไปโรงพยาบาล หรือไปตลาดซื้ออาหาร ต่างได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก บางแห่งถึงกับต้องยังต้องยกรถเข็นข้ามผ่านด่านท่อระบายน้ำ เป็นต้น โดยบางจังหวัดมัการร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อเปิดช่องทางดังกล่าว