กรรมาธิการฯ ICT วุฒิสภา เร่งรัดติดตามภารกิจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือระบบการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ แนะทบทวนการเรียนออนไลน์แบบทางเดียวสำหรับเด็กเล็กอาจไม่ตอบโจทย์ ด้าน กสทช.รับเจรจาหน้าเสื่อขอลดค่าบริการอินเทอร์เน็ตมือถือแบบเหมาจ่าย สูงสุดเดือนละ 400 บาท
วันนี้ (14 เม.ย.) คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา โดยมี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธาน ในการประชุมผ่านทาง VDO Conference เพื่อพิจารณานโยบายแนวทางการบริหารจัดการคลื่นความถี่หรือโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ตลอดจนการเตรียมความพร้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เพื่อรองรับการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ของเด็กนักเรียน นักศึกษา และอาจารย์
“ในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่มั่นใจว่าจะยืดเยื้อถึงเมื่อไหร่ การจัดระบบการเรียนการสอนเพื่อรองรับระบบการศึกษาแบบออนไลน์ผ่านระบบเทคโนโลยีต่างๆ จึงนับเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดอีกเรื่องหนึ่งที่เราจะต้องช่วยกันดำเนินการให้ดีที่สุด เพื่ออนาคตของเยาวชนของชาติที่ถือเป็นทรัพยากรสำคัญของชาติ” พล.อ.อนันตพรกล่าว
การประชุมในวันนี้มีสาระสำคัญ คือ การติดตามและเร่งรัดกิจการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกทางด้านการเรียนการสอนให้แก่นักเรียน นักศึกษา ในช่วงภาวะวิกฤตนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและบุคลากรทางการศึกษามากที่สุด โดยทาง กมธ.ICT ได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุมผ่านทาง VDO Conference เพื่อให้ข้อมูลและชี้แจงการดำเนินงานในช่วงนี้ รวมถึงตอบข้อซักถามต่างๆ
นายประสิทธิ์ เขียวศรี ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ข้อมูลถึง นโยบาย แนวทางการบริหารจัดการคลื่นความถี่ หรือโครงข่ายอินเทอร์เน็ต และการเตรียมความพร้อม ด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในช่วง COVID-19 เพื่อรองรับการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ของเด็กนักเรียน นักศึกษา และอาจารย์ ไว้ว่า
“ช่องทางการจัดการเรียนการสอนในนักเรียนระดับอนุบาล-มัธยมต้น จะให้เรียนผ่าน TV และในระดับมัธยมปลายให้เรียนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยบทบาทของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการในการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบสื่อทางไกลได้มีการดำเนินการจัดทำแพลตฟอร์มชื่อว่า “NDLP” หรือ National Digital Learning Platform ที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ของครูและนักเรียนระดับมัธยมปลาย ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะถูกวางไว้ที่ Public cloud เพื่อให้สามารถดึงกลับมาทบทวนได้ตลอดเวลา โดยกำหนดแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนเมษายน 2563 นี้”
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลว่า
“ทาง กสทช.ได้ประสานกับทางกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้นักเรียนเข้าสู่การเรียนการสอนได้ทุกแพลตฟอร์ม ทั้งนี้ ในส่วนของนักเรียนชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จะให้มีรายการสอน ผ่านทางทีวีดาวเทียมก่อน 13 ช่อง ส่วนกรมประชาสัมพันธ์ที่ดูแลทีวีภาคพื้นดินจะต้องมีส่วนร่วมในการสนับสนุนครั้งนี้เช่นกัน สำหรับนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่จะมีการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ทาง กสทช.ก็ได้เจรจากับทางผู้ให้บริการเครือข่ายทั้ง 3 ค่ายใหญ่ จัดแพกเกจพิเศษ แบบ Unlimited ความเร็ว 4 MB เดือนละ 400 บาท ระยะเวลา 3 เดือน แต่ก็มีเสียงสะท้อนจากฟากผู้ให้บริการซึ่งเป็นเอกชนว่าประสบปัญหาอย่างมาก หากจะให้ปล่อยสัญญาณฟรีคงเป็นไม่ได้ แต่สามารถช่วยขยายสัญญาณและเพิ่มสปีดความเร็วอินเทอร์เน็ต และแบบเหมาในราคา 400 บาท”
นายภูเวียง ประคามินทร์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันทางกระทรวงกำลังประสานและเจรจาคิดค่าอินเทอร์เน็ตให้นักเรียนในราคาที่ถูกกว่านี้
นอกจากนี้ กรรมาธิการฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะในเรื่องการเรียนผ่านเครือข่ายโทรทัศน์ของกระทรวงศึกษาธิการว่า ในภาวะสถานการณ์โควิด-19 นี้ ทางกระทรวงศึกษาธิการ ควรกำหนดแผนรองรับในระยะสั้น เพื่อจัดทำระบบการเรียนการสอนให้สอดรับและมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการสอนแบบ e-Learning คือ การที่ทั้งผู้เรียนและผู้สอนสามารถมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบและสื่อสารกันไปมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ผู้สอนต้องทำให้เด็กรู้สึกใกล้ชิด ส่วนการเรียนการสอนทางโทรทัศน์ ควรเป็นแผนระยะยาวเพราะมีค่าใช้จ่ายสูง และต้องใช้เวลาในการสร้างสรรวิธีการสอนที่จูงใจผู้เรียน