xs
xsm
sm
md
lg

นิสัย! ผู้ดูแลลงทะเบียน “เราไม่ทิ้งกัน” ร่ายยาว “ห่วยแตกแบบไทย” รองโฆษกอัยการฯ ชี้ผิด “พ.ร.บ.คอมฯ-ฉ้อโกง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมคิด จิรานันท์รัตน์
หลังดรามา 5 พัน “แค่เศษเงิน” โพสต์เย้ยหยันรัฐบาล เหมือนเป็นเรื่องเล่น ผู้ดูแลลงทะเบียน “เราไม่ทิ้งกัน” สุดทน ร่ายยาวนิสัย “ห่วยแตก” แบบไทย น่าจับเข้าคุก สอดรับ ดร.กิตติธัช จี้ ดำเนินคดี ขณะที่รองโฆษกอัยการฯ ชี้ ผิด พ.ร.บ.คอมฯ-ฉ้อโกง

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (9 เม.ย. 63) เฟซบุ๊ก Chao Jiranuntarat ของ นายสมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมดูแลระบบลงทะเบียนของเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com โพสต์ข้อความระบุว่า

“คิดแบบไทยๆ อยู่แบบไทยๆ ทำแบบไทยๆ เกิดโรคโควิด-19 ระบาด จะปิดเมืองก็บ่นว่าทำมาหากินไม่ได้ ยังไม่ทันเป็นโควิด จะตายเพราะอดตายกันเสียก่อน ไม่ปิดเมืองก็บอกไม่เข้มแข็ง ชักช้า จะพากันตาย เพราะโควิดระบาดกันหมด

ห้ามชุมนุม ก็ไปมั่วสุมกินเหล้ากันตามชายหาด บอกยังไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังไม่มีเคอร์ฟิว ก็บอกมาตรการไม่เข้มข้น พอมีเคอร์ฟิวก็บอกไม่สะดวก ฝ่าฝืนกันเป็นพัน

ไม่มีเงินแจกก็บอกจะอดตายกันหมดแล้ว จะแจก 3 ล้าน ก็บอกน้อยไป จะแจก 9 ล้าน ก็บอกจะเลือกยังไง ลงทะเบียนไปกว่า 20 ล้าน จะเลือกอาชีพที่จะแจก ก็บอกอีกว่าแล้วอาชีพที่ฉันทำก็กระทบ ทำไมไม่ได้ ให้กรอกอาชีพละเอียด ก็บอกถ้าไม่ให้ แล้วให้กรอกทำไม

ไม่ได้เงินก็บอกจะอดตายแล้ว ทำไมไม่เห็นใจ ได้เงินแล้วก็มาอวดว่ารวยแล้ว ลงทะเบียนเล่นๆ ทำไมถึงได้

ก็อยากจะถามเหมือนกันว่า ถ้าบอกว่าอาชีพนี้จะได้ อาชีพนี้จะไม่ได้ จะมีใครลงทะเบียนอาชีพที่จะไม่ได้มั้ย แล้วจะเปลี่ยนอาชีพตัวเองตอนลงทะเบียนมั้ย

ถามมากไปก็บอกข้อมูลส่วนบุคคล ถามไปทำไม แต่ถ้าถามน้อยไปแล้วจะเลือกกันยังไง

#หงุดหงิดกับคนได้เงินแล้วมาเยาะเย้ย #น่าจะจับมาเข้าคุกหากข้อมูลที่ให้ตั้งใจเป็นเท็จ
#นี่ไม่ใช่เนื้อเพลงฉ่อยนะ”

วันเดียวกันนี้ ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม สอนพิเศษด้านปรัชญาการเมือง ก็โพสต์ข้อความสอดรับกันว่า

“คิดถึงคนหาเช้ากินค่ำ หยุดเบียดบังคนที่เดือดร้อน 5,000 บาท สำหรับบางคนอาจจะเป็นแค่ค่าเหล้ายาปลาปิ้ง หรือ สันทนาการ แต่สำหรับคนอีกจำนวนมาก 5,000 บาท มันคือ การต่อชีวิตของครอบครัวเขาได้ทั้งเดือน

หากใครก็ตามที่ลงทะเบียนรับ 5,000 บาทแล้ว เข้าข่ายไม่ได้เดือดร้อนจริง รวมถึงนำมาโพสต์อวดหรือเย้ยเพื่อด่าการทำงานรัฐบาล เอามัน เอาสะใจ โดยไม่คิดว่าการกระทำของตนนั้น ได้ไปเบียดเบียนคนหาเช้ากินค่ำผู้เดือดร้อนอีกมาก

บุคคลเหล่านั้น ก็สมควรจะถูกดำเนินคดี!! และหากผู้มีอำนาจหรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ พบเห็นคนเหล่านี้ โพสต์เย้ยกันในโลกออนไลน์ (อย่างไม่กลัวกฎหมายและศีลธรรมใดๆ) แต่นิ่งเฉย และไม่มีการดำเนินคดีความ ก็ควรระวังตัวไว้ว่าวันหนึ่งประชาชนจะหมดความไว้วางใจให้ท่านมาบริหารบ้านเมือง หรือรับผิดชอบในหน้าที่ดังกล่าวนะครับ”

ขณะที่ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เชื่อว่า การลงทะเบียนเพื่อรับเงิน 5 พันบาท ด้วยการกรอกข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ถึง 20 ล้านคน แน่นอนย่อมมีคนกรอกข้อความเท็จ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ อีกทั้งเป็นการเอาเปรียบคนที่เดือดร้อนจริงๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่า

ตนเห็นว่า ผู้กรอกข้อมูลเท็จนอกจากน่าจะเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) กับฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตาม ป.อ.มาตรา 137 แล้ว น่าจะมีความผิดฐานฉ้อโกง เพราะมีเจตนาหลอกลวงผู้อื่นด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยทุจริต ทำให้ได้ประโยชน์ทางทรัพย์สินไปจากผู้ถูกหลอกคือรัฐ มีโทษจำคุกถึง 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนต้องสอบให้ได้ข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบความผิดจนสิ้นกระแสความ แล้วรีบส่งสำนวนให้อัยการฟ้องโดยเร็ว

ในส่วนของอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิ์ ยังให้บริการปรึกษาแก่ประชาชนฟรีทั่วประเทศ ใครสงสัยเรื่องสิทธิ์ให้ไปพบได้ ที่ตนลงไปรับฟังข้อมูลพบว่า ผู้ร้องบางรายเป็นแม่ค้ามีข้อพิพาทกับเจ้าของสถานที่ ขอลดค่าเช่าช่วงโควิดที่ขายของไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชน ซึ่งจะลดให้หรือไม่ต้องคุยกันเอง แต่หากเป็นร้านเช่าในห้าง ห้างปิด เพราะรัฐมีมาตรการช่วงโควิด ขาดรายได้ จึงมาปรึกษาอัยการ กลุ่มนี้ขอรับเงินช่วยเหลือได้

ด้าน นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท ในวันแรก ว่า ทุกอย่างเรียบร้อยดี พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและผ่านหลักเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ต่างดีใจที่ได้เงินไปจับจ่ายใช้สอยในยามเดือดร้อน

ส่วนกรณีหญิงสาวคนหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊ก ว่า เงินเข้าแล้ว 5,000 บาท และเงิน 5,000 บาท เป็นเพียงเศษเงินหลังตู้เย็น กันพาประเทศต่อสู้กับโควิด-19 อย่าพยายามสร้างความวุ่นวายบนความทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชน และอยากจะขอร้องคนที่รู้ว่าไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับเงินเยียวยา แต่ไปลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์ด้วยว่า ขอให้ไปยกเลิก ขอให้เห็นใจคนที่เดือดร้อนจริงๆ อย่าเบียดบังคนที่เดือดร้อนเลย เพราะกระทรวงการคลังเองก็ไม่อยากเอาผิดพี่น้องประชาชน”...

ประเด็นที่น่าตอกย้ำให้เห็น ก็คือ อย่าลืมว่า วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้เกิดขึ้นในท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองอันแหลมคม ระหว่างฝ่ายค้าน ซึ่งแย่งชิงอำนาจกับรัฐบาลมาก่อน กับ ฝ่ายแค้น ที่ไม่ยอมรับ และต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจ “คสช.” อยู่แล้ว ซึ่งการต่อสู้ที่ถูกโควิด-19 เข้ามาแทรกนั้น ย่อมทำให้ทั้งพรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายแค้น ตกอยู่ในภาวะอารมณ์ค้างจุกอก

เมื่อเป็นเช่นนี้ การแสดงออกของคนเหล่านี้ จึงขวางโลก รัฐบาลทำอะไร ก็ตามวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบไปหมด ไม่สนใจกระแสเรียกร้องจากสังคมให้ร่วมมือกัน ไม่สนว่า อยู่ในภาวะวิกฤตโควิด อย่างที่เห็นและเป็นอยู่...

ปัญหาคือ เขาเป็นคนไทย อย่างที่หลายคนแสดงความคิดเห็นมาก่อนแล้ว ดังนั้น รัฐบาลต้องใจเย็น ใจใหญ่ และใจกว้าง เพื่อเป้าหมายที่แท้จริง นั่นคือ นำพาประเทศ และประชาชนส่วนใหญ่ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้

ถ้าทำได้ ชัยชนะย่อมเป็นของคนส่วนใหญ่อยู่ดี ถึงตอนนั้น คนส่วนน้อยอาจเป็นได้แค่เสียงที่น่ารำคาญของสังคมส่วนใหญ่เท่านั้นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น