“ผอ.วพส.”หนุนรัฐบาลโปร่งใส-ไม่ปกปิดยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลังพบผู้หนีเข้าเมืองติดเชื้อเพิ่มทำยอดพุ่งกระฉูด ชม “หมอหนู” สั่งรักษาผู้หลบหนีเข้าเมืองทุกชีวิตตามมาตรฐาน สธ.ไทย หนุนมาตรการเชิงรุก “บุกค้นหาผู้ติดเชื้อ” ช่วยคุมเชื้อโรคร้ายได้ดี ชี้ “โปร่งใส” คือแสงสว่างไล่ปีศาจแห่งความมืดออกไป
จากกรณีสถานการณ์ ไทยพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มผู้อพยพรวดเดียว 42 คน เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่กลับไปอยู่ที่ 53 คน หลังจากตัวเลขผู้ป่วยลดลงอย่างต่อเนื่องมานับสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไทยอาจจะเป็นเหมือนประเทศสิงคโปร์ที่ผู้ป่วยพุ่งสูง หลังจากเกิดการระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อาศัยอย่างแออัดในแคมป์คนงาน
ศ.ดร.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) เปิดเผยบทความเรื่องตามล่าหาโควิด สะกิดแผลเก่า ซึ่งวิเคราะห์การทำงานของเจ้าหน้าที่ระบาดวิทยา พร้อมให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การปิดข้อมูลทางระบาดจะเกิดแต่ผลเสีย ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมา ฝ่ายการเมืองเคยปิดเรื่องไข้หวัดนก ก็พังอยู่ไม่ได้ ซึ่งทางการเมืองหากมีการโกหกเรื่องนี้จะทำให้คนไม่เชื่อถือ การที่ ศบค.ได้ข้อมูลและตัดสินใจเปิดเผยเรื่องนี้ทันทีถือเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งประชาชนจำเป็นต้องรับทราบว่า กำลังมีปัญหา และรัฐจำเป็นต้องหาทางจัดการ เพราะถือเป็นปัญหาเชิงสังคม เป็นเรื่องการช่วยเหลือมนุษย์ และเป็นโรคระบาดที่ต้องทำอย่างเหมาะสม
“ที่ผ่านมาเกิดติดเชื้อโควิดในหน่วยงานราชการจนลามไป 8 คน ต่อมาทีมระบาดสอบสวนต่อก็พบการระบาดในศูนย์กักกัน ต้องชื่นชมที่สาธารณสุข ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ทำให้คนไทยทราบสถานการณ์ที่แท้จริงในเวลาอันรวดเร็ว โดยทราบว่ามีการแจ้งไปยัง ศบค. ไม่กี่ชั่วโมงก็ประกาศให้คนไทยได้ทราบ โดยไม่มีการปิดบัง อย่างไรก็ตาม ผู้อพยพใช้ไทยเป็นประเทศทางผ่าน ไปยังประเทศที่ 3 ซึ่งการจะไปบอกรัฐบาลต้นทางให้รับกลับ หรือ ไม่ให้อพยพออกมา ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ขณะนี้ไทยไม่รับเข้ามาเพิ่มถือว่าถูกต้องแล้ว โดยผู้อพยพในศูนย์กักกันนั้น เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเหมาะสม ไม่ให้การระบาดลามออกไป โดยการที่นายอนุทิน ให้หลักการว่า ต้องรักษาทุกชีวิตตามมาตรฐานสาธารณสุขไทย ถือเป็นเรื่องน่ายกย่อง เพราะเป็นการช่วยเหลือคนตามมนุษยธรรม แต่ต้องมีมาตรการที่เหมาะสมเพราะคนกลุ่มนี้มักจะต้องการหลบหนี ในกรณีโรคระบาดหากหลบหนีจะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา”
ทั้งนี้ บทความวิเคราะห์ดังกล่าวระบุว่า รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ COVID-19 เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน (24 เม.ย.) สิบห้าราย กลายเป็น 53 ราย อย่างไม่คาดคิดมาก่อน ในจำนวนนี้ 42 รายอยู่ในศูนย์กักกันคนต่างชาติที่เข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย เรื่องนี้ทำให้คนไทยรู้สึกไปต่างๆกัน เช่น
• ที่ผ่านมามีการกลบเกลื่อนความจริงหรือเปล่า
• การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจะทำให้โรคกลับมาระบาดอีกไหม
• ไปพบผู้ป่วยพวกนี้ได้อย่างไรกัน
• ต้องค้นหาผู้ป่วยในจุดต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกไหม
• แล้วจะทำอย่างไรกับคนต่างชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายเหล่านี้
ที่ผ่านมาเป็นที่ยืนยันหลายต่อหลายครั้งครับว่าทางการไทยไม่เคยคิดจะปกปิด หรือบิดเบือนข้อมูลเลย เพียงแต่ว่าคุณหมอทั้งหลายต้องรายงานผลการตรวจหาผู้ป่วยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ และผู้ว่าแจ้งขึ้นไปทางนายกและเข้าสู่ ศบค.ผมไม่เคยได้ยินคุณหมอท่านใดบ่นเลยว่ามีความพยายามปกปิด เพียงแต่หลายครั้งท่านเหล่านั้นต้องชะงักตัดสินใจก่อนว่าถ้าสาธารณชนได้รับรู้ข่าวเหล่านั้นแล้วจะมีความรู้สึกอย่างไร และแล้วในที่สุดก็มีการเผชิญหน้าความจริงอย่างโปร่งใส สร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
จังหวัดสงขลาสร้างข่าวใหญ่เกี่ยวกับโควิดสองข่าวห่างกันไม่ถึงสัปดาห์
ข่าวแรกเป็นการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่หน่วยราชการแห่งหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวกับความมั่นคงมีการติดเชื้อในที่ทำงานแห่งหนึ่งและลามไปอีกแห่งหนึ่งด้วยรวม 8 ราย เจ้าหน้าที่อีก 31 คนตรวจไม่พบเชื้อแต่ก็ต้องกักตัว 14 วัน ล้างทำความสะอาดสำนักงาน และปิดทำงานไปอีกหลายวัน เรื่องนี้ไม่เป็นไรหรอกครับ ท่านผู้บัญชาการ ของมันพลาดกันได้ เราต้องยอมรับว่าเชื้อมันเก่งกว่าเรา มันเอาเราทีเผลอ
อีกข่าวหนึ่ง สองสามวันต่อมา นักระบาดวิทยาทีมเดียวกันก็สืบสวนต่อไป ได้เบาะแสว่าเชื้ออาจจะมาจากผู้ต้องขังในศูนย์กักกันคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ทีมสาธารณสุขในพื้นที่ก็เลยขออนุญาตลุย ตรวจพบเชื้อพวกนี้อีก 42 ราย มีทั้งชาวอาเซียนด้วยกัน คือ มาเลเซีย พม่า เวียดนาม และ อินเดีย ปากีสถาน ตลอดจนเยเมน ข่าวนี้ชวนให้ผงะอยู่เหมือนกัน ยังตรวจไม่หมดครับ ชาวโรฮินญาอีกมากกว่านี้ยังไม่ได้ตรวจ ต้องติดตามตอนต่อไป
ทั้งสองข่าวนี้ต้องชื่นชมความโปร่งใสของหน่วยราชการแห่งนั้น และ ทางสาธารณสุขที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ทำให้คนไทยทราบสถานการณ์ที่แท้จริงในเวลาอันรวดเร็ว
สองข่าวนี้จะบ่งชี้ไปในทิศทางว่าโควิดจะกลับมาระบาดหนักในไทยอีกไหม ผมคิดว่าน่าจะไม่ถึงขนาดนั้น ที่หน่วยราชการเราตรวจพบผู้สัมผัสติดเชื้อได้เร็ว หวังว่าโรคยังไม่กระจายไปกว้างนัก ส่วนที่ศูนย์กักกัน ตรวจพบค่อนข้างช้า อัตราตรวจพบเชื้อราว 80 % ใกล้เคียงกับกลุ่มที่กลับจากอินโดนีเซียเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว แสดงว่าเชื้อแพร่ในกลุ่มนี้เกือบจะเต็มที่ แต่กลุ่มนี้ถูกกักบริเวณ น่าจะยังไม่ได้แพร่เชื้อออกมากนัก แต่ว่าก็ไม่แน่นะครับของมันพลาดกันได้ อีกหนึ่งสัปดาห์จะรู้ผล
คนที่ตรวจพบเชื้อเกือบทั้งหมดไม่มีอาการ แล้วสาธารณสุขไปตรวจพบได้อย่างไร
ทางภาษาวิชาการระบาดวิทยา เรียกว่าการสอบสวนโรคครับ ผู้ป่วยที่เป็นโรคระบาดทุกคนต้องมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่รับผิดชอบในพื้นที่ไปสอบสวน ณ โรงพยาบาล เพื่อให้ได้ข้อมูลว่าขณะนี้พักอยู่ที่ไหน ที่ผ่านมาไปติดต่อกับใครบ้าง ขอเบอร์โทรศัพท์ จากนั้นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็จะไปเยี่ยมบ้านและที่ทำงาน และเยี่ยมผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย แล้วถามประวัติว่าไปไหนมาบ้าง ถามอาการ ตรวจร่างกายและตรวจหาเชื้อ ถ้าพบเชื้อก็รับมาแยกตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ถ้าไม่พบเชื้อก็ให้กักตัวเองอยู่ในบ้าน 14 วัน ภาษาอังกฤษเรียกกระบวนการนี้ว่า contact tracing
ระบบสาธารณสุขไทยทำ contact tracing เก่งมากครับ กรณีอย่างสนามมวยน้องหมอต่างๆ ตามไปจนทะลุปรุโปร่งได้ตัวผู้ติดเชื้อ และกักตัวได้ทั้งหมด ถึงแม้จะเดินทางกลับต่างจังหวัดไปก็ตามตัวจนได้ โรคจึงสงบ คราวนี้โป๊ะเชะไปเจอสองจุดใหญ่ในตำบลที่ตั้งเดียวกันก็ด้วยวิธี contact tracing อันชาญฉลาดของน้อง ๆ นี่แหละครับ
ในประเทศไทย contact tracing ที่ทางระบบสาธารณสุขทำเป็นเครื่องมือในการควบคุมโรคโควิดควบคู่กับ social distancing ที่ฝ่ายปกครองดำเนินการ สองวิธีนี้ได้ผลอย่างดีในรอบสองสามเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ยุโรปและอเมริกาไม่ทันได้ทงานนี้ โดนโควิดเล่นงานจนงอก่องอขิง จำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำ contact tracing ไม่ไหว ได้แต่เรียกร้องหาเครื่องปัองกัน (PPE) ให้คุณหมอในโรงพยาบาล และเครื่องช่วยหายใจให้ผู้ป่วย จำนวนผู้ป่วยในประเทศไทยก็ยังอยู่ในระดับที่พอรับมือได้อย่างที่เห็น ก็เพราะงานเชิงรุกของเราทำได้ดีกว่าเขา
นอกจาก contact tracing แล้ว สาธารณสุขยังมียุทธการปูพรมในบางกรณี เช่น การตรวจค้นบางพื้นที่ใน กทม. และล่าสุดในสาธารณสุขจังหวัดยะลาได้เบาะแสออกไปลุยปิดหมู่บ้านตรวจได้ผู้ติดเชื้อมาอีก 6 รายซึ่งน่าชื่นชมยิ่งครับ
แล้วทางสาธารณสุขจะทราบได้อย่างไรว่าควรจะไปลุยชุมชนไหน? เขามีวิธีหาเบาะแสครับ ส่วนใหญ่ก็ต่อเนื่องจาก contact tracing นั่นแหละครับ ถ้าพบเบาะแสว่าชุมชนใดน่าจะมีกลุ่มเสี่ยงอยู่มาก ก็จะสนธิกำลังเข้าลุยค้นหาผู้ติดเชื้อมาบำบัด แต่วิธีการนี้ไม่ง่ายเลยครับ ต้องมีงานมวลชนที่ดีมาก
การออกไปลุยมีต้นทุนสูงกว่า contact tracing ธรรมดา ถ้าไม่มีเบาะแสที่ดีก็อาจจะคว้าน้ำเหลว เสียเงินทองและเสียเวลาไปมากแต่ไม่พบผู้ติดเชื้อ เพราะอัตราการติดเชื้อโดยไม่มีอาการในประเทศไทยในช่วงนี้ยังไม่สูงมาก ดังนั้นพวกผู้ใหญ่ในกระทรวงจะสั่งให้ใครไปลุยที่ไหนคิดให้ดีเสียก่อนนะครับ ปกติคนในพื้นที่หน้างานจะมีข้อมูลและเบาะแสดีกว่าคนส่วนกลางอยู่แล้ว ปล่อยเขาลุยให้กำลังใจสนับสนุนเขาทำตามที่เขาเห็นสมควรเถิดครับ
ประเด็นสุดท้าย คือ ชาวต่างชาติที่ติดเชื้อในศูนย์กักกัน ท่านรองรัฐมนตรีซึ่งดูแลกระทรวงสาธารณสุขให้หลักการที่น่ายกย่องว่าเราต้องรักษาทุกชีวิตตามมาตรฐานสาธารณสุขไทย
ท่านไม่ได้พูดถึงประเด็นการหลบหนี ซึ่งเรามีบทเรียนเกี่ยวกับโรฮินญาและอูกุยมาแล้วว่าพยายามหลบหนีตลอดเวลา ส่งตัวกลับประเทศทางโน้นก็ไม่รับ ถ้าหลุดออกไปบางทีก็กลายเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ในที่สุด ในกรณีนี้ถ้าหลุดออกไปมีโอกาสที่จะแพร่โรคร้ายกลับมาหาเรา เรื่องพวกนี้ทีมงานในพื้นที่กำลังหาทางแก้ปัญหาอยู่ เราต้องติดตามกันต่อไป
เรื่องผู้อพยพนี้บางทีต้องทำใจและให้เวลาเยียวยาปัญหาสังคมอันซับซ้อนของมนุษยชาติ ท่าทีที่เปิดเผย ให้คนอื่นมีส่วนรับรู้และช่วยเหลือร่วมมือจะทำให้ทุกอย่างค่อยๆดีขึ้น
เมื่อ 60-70 ปีที่แล้ว ชาวจีนแผ่นดินใหญ่หลายล้านคน หนีข้ามมาฮ่องกงเพื่อจะออกสู่ประเทศที่สามโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย เมื่อจีนเปิดประเทศใหม่ๆตอน 40 ปีที่แล้ว คนไทยเชื้อสายจีนไปเยี่ยมบ้านบรรพบุรุษก็ต้องซื้อขาวของเครื่องใช้ เช่น โทรทัศน์ มอเตอร์ไซด์ เข้าไปฝากญาติ ตอนนี้เป็นอย่างไรครับ ประเทศจีนไม่เพียงแต่ส่งมอเตอร์ไซด์มาขายไทย สินค้าไฮเทคก็ดี อีคอมเมิร์สก็ดี กลายเป็นของจีนไปมากมายแล้ว “เงินทองของมายา ข้าวปลาสิของจริง” ปีนี้ผลไม้ไทยราคาถูกเพราะอะไร ก็เพราะโควิดช่วยครับ ไม่งั้นจีนสั่งซื้อหมดเราจะก็จะต้องกินของแพงไปด้วย
เมื่อ 40 กว่า ปีทีแล้ว เขมรแตก เวียดนามแตก คนเวียดนามลอยเรือข้ามฝั่งมาไทยนับหมื่น ส่วนหนึ่งก็มาอยู่ที่ชายหาดสงขลานับพันคน ชาวกัมพูชาก็ต้องหนีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาอยู่ที่ศูนย์อพยพชายแดนฝั่งไทยนับแสน บัดเดี๋ยวนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจของสองประเทศนี้ก็ก้าวกระโดดในขณะที่ไทยกำลังล้มลุกคลุกคลาน อีกไม่ช้าเราก็อาจจะโดนเขาแซงไปแล้ว
เวลาได้ทำหน้าที่เยียวยาบาดแผลแห่งสงครามในอินโดจีน บทเพลงที่ว่า “สงครามอันยาวนาน จะสิ้นไปด้วยใจของคน” ได้รับการพิสูจน์แล้ว
กลับมาจากอดีตถึงปัจจุบัน โควิดสะกิดแผลเก่าทางสังคมทุกเรื่อง การสอบสวนโรคทำให้เห็นบาดแผลทางสังคมของชาติ ที่บางทีก็เปิดเผยไม่ได้ และบางที(อย่างกรณีศูนย์กักตัว) เราก็ควรเปิดเผยอย่างเต็มภาคภูมิ
ความเปิดเผย โปร่งใส คือ ความพัฒนาการทางสังคมไทย เหมือนแสงสว่างที่ไล่ปีศาจแห่งความมืดหรือความชั่วร้ายออกไป การเปิดเผยทำให้ทุกคนสบายใจและร่วมใจกันช่วยเหลือกันหาทางออก
สงครามกับโควิดซึ่งยังไม่รู้ว่าจะยาวนานเพียงไหน จะสิ้นไปด้วยใจของคน เหมือนสงครามเวียดนามไหมครับ
อ่านแล้วอย่าลืมส่งกำลังใจให้คุณหมอนักสอบสวนโรคในที่ต่าง ๆ ของประเทศด้วยนะครับ