xs
xsm
sm
md
lg

“อนุทิน” ลั่น สธ.ไม่สนับสนุนไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ชี้ทำลายระบบสุขภาพประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
เผย “อนุทิน” ลั่นกระทรวงสาธารณสุข ไม่สนับสนุนไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ชี้ ทำลายระบบสุขภาพประชาชน ไม่คุ้มแลกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ พร้อมทำหนังสือชี้แจง ครม. 28 เม.ย.นี้

วันนี้ (27 เม.ย.) รายงานข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข และ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เพื่อพิจารณาผลกระทบกรณีประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP

ซึ่งมีการนำเสนอข้อมูล และ พิจารณากันหลายประเด็นที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาในประเทศ และการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่ง จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสมุนไพรในประเทศ

ภายหลังการประชุม นายอนุทิน ได้สั่งการให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ทำหนังสือชี้แจงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากประเทศไทยตัดสินใจเป็นสมาชิกของ CPTPP โดยให้มีการระบุให้ชัดว่า กระทรวงสาธารณสุข ไม่สนับสนุนให้ประเทศไทย เข้าเป็นสมาชิก CPTPP

“ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผมไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และ จะนำเสนอข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเต็มไปด้วยข้อห่วงใย และความกังวลที่จะมีผลกระทบต่อระบบการผลิตยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ซึ่งจะต้องนำมาใช้ดูแลรักษาชีวิต และสุขภาพของคนไทย ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 28 เม.ย.ทราบ แต่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาตัดสินใจอย่างไร แต่ข้อห่วงใย และความกังวลใจ ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งเรื่องผลกระทบต่อการผลิตยา ซึ่งเป็นความมั่นคงด้านสาธารณสุขไทย น่าจะเป็นข้อมูลสำคัญ สำหรับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี” รายงานข่าวอ้างคำพูดนายอนุทิน

รายงานแจ้งด้วยว่า นายอนุทิน กล่าวในที่ประชุมด้วยว่า การจะแลกมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และ การขยายตัวทางการค้า การส่งออก กับ ความมั่นคงของระบบสาธารณสุขไทย เป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่า และไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่า การเข้าร่วมในข้อตกลง CPTPP ประเทศไทย จะได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์.

อีกทั้งขณะนี้มีเพียง 11 ประเทศ เท่านั้นที่เป็นสมาชิก และ ส่วนใหญ่ไม่ใช่เป็นประเทศที่เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของเรา ประกอบกับมิติการค้าระหว่างประเทศ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 และหลังการระบาดจบลง ยังไม่มีข้อมูลว่าเหตุใดจึงต้องรีบเร่งพิจารณาในช่วงนี้

ในที่ประชุม ได้มีการนำเสนอข้อเสนอขององค์การเภสัชกรรม ที่ได้นำเสนอ ซึ่งเป็นประเด็นที่จะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชนได้ยากขึ้น และทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์ 3 ด้าน

ได้แก่ 1. ด้านสิทธิบัตรและยา การใช้สิทธิบัตร CL มีขอบเขตลดลง สุ่มเสี่ยงถูกฟ้องกระทบการเข้ายาของประชาชน, ไทยไม่ได้ประโยชน์ด้านราคายาที่ลดลง, ไทยต้องนำเข้ายา และไม่สามารถพึ่งตนเองด้านยาได้เมื่อเกิดวิกฤติด้านสาธารณสุข

2. ด้านการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เกิดการผูกขาดสายพันธุ์พืชเป็น 20-25 ปี ห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ และการต่อยอดค้นคว้าวิจัย กระทบต่อกลไกลการแบ่งปันผลประโยชน์ ทั้งในเรื่องทรัพยากรจุลชีพและการคุ้มครองพืชท้องถิ่นในประเทศไทย

3. ด้านจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ไทยไม่สามารถกำหนดมูลค่าและจะผ่อนผันได้หรือไม่ เนื่องจากไทยเข้าร่วมภายหลัง หลัง 11 ประเทศ ตกลงกันไปหมดแล้ว อีกทั้งยังกระทบต่อการแข่งขันทางธุรกิจขององค์การเภสัชกรรม ไม่สามารถดำเนินการเชิงสังคมในการรอบรับนโยบายด้านยา เวชภัณฑ์ และ วัคซีน ที่จำเป็นต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ เช่น การเกิดโรคระบาดโควิด-19


กำลังโหลดความคิดเห็น