โฆษก ศบค.แถลงห่วงคนกลับมาแออัดใช้บริการรถสาธารณะ หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อลด เบาใจ แจงตัวเลขแหกเคอร์ฟิวพุ่ง เหตุ ตร.ปรับทำงานเชิงรุกลงพื้นที่ ขู่เจอวงพนันฟันไม่เลี้ยง ปัดปลดล็อก 32 จว.ก่อน 1 พ.ค. ยันยังไม่ออกประกาศ
วันนี้ (23 เม.ย.) เวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงว่า สถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ 13 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,839 ราย หายป่วยแล้ว 78 ราย รวม 2,430 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ซึ่งเป็นรายที่ 50 ราย เป็นหญิงไทยอายุ 78 ปี มีโรคประจำตัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เข้ารักการรักษาโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีอาการทางเดินปัสสาวะอักเสบ ต่อมาวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมามีอาการไข้ ปอดบวมจึงส่งตรวจหาเชื้อพบว่าติดเชื้อโควิด-19 จากนั้นเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมามีอาการแย่ลง และเสียชีวิตในวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมาด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด และระบบหายใจล้มเหลว
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิต 50 รายนั้น เป็นบทเรียนที่มีค่าที่เราต้องเรียนรู้ถึงโรคนี้ ผู้ที่ติดเชื้อมากสุดคือวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน แต่ไม่ได้เสียชีวิตมากที่สุด คนติดเชื้อน้อยแต่เสียชีวิตมาก เดือนนี้เข้าเดือนที่ 4 ของการแพร่ระบาดซึ่งเป็นยกที่ 4 ต้องยืนยาวอีก 12 ยก ต้องเก็บแรงดีๆ การ์ดอย่าตกแม้แต่นิดเดียว เราทำคะแนนได้อย่างดี ทำคะแนนทุกยกอีกยาว บางประเทศการ์ดตกน็อกไปแล้ว ตัวเลขทะยานขึ้นไปหลักพัน และจะขึ้นหลักหมื่น ดังนั้น การตั้งรับอย่างเดียวคงไม่ถูกต้อง จึงมีการปรับระบบเชิงรุกในชุมชน เพื่อตรวจเชิงรุกในชุมชนหาผู้ป่วยกลุ่มเฉพาะทั้งแสดงอาการและไม่แสดงอาการ โดยใน กทม.เข้าไปที่ชุมนุมแออัด 2 แห่งคือ ที่บางเขน และคลองเตย เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนเชิงนโยบาย ตรวจไปแล้ว 1,876 ราย แต่พบเพียง 1 ราย จึงมีคำถามว่าทำไมตัวเลขน้อยลง อาจเป็นไปได้ว่าทุกท่านดูแลสุขภาพอย่างดี ตอนนี้เป็นช่วงลงของการพบเชื้อ ทำให้เจอน้อย แต่เรายังไม่หยุด กทม.ต้องหาเพิ่มขึ้น เป็นนโยบายของสาธารณสุขที่จะทำงานเชิงรุกมากขึ้น
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า วันเดียวกันนี้จะมีคนไทยเดินทางกลับจากประเทศตุรกี 55 คน เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และจากประเทศมาเลเซียอีก 144 คน ส่วนในวันที่ 24 เม.ย.จะมีคนไทยเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่น จำนวน 31 คน และพระภิกษุ แม่ชี และผู้ปฏิบัติธรรม เดินทางทางกลับจำนวน 171 ราย โดยได้มีการขออนุญาตจากมหาเถรสมาคม (มส.) อนุโลมให้พระภิกษุสามารถจำวัดได้ในสถานที่ที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้ 14 วัน
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า สำหรับผลการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงในช่วงเคอร์ฟิว คืนวันที่ 22 เม.ย.ต่อเนื่องเช้าวันที่ 23 เม.ย. มีผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน มีจำนวน 617 เพิ่มขึ้นจาก เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมาจำนวน 63 ราย ชุมนุมมั่วสุม 106 ราย เพิ่มขึ้น 51 ราย ซึ่งตนได้สอบถามในที่ประชุม ศบค.วงเล็กว่าทำไมตัวเลขจึงเพิ่มขึ้น ตัวแทนสำนักงานตรวจแห่งชาติ (สตช.) รายงานว่า ตอนนี้มีการปรับกระบวนการลดการการตั้งด่านตรวจลง เพราะคนทำผิดไม่ได้อยู่บนถนน แต่อยู่ที่บ้านและในชุมชน มีการเล่นการพนัน ดื่มสุรา และยาเสพติด จึงจะต้องทำงานเชิงรุกเพิ่มสายตรวจ เข้าไปในชุมชน พร้อมกันนี้ขอให้ประชาชนแจ้งเบาะแสมาที่เจ้าหน้าที่ และเจตนาตำรวจไม่ได้อยากปรับ แต่ต้องการป้องปราม เมื่อเข้าไปแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะจับทันที แต่ตักเตือน และถ้าเล่นการพนันยอมไม่ได้ เพราะมีการติดเชื้อมาจากการเล่นการพนัน ทั้งนี้ ตั้งแต่ประกาศเคอร์ฟิวพบว่ามีผู้ออกนอกเคหสถานโดยไม่มีเหคุอันสมควร จำนวน 16,179 ราย ตักเตือน 2,983 ราย ดำเนินคดี 1,3196 ราย ขณะที่รวมกลุ่มชุมนุม มั่วสุมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ 1,835 ราย ดำเนินคดี 1,730 ราย ส่วนจังหวัดที่มีการกระทำผิดมากที่สุด ได้แก่ ภูเก็ต กรุงเทพฯ ปทุมธานี ราชบุรี ระยอง
เมื่อถามถึงกรณีมีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ติดเชื้อโควิด-19 ขณะกลับไปเยี่ยมญาติ จึงต้องมีการกักตัวเจ้าหน้าที่ประจำด่านอีกจำนวนหนึ่ง จะมีการเน้นย้ำแนวทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ทุกส่วนอย่างไรบ้าง นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า มีการกักตัวผู้ที่ มีความเสี่ยงสูงจำนวน 49 คน เจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยงต่ำอีก 93 คน รวม 142 คน กระบวนการอยู่ในช่วงสอบสวนโรค ต้องดูแลและหาคำตอบว่าต้นทางติดเชื้อมาจากที่ใด เราไม่โทษใคร เราต้องหาต้นตอและป้องกันควบคุมไม่ให้มีการแพร่กระจายโรค เพราะขอบเขตชายแดนมีอัตราติดเชื้อทั้งฝั่งไทย และมาเลยเซีย เราต้องพยายามควบคุมโรคของฝั่งเราให้ได้ ถ้าสองประเทศร่วมมือกันอย่างดีตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลง โดยขณะนี้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) สั่งการให้มีการปิดด่านเพื่อฆ่าเชื้อ 7 วันแล้ว และใครจะเดินทางผ่านเข้า-ออกให้ไปใช้ด่านด่านปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลาแทน ซึ่งเมื่อจะเปิดด่านอีกครั้งกระบวนการต่างๆต้องทำให้มั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าจะไม่มีการติดเชื้อ
เมื่อถามต่อว่าจะมีการรับมือการแพร่ระบาดระลอกใหม่อย่างไร เพราะคนเริ่มไปใช้บริการรถสาธารณะมากขึ้น และไม่มีการเว้นระยะห่างตามที่ได้มีการขอความร่วมมือ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง พอเห็นตัวเลขแล้วเบาใจ สบายใจ น่าจะผ่อนปรนได้ แต่ให้คิดไว้เสมอว่าทุกครั้งที่ออกไปข้างนอกสุ่มเสี่ยงได้รับเชื้อแน่นอน ต้องป้องกันตัวเองใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งใด ถ้าไม่จำเป็นไม่ต้องไป อยู่บ้านดีที่สุด ตอนนี้ถ้าผ่อนลงไปจะไปแสดงผลในอีก 7 วันข้างหน้า ส่วนผู้ประกอบการดูแลขนส่งมวลชนก็ต้องมีมาตรการดูแลเรื่องการเว้นระยะห่างไม่ให้แออัดเกินไป ส่วนการเดินทางข้ามจังวัดนั้น ศบค.มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้สถิติ ชุดข้อมูลออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งแต่ละจังหวัดมีมาตรการที่ แตกต่างกันไป แต่ต้องปฏิบัติตามที่จังหวัดนั้นกำหนดขึ้นมา ที่สำคัญยังห้ามเดินทางในช่วงเวลาเคอร์ฟิว
เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่าในวันที่ 1 พ.ค.จะมีการปลดล็อก 32 จังหวัดก่อน นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เห็นอินโฟกราฟิกว่าออกมาจากกระทรวงสาธารณสุข แต่ถ้าจะบอกว่าออกมาจาก ศบค.ยังไม่ใช่ เพราะนายกฯ ยืนยันแล้วว่าต้องให้มีการศึกษาชัดเจนผ่านที่ประชุม ศบค. และอนุมัติผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) และขณะนี้ยังไม่ได้มีการประกาศชัดเจนแต่อย่างใด แต่แนวโน้มต้องยืดระยะเวลาประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปแน่นอน แต่จะมีการผ่อนปรนบ้าง ซึ่งหลักการทั้งสองข้อต้องรอมติ ครม. ย้ำว่าแค่มีแนวโน้ม แต่ไม่ได้ลงรายละเอียด ยังไม่ได้มีการตัดสินใจแต่อย่างใด ส่วนที่มีข้อเสนอก่อนหน้านี้จากทีมนักวิชาการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ จะต้องเป็นรูปแบบที่จะเกิดซึ่งจะต้องนำมาเสนอกัน