รองประธาน กมธ.สธ.ผุดไอเดียคลายล็อกเฉพาะพื้นที่ปลอดโควิด 28 วัน เปิดกิจการไหนต้องตรวจหาเชื้อผู้เกี่ยวข้องด้วย เชื่อทั่วโลกไม่เหมือนเดิม เปลี่ยนทุกด้าน เข้าสู่ New Normal ชีวิตที่ถูกกำหนดโดยเชื้อไวรัส
วันนี้ (24 เม.ย.) นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวถึงการคลายล็อกหรือการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงว่า ต้องพิจารณาดังนี้ 1) มีความมั่นใจ ในระดับหนึ่งว่าโรคจะไม่กลับมาระบาดใหม่รอบสอง 2) ทุกภาคส่วนเข้าใจตรงกันว่า เรื่องต่างๆ ที่ไม่ได้ผ่อนคลายจะต้องรับผิดชอบทำกันอย่างเข้มข้นต่อไป ทั้งเรื่องระยะห่างทางสังคม การใส่หน้ากาก การไม่อยู่รวมกลุ่มกันจำนวนมาก การล้างมือห้ามประมาท และ 3) ถ้ามีแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อทำท่าจะเพิ่มขึ้นไม่ต้องให้ระบาดชัดเจน จะต้องเข้าใจและยอมรับกลับมาเข้มงวดตามเดิม หรืออาจมากกว่าเดิมถ้ามีความจำเป็น
โดยควรพิจารณาเป็นรายพื้นที่เริ่มจาก 1) เริ่มเป็นเขตที่กำหนด เช่น อาจจะเป็นระดับตำบล หรืออำเภอ ส่วนกรุงเทพมหานครอาจจะเป็นแขวง หรือเขต โดยจะต้องไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเดือน คือสองเท่าของระยะฟักตัว 14 วัน คือ 28 วัน 2) ผ่อนคลายเป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้ โดยมีความเสี่ยงติดเชื้อใหม่น้อย และ 3) ควรมีมาตรการเสริมให้มาตรการที่ผ่อนคลายนั้นมีความเสี่ยงติดเชื้อน้อย เช่น การตรวจหาไวรัสหรือภูมิต้านทานเชิงรุก ในผู้ที่มีความเสี่ยงน้อยหรือผู้ที่กำลังจะต้องทำกิจกรรมในเขตพื้นที่ที่ได้รับการผ่อนคลาย
นพ.เฉลิมชัยระบุด้วยว่า หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเกิด New Normal หรือวิถีชีวิตปกติแบบใหม่จะถูกกำหนดโดยไวรัส เพราะโรคนี้จะอยู่รบกวนมนุษย์ไปอีกอย่างน้อยก็ 1 ปี เผลอๆ อาจไปไกล 2-5 ปีได้ด้วย ทำให้วิถีชีวิตปกติของมวลมนุษยชาติ ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร เชื้อชาติ ศาสนาอะไร การศึกษาหรืออาชีพแตกต่างกันอย่างไรก็จะได้รับผลกระทบทั้งสิ้น โดยวิถีชีวิตปกติแบบใหม่นี้จะถูกไวรัสเป็นผู้กำหนด มิใช่มนุษย์เราเป็นผู้กำหนดแต่อย่างใด เช่น ถ้าในอนาคตอันใกล้นี้เกิดพบว่าไวรัสแพร่ได้มากกว่า 2 เมตร เช่น เป็น 4 เมตร วิถีชีวิตของพวกเราก็จะถูกกำหนดโดยความรุนแรงของไวรัส ให้พวกเราต้องทำงาน เรียนหนังสือ สังสรรค์ พักผ่อน และท่องเที่ยว โดยมีระยะห่างทางสังคม 4 เมตร วิถีชีวิตของคนในเมืองใหญ่ แม้แต่ในชนบทก็จะต้องได้รับผลกระทบและเปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบการใช้ชีวิตเดิมๆ อย่างแน่นอน ซึ่ง New Normal ที่จะเกิดขึ้นนี้จะครอบคลุมทุกด้านของมนุษย์เรา ได้แก่ 1) ด้านเศรษฐกิจ 2) ด้านสังคม อันประกอบด้วย ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และด้านวัฒนธรรม และ 3) ด้านหลักคิดหรือปรัชญาในการใช้ชีวิต