xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ชี้โควิดทำยอดคนจนพุ่ง เหลื่อมล้ำยิ่งถ่าง ถึงเวลาหรือยังมี รธน.เศรษฐกิจแก้ต้นตอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (แฟ้มภาพ)
“ส.ว.คำนูณ” ชี้โควิด-19 เร่งจำนวนคนจนเพิ่มขึ้น-ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างสุดกู่ ถึงเวลาหรือยังที่จะมี “รัฐธรรมนูญทางเศรษฐกิจ” แก้ไขปัญหาในระดับรีเซตประเทศ คิดใหม่ทำใหม่ เหตุ “ธรรมนูญทางการเมือง” ที่ใช้อยู่ให้ผลช้าเกินการณ์ กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้

วันนี้ (16 เม.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn ในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญทางเศรษฐกิจ” - ควรมีหรือไม่อย่างไร ? มีรายละเอียดว่า ครั้งหนึ่งเมื่อ 5 ปีก่อนเคยมีส่วนร่วมจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ผ่าน ถูกตีตก มาวันนี้เสียงถกเถียงเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเรื่องเนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็นรวมทั้งเรื่องประชาธิปไตย/ไม่ประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรีมาจากไหนก็ยังคงเป็นกระแสหลักของประเด็นทางการเมือง ตั้งแต่เกิดและเติบโตมาดูเหมือนเราก็วนเวียนกันอยู่แค่นี้ สารัตถะที่ถกเถียงขัดแย้งกันแทบทั้งหมดอยู่ที่การจัดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรทางการเมือง การเข้าสู่อำนาจทางการเมือง รูปแบบการหาผู้แทนของประชาชน การตรวจสอบการใช้อำนาจทางการเมือง และ ฯลฯ ไม่ค่อยมีการถกกันถึงประเด็นทางเศรษฐกิจมากนัก รัฐธรรมนูญกี่ฉบับต่อกี่ฉบับเขียนไว้กว้างๆ ใกล้เคียงกัน ไม่มีการลงรายละเอียดถึงระบบการเงินของประเทศที่ควรจะเป็น อาทิ ความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้จะต้องไม่เกินเท่าไร หรือควรจะเปิดเสรีการจัดตั้งธนาคารในขอบเขตอย่างไรเพื่อให้เกิดการแข่งขันและทางเลือกกับผู้บริโภคมากขึ้น ระบบภาษีที่ควรจะเป็นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม อาทิ ภาษีการซื้อขายหุ้นควรจะต้องเริ่มต้นมีขึ้นหรือไม่อย่างไรภายในระยะเวลาเท่าไร หรือแม้แต่นโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่ควรจะเป็น

พูดง่ายๆ ว่าเราถกกันแต่ “รัฐธรรมนูญทางการเมือง” มาโดยตลอด!

แล้ว “รัฐธรรมนูญทางเศรษฐกิจ” ล่ะ ควรจะมีหรือไม่อย่างไร?

เข้าใจครับว่ารูปแบบประชาธิปไตยที่เรานำมาใช้ ถือหลักว่านโยยายทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาล แทบไม่มีรัฐธรรมนูญของประเทศประชาธิปไตยแบบนี้ที่กำหนดประเด็นทางเศรษฐกิจหลักๆ ไว้ ถามท่านผู้รู้ก็ได้รับคำตอบว่าอาจจะมีรัฐธรรมนูญของบางประเทศเช่นไอร์แลนด์ อินเดีย ที่กำหนดแนวนโยบายของรัฐทางด้านเศรษฐกิจไว้ แต่ก็ไม่น่าจะถึงขนาดนับเป็น “รัฐธรรมนูญทางเศรษฐกิจ” ได้

ปัญหาคือพรรคการเมืองบ้านเรา โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่มีผู้แทนในสภา มีความแตกต่างในทางระบบเศรษฐกิจน้อยมากหรือแทบไม่แตกต่างเลย คือทุนนิยมเสรีทั้งหมด และในระยะหลังๆ ก็ประชานิยมในรูปแบบต่างๆ กันทั้งนั้น การกำหนดนโยบายหลักในทางเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องของรัฐราชการ เทคโนแครตในกระทรวงการคลังหรือธนาคารชาติ เราจึงพบเห็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือในรอบ 20 ปีที่มีความยัดแย้งต่อสู้ทางการเมืองกันอย่างหนักหนาสาหัส พรรคการเมืองขั้วใหญ่ผลัดขี้นมาเป็นรัฐบาล รวมทั้งคณะทหาร แต่ทิศทางของนโยบายหลักๆ ทางเศรษฐกิจแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก จะเลือกตั้งอีกกี่ครั้งหรือรัฐประหารกันอีกกี่หนก็คาดหวังยากพอสมควรถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในระดับ Reset THAILAND ในขณะที่ COVID-19 เจ้ามาแตะปุ่ม ff-fast forward ในระดับ 2x ให้เศรษฐกิจตกต่ำอันจะทำให้คนจนเพิ่มขึ้นและความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างสุดกู่…

การถกกันแต่ “รัฐธรรมนูญทางการเมือง” ที่เหมาะสมเพื่อให้เกิด “กลไก” ที่ดีให้ได้รัฐบาลที่เหมาะสมเข้ามาแก้ปัญหาทุกปัญหา รวมทั้งปัญหาหลักทางเศรษฐกิจที่ต้องถึงระดับคิดใหม่ทำใหม่ในระดับ Reset THAILAND ก็โอเคอยู่ละ - แต่มันจะช้าเกินการณ์นานเกินคุณหรือไม่ กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้หรือไม่?

ประเทศเราควรจะมี “รัฐธรรมนูญทางเศรษฐกิจ” ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งได้หรือไม่?

ทั้งหมดนี้ ผมยังไม่ได้ตกผลึกทางความคิดถึงขนาดมีข้อเสนอใดๆ ต่อใคร เพียงแต่ฉุกคิดขึ้นมา ก็เลยขอชวนคิดต่อ ผิดถูกประการใดขออภัย เห็นต่างได้แต่ขอความกรุณาสุภาพและอย่าด่ากันเลย”


กำลังโหลดความคิดเห็น