นายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง ผบ.ทสส.ทำหน้าที่กรรมการและหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) หลังประกาศใช้พระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
วันนี้ (26 มี.ค.) ที่กองบัญชากการกองทัพไทย (บก.ทท.) พ.อ.หญิง ฉัตรรพี พูนศรี โฆษกบก.ทท. เปิดเผยว่า ตามคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 แล้วนั้น เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคสามและวรรคห้า แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และโดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2563 กำหนดให้มีหน่วยงานพิเศษเป็นการเฉพาะเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นายกรัฐมนตรีและ รมว.ทรวงกลาโหม จึงมีคำสั่งให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) เรียกโดยย่อว่า "ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19" เป็นหน่วยงานพิเศษ โดยมี นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นผู้อำนวยการศูนย์ และมี พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เป็นกรรมการและหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ซึ่งการดำเนินมาตรการใด ๆ นั้น จะเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล
สำหรับการตั้งด่านตรวจตามจุดต่าง ๆ ในขณะนี้นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระเบียบด้านการเดินทาง การจราจร ดูแลและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทางข้ามจังหวัด เพื่อลดอัตราการแพร่ระบาดเชื้อไปยังพื้นที่ต่าง ๆ โดยจะมีการตรวจคัดกรองบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและจำกัดให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ตลอดจนมีมาตรการในการเฝ้าระวังหรือสังเกตอาการผู้เดินทางและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ รวมทั้งยังเป็นการป้องกันการแทรกแซงจากภัยคุกคามหรืออาชญากรรมรูปแบบอื่น ๆ ที่อาจแฝงตัวเข้ามาในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน
ดังนั้น ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) จะดำเนินมาตรการเท่าที่มีความจำเป็นเท่านั้น เพื่อให้กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนให้น้อยที่สุด และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะปฏิบัติหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มขีดความสามารถเพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่พี่น้องประชาชนชาวไทย และร่วมก้าวข้ามผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน