“ส.ว.คำนูณ” ขอทราบชื่อพร้อมคุณสมบัติ 3 ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับกองทุน BSF เพื่อเป็นหลักประกันธรรมาภิบาลในการดูแลเงิน 4 แสนล้านบาท
วันนี้ (29 เม.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก และกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา โพสต์ข้อความในแฟนเพจ คำนูณ สิทธิสมาน ในหัวข้อ ขอทราบรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับกองทุน BSF
ว่า เห็นข่าวแบงก์ชาติแถลงเกณฑ์การที่บริษัทเอกชนที่ออกหุ้นกู้จะเข้าร่วมกองทุน BSF (กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้) วงเงิน 4 แสนล้านบาท ตามพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2563 และอีกข่าวหนึ่งที่ระบุว่า มีการคัดเลือก บลจ.กรุงไทย (KTAM) เป็นผู้ดำเนินการจัดการกองทุนแล้ว ก็แสดงว่า ขณะนี้มีคณะกรรมการกำกับกองทุน หรือภาษาแบงก์ชาติเรียกย่อว่า SC ตามมาตรา 9 ของพระราชกำหนดฉบับนี้ขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว และน่าจะได้มีการประชุมกันจนมีมติสำคัญเรียบร้อยไปแล้ว เพราะเกณฑ์ต่างๆ ที่แถลงออกมา รวมทั้งการคัดเลือกบริษัทหลักทรัพย์เพื่อมาดำเนินงานจัดการกองทุน เป็นหน้าที่และอำนาจของ SC ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 10(1) และ 10(2)
ไม่ทราบว่า ผมตกข่าวหรือเปล่า เพราะไม่เคยทราบข่าวแถลงการตั้งกรรมการกำกับฯ หรือ SC จากกระทรวงการคลัง หรือแบงก์ชาติมาก่อน ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นข่าวแรกๆ เกี่ยวกับกองทุน BSF ที่สาธารณะควรรับรู้ เพราะนอกจากข้าราชการประจำ ทั้งจากกระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติ คือ ปลัดกระทรวงการคลัง, ผู้ว่าการแบงก์ชาติ, ผอ.สบน. และ ผอ.สศค. ที่อยู่ใน SC ตามตำแหน่งแล้ว มาตรา 9 ยังกำหนดให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่รัฐมนตรีคลังแต่งตั้งตามคำแนะนำของผู้ว่าการแบงก์ชาติ อีก 3 คน จากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านตลาดทุน ด้านตลาดตราสารหนี้ หรือด้านกฎหมาย
ขอให้กระทรวงการคลัง หรือแบงก์ชาติ แถลงถึงรายชื่อ SC ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 3 ท่าน รวมถึงคุณสมบัติที่จะเป็นหลักประกันในธรรมาภิบาลอันจะเกิดขึ้นกับการดูแลเงิน 4 แสนล้านบาท
จริงอยู่ แม้พระราชกำหนดฯ จะไม่ได้บัญญัติ ‘คุณสมบัติ’ และ ‘ลักษณะต้องห้าม’ ของผู้ทรงคุณวุฒิที่จะเข้ามาเป็น SC ทั้ง 3 คนนี้ไว้ แต่เชื่อว่า สังคมก็ต้องการทราบหลักคิดของท่านผู้ว่าการแบงก์ชาติ และรัฐมนตรีคลัง ในการคัดคนเข้ามาทำงานในตำแหน่งสำคัญนี้ สังคมจะได้เชื่อมั่น และ SC เองก็จะได้ทำงานอย่างมั่นใจ
“อ้อ ในกรณีของกรรมการลงทุน หรือ IC ตามมาตรา 12 ก็เช่นกัน ถ้าตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่านแล้ว ก็ช่วยบอกกล่าวพวกเรารับรู้หน่อยนะครับ ด้วยเหตุผลเดียวกัน”
อย่างไรก็ตาม ต่อมา นายคำนูณ โพสต์ข้อความเพิ่มเติมว่า “ล่าสุด ทราบข่าวการแต่งตั้งทั้ง SC (คณะกรรมการกำกับกองทุน) และ IC (คณะกรรมการลงทุน) แห่งกองทุน BSF เรียบร้อยแล้วนะครับตามข่าวนี้ (https://www.isranews.org/article/isranews-news/88191-bot_BSF_bond.html) ทั้ง SC และ IC รัฐมนตรีคลัง และ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ลงนามแต่งตั้งตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 และน่าจะมีการประชุม SC ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2563
‘อุตตม’ เซ็นตั้ง ‘รพี-ผ่องเพ็ญ-อายุสม์’ นั่ง คกก.ผู้ทรงคุณวุฒิกำกับกองทุนพยุงหุ้นกู้
ที่ผมตั้งคำถามไปในโพสต์ก่อนหน้านี้ ก็ไม่ต้องตอบแล้วนะครับ มีอะไรไว้ค่อยไปอภิปรายซักถามและตั้งข้อสังเกตกันในสภาปลายเดือนพฤษภาคม 2563 นี้