xs
xsm
sm
md
lg

“หมอเฉลิมชัย” แนะตามรอยเกาหลีใต้ สุ่มตรวจวงกว้างคุมโควิด-19 จี้ใช้ที่กักตัวแทนกักที่บ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา (แฟ้มภาพ)
รอง ปธ.กมธ.สธ. ยกโมเดลเกาหลีใต้ สุ่มตรวจวงกว้าง หาผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ คุมโควิด-19 ดีกว่าญี่ปุ่น-สิงคโปร์ ตรวจน้อยเจอระบาดระลอกสอง แนะรัฐเอาอย่างและจัดสถานที่กักตัว แยกผู้ติดเชื้อเป็น 4 กลุ่ม แทนให้กักตัวอยู่บ้าน เหตุได้ผลน้อย

วันนี้ (19 เม.ย.) นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา วิเคราะห์เทียบแผนรับมือโควิด-19 สามประเทศ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และ เกาหลีใต้ ที่โรคสงบชั่วคราวมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว พบว่า ประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่นไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ของโรคระบาดได้ ขณะที่เกาหลีใต้ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ เนื่องจากเกาหลีใต้เร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก (Active Case Finding) โดยได้ตรวจหาผู้ติดเชื้อในประชากรถึง 466,779 ราย จากประชากร 51 ล้านคน เท่ากับ 9,099 ราย/1 ล้านประชากร และพบผู้ติดเชื้อ 2.19% ขณะที่ญี่ปุ่นตรวจไปเพียง 46,172 ราย จากประชากร 126 ล้านคน เท่ากับ 365 ราย/1 ล้านประชากร และพบผู้ติดเชื้อ 7.91% ทำให้เกาหลีใต้สามารถตรวจพบผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อได้ (เมื่อ 2 เดือนก่อนยังมีความเชื่อว่า ผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการเท่านั้น ที่จะสามารถแพร่เชื่อได้) และนำมากักตัวไม่ให้ออกไปแพร่เชื้อ ในขณะที่ญี่ปุ่นเชื่อว่าผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ไม่สามารถแพร่เชื้อได้ หรือแพร่ได้ก็น้อยมาก ประกอบกับการตรวจหาผู้ติดเชื้อนับแสนคนนั้น เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เสียค่าใช้จ่ายมาก ประเมินว่า ไม่คุ้มที่จะตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างกว้างขวางแล้วพบผู้ติดเชื้อจำนวนน้อย จึงใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ดูแลสุขภาพอนามัยส่วนบุคคล ก็น่าจะเพียงพอ

นพ.เฉลิมชัย ระบุว่า ในช่วง 1 เดือนก่อน ทุกคนคิดว่าเกาหลีใต้ทำมากเกินความจำเป็น ขี่ช้างจับตั๊กแตน และคิดว่าญี่ปุ่นทำได้กำลังพอดี และทั้ง 2 ประเทศ ก็ได้ผ่อนคลายมาตรการการควบคุมโรคลงได้ ระดับหนึ่งเพื่อให้เศรษฐกิจและสังคมเดินหน้าต่อไปได้ และสามารถควบคุมสถานการณ์โรคระบาดได้ดีเท่ากัน แต่ ณ เวลานี้ ชัดเจนว่า วิธีการของเกาหลีใต้เป็นการกระทำที่สมเหตุสมผล พอเหมาะพอดีที่จะควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ในขณะที่มาตรการของญี่ปุ่นที่เดิมเคยเชื่อว่า ทำได้พอเหมาะพอดีนั้นกลับชัดเจนว่าทำน้อยไป วันนี้จึงค่อนข้างชัดเจนว่า มาตรการตรวจหาผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยนั้น นับเป็นมาตรการชี้เป็นชี้ตาย ว่า ประเทศจะสามารถควบคุมการระบาดของโรคไว้ได้หรือไม่ โดยในกลุ่มผู้ติดเชื้อ 1,000 คน จะแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1) ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการประมาณ 800 คน (80%)
2) ผู้ติดเชื้อและมีอาการเล็กน้อย 160 คน (16%)
3) ผู้ติดเชื้อที่มีอาการปานกลาง 30 คน (3%)
4) ผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนัก 10 คน (1%) ดังนั้น รัฐต้องมีมาตรการดูแลผู้ติดเชื้อแต่ละประเภทไว้รองรับ สำหรับผู้ติดเชื้อกลุ่มที่ 1 รัฐจะต้องเตรียมสถานที่ไว้ให้คนเหล่านี้ได้รับการกักตัว ไม่ให้ออกไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่น สถานที่ดังกล่าวอาจเรียกว่า State Quarantine ซึ่งอาจเป็นโรงแรม อพาร์ตเมนต์ของเอกชน หอพักของมหาวิทยาลัย หรือสถานที่อื่นที่รัฐเข้าดำเนินการบริหาร จัดการร่วมกับเจ้าของสถานที่ให้มีมาตรฐานเพียงพอที่จะไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ เพราะการกักตัวที่บ้าน หรือ Home Qurantine พบว่า ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันการแพร่เชื้อ ผู้ติดเชื้อกลุ่มที่ 2 จะต้องเข้ารับการดูแลรักษาเบื้องต้นในสถานที่ที่รัฐจัดให้มีความพร้อมในการดูแลรักษาเบื้องต้นสำหรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย เรียกสถานที่ดังกล่าว ว่า โรงพยาบาลสนาม (Field Hospital) แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลจริง ในหลายประเทศใช้ศูนย์การประชุม ศูนย์จัดแสดงสินค้า สนามกีฬา หรือแม้กระทั่งจัดสร้างชั่วคราวขึ้นในสวนสาธารณะก็มี ผู้ติดเชื้อกลุ่มที่ 3 จะเข้ารับการรักษาตัวในหอพักผู้ป่วยทั่วไป (Cohort Ward) ในโรงพยาบาลจริง และ ผู้ติดเชื้อกลุ่มที่ 4 ซึ่งมีอาการหนัก มีปอดอักเสบ ต้องได้รับออกซิเจน หลายรายหายใจเองไม่ได้ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ (Ventilator) จึงต้องรับไว้ดูแลอย่างใกล้ชิดในหอผู้ป่วยหนัก (ICU) มิเช่นนั้น จะเสียชีวิตได้

รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ยังเห็นว่า การตรวจสอบและจัดเตรียมจำนวนเตียงที่จะรองรับผู้ติดเชื้อทั้ง 4 กลุ่ม จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องทำให้พร้อม เพื่อที่จะได้เร่งทำการตรวจคัดกรองเชิงรุก และเมื่อพบผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย จะได้นำมากักตัวและไม่ให้ออกไปแพร่เชื้อ (State Quarantine) ซึ่งทราบว่า ทางรัฐบาลก็ได้เตรียมดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว ซึ่ง State Quarantine นั้น จะมีจำนวนมากเกินกว่าที่ภาครัฐโดยลำพังจะสามารถดำเนินการได้เพียงพอ ภาคเอกชนจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะเข้ามาร่วมมือกับรัฐในการจัดเตรียมต่อไป เพื่อให้เราสามารถผ่อนคลายมาตรการทางสาธารณสุขลงได้ และทำให้มิติทางด้านสังคมและเศรษฐกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่จะมีข้อจำกัด ซึ่งจะแตกต่างไปจากการดำเนินการแบบเดิม (New Normal) โดยโรคจะไม่กลับมาระบาดในรอบที่สองอีกครั้ง ซึ่งเชื่อกันว่าโรคระบาดรอบที่สองนั้น จะมีความรุนแรงและควบคุมได้ยากกว่าการระบาดของโรคในรอบแรก


กำลังโหลดความคิดเห็น