“ดรามา 5 พัน” ประชด “ลุงตู่” ว่อนเน็ต ดร.สุวินัย โกรธจัด “หมอวรงค์” ให้รัฐบาลใจใหญ่ คนคิดต่างก็คนไทย ด้าน “ชาวเน็ต” ทั้งแฉ ทั้งแชร์ วิจารณ์สนั่นออนไลน์ ที่สำคัญบางคนเห็นว่า นี่เป็นเงินที่คนเดือดร้อนจริงควรจะได้
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (8 เม.ย. 63) เฟซบุ๊ก Suvinai Pornavalai ของ รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์ฯ สถาบันทิศทางไทย โพสต์หัวข้อ “ทำให้เงินสด 5,000 ของประชาชนมีค่าสูงสุดจริงๆ”
โดยเนื้อหาระบุว่า “แม้สังคมจะมีคำถามว่า ทำไมรัฐบาลจึงเลือกที่จะขยายสิทธิ 5,000 บาท เป็น 6 เดือน แทนที่จะขยายจำนวนผู้ได้รับสิทธิจาก 9 ล้านคน เป็น 18 ล้านคน เพื่อให้ทั่วถึงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม วันนี้จะเป็นวันแรกที่เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ล็อตแรกถึงมือประชาชน และหลายคนจำเป็นต้องใช้ให้พอในครอบครัวตลอดทั้งเดือน
วันนี้ผมเห็นโพสต์ของสตรีนางหนึ่งที่ได้รับเงิน 5,000 บาท แล้ว ผมรู้สึกฉุนขึ้นมาทันที
ผมโกรธสตรีนางนี้มากนะ นางไม่สมควรได้เงิน 5,000 บาทนี้เลย ไม่ทราบว่านางได้มาได้อย่างไรและด้วยเหตุผลใด
เงิน 5,000 บาทนี้ ควรให้แก่คนที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น และเห็นคุณค่าของเงินจำนวนนี้ที่จะต่อชีวิตของผู้นั้นและครอบครัวของผู้นั้นได้
ผมโกรธจัดนะ โกรธแบบที่ไม่เคยโกรธแบบนี้มานานมากแล้ว”
ไม่เพียงเท่านั้น เฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ของ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ก็โพสต์เกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน หัวข้อ “รัฐบาลต้องใจใหญ่”
โดยระบุว่า... “5 พันเข้าบัญชีแล้วค่ะ ก็แค่เศษเงินหลังตู้เย็น เหอะ!!!”
ข้อความดังกล่าว ถูกแชร์ วิพากษ์วิจารณ์กันมากในโลกโซเชียล
สำหรับประชาชนธรรมดา ใครจะคิดอะไร ก็ไม่เป็นไร เพราะต่างคนต่างความคิด พื้นฐาน และอาชีพก็ต่างกัน
สำหรับรัฐบาล ต้องใจใหญ่ อย่าไปสนใจ เพราะรัฐบาลต้องดูแลประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม แม้จะมีคำพูดถากถาง ก็อย่าหวั่นไหว เพราะเขาคือคนไทย
ถ้าคนไทยคนไหนเข้าเกณฑ์ที่กำหนด เป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องดูแล และต้องดูแลให้ดีที่สุด
ทั้งนี้ เนื่องจากวันนี้เป็นวันแรกที่เงินเยียวยา 5,000 บาท จะเข้าบัญชีของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของโควิด-19 แต่เกิดดรามา จนแฮชแท็กทะลุอันดับ 1 ในทวิตเตอร์
เรื่องของเรื่องปรากฏว่า หญิงสาวคนหนึ่งซึ่งมีภาพใช้ชีวิตกินหรู อยู่แพง ได้โพสต์ข้อความว่า “5 พันเข้าบัญชีแล้วค่ะ ก็แค่เศษเงินหลังตู้เย็น” พร้อมข้อความว่า “เงินลุงตูบเข้ามะกี้นิ” นำมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงการได้รับเงินของหญิงคนนี้
อย่างไรก็ตาม เวลาต่อมาโพสต์ดังกล่าวได้ลบออกไป พร้อมกับข้อความแก้ต่าง ว่า แค่โพสต์ประชด พร้อมระบุว่า เงิน 5 พันจะช่วยอะไรได้บ้างกับคนที่ถูกล็อกดาวน์ ต้องจ่ายค่าเช่า มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ไม่ได้โพสต์อวดรวย แค่โพสต์ประชด
นอกจากนี้ จากการที่ชาวเน็ตเข้าไปสำรวจในเฟซบุ๊กของเธอ พบว่ามักจะโพสต์ภาพไลฟ์สไตล์ชอปปิ้งของแบรนด์เนม ทานอาหารหรู และท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่เสมอ
ซึ่งชาวโซเชียลส่วนใหญ่ต่างระบุว่า รับไม่ได้กับเรื่องที่เกิดขึ้น โดยมองว่า เงินจำนวนดังกล่าว ควรจะเป็นผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ เท่านั้นที่ควรได้รับ พร้อมสอบถามไปถึงมาตรการการคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเยียวยา และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบด่วน
ที่น่าสนใจ นอกจากประเด็น “ดรามา” ที่เกิดขึ้นแล้ว สำหรับมาตรการเยียวยาครั้งนี้ ยังถูกส.ส.พรรคการเมืองฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์อย่างสูงด้วย
โดยเฉพาะ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า
ตอกย้ำ
#คนไม่เท่ากัน #สังคมเหลื่อมล้ำ
#ไหนว่าจะไม่ทิ้งกัน
ความจริงแล้วรัฐมีความสามารถดูแลและเยียวยาประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่เพียงแค่การแจกเงิน แต่รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดระยะเวลาที่เกิดไวรัสโควิด-19 ระบาด ประชาชนกระเสือกกระสนเอาชีวิตรอด ตั้งแต่หาซื้อหน้ากากอนามัยในราคาที่สูงด้วยตัวเอง แบกรับภาระทุกอย่างทั้งที่รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือ
จนกระทั่งมีการเปิดให้ลงทะเบียน ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อให้ประชาชนรับเงินเยียวยา แค่ขั้นตอนการขอรับเงินเยียวยาก็เหลื่อมล้ำมากๆ แล้ว ใครไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่มีอินเทอร์เน็ตก็เข้าไม่ถึงมาตรการดังกล่าว หรือบ้างคนถึงขั้นต้องลงทุนในความเสี่ยงกับมาตรการรัฐ คือ จ้างข้างบ้านที่พอลงทะเบียนเป็นลงให้ 100฿-500฿ เพื่อหวังจะได้รับการช่วยเหลือ ต้องหาทางพยายาม เนื่องจากภาครัฐคิดการช่วยเหลือแบบสะดวกรัฐ ประชาลำบาก
จนกระทั่งวันนี้ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ประเมินว่า จะมีผู้ได้รับสิทธิ์ 5,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน ไม่เกิน 8 ล้านคน จากจำนวนผู้มาลงทะเบียนทั้งหมดล่าสุดที่ 24.5 ล้านคน ทำให้คนที่มาลงทะเบียนทั้งหมด จะมีคนไม่ได้รับเงินมากกว่าคนที่ได้รับเงิน
โดยวันที่ 8-10 เม.ย. ระบบจะเริ่มส่งเอสเอ็มเอสให้ผู้ที่ได้รับเงินประมาณ 1.6 ล้านคน ซึ่งเอสเอ็มเอสจะได้รับพร้อมกับเงิน 5,000 บาท แรกซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาชีพรับจ้าง กับค้าขาย และ 4 อาชีพหลัก คือ แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ ผู้ค้าสลากฯ และ มัคคุเทศก์ และเปิดเผยว่า อาจมีผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติในรอบแรก คาดว่าจะมีมากกว่าครึ่ง”
ผมในฐานะตัวแทนของประชาชนอยากถามกลับไปยังผู้เกี่ยวข้องดังๆ ว่า ท่านใช้มาตรฐานใดในการตัดสินปัญหาภาระของประชาชน ทั้งที่สิ่งเหล่านี้คือหน้าที่รัฐบาล #ไหนว่าจะไม่ทิ้งกัน ไงครับ
วันนี้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ต้องได้รับผลกระทบไปทั้งหมด แล้ววันนี้ท่านคิดอย่างไร ช่วยกันส่งเสียงประชาชน
#ไหนว่าจะไม่ทิ้งกัน
แน่นอน, สิ่งที่ “หมอวรงค์” เตือนให้รัฐบาลใจใหญ่เข้าไว้ รับฟังทุกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ให้ได้ แต่ก็มีหน้าที่ที่จะใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบรอบด้านถึงคนที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง ที่ควรจะได้รับเงินเยียวยาดังกล่าว
แต่อีกด้านหนึ่ง โพสต์ของ ส.ส.พรรคก้าวไกล ก็ใช่ว่าจะไม่มีเหตุผล ซึ่งรัฐบาลน่าจะนำมาทบทวนเช่นกัน เพราะอย่าลืมว่า วิกฤตครั้งนี้มีผู้เดือดร้อนจำนวนมากครึ่งค่อนประเทศ การเลือกเยียวยาเฉพาะส่วน หรือจำนวนจำกัด อาจนำไปสู่ความได้เปรียบเสียเปรียบ เหลื่อมล้ำทางสังคมเกิดขึ้นได้จริง
ที่สำคัญ คนที่ไม่ควรได้แต่กลับได้ แต่คนที่ควรได้แต่กลับไม่ได้ อย่างที่มีดรามาเกิดขึ้นจะแก้อย่างไร เชื่อว่า คงไม่มีเพียงคนเดียว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเงื่อนไขการเยียวยามีปัญหา และมีช่องโหว่อย่างเห็นได้ชัด
อย่างนี้แล้ว แทนที่จะเป็นมาตรการที่ดี อาจกลายเป็นมาตรการที่ซ้ำเติมประชาชน และสังคม ให้รู้สึกเศร้า ห่อเหี่ยวใจ จากที่ต้องระวังโรคอยู่แล้วด้วย นี่ยังไม่นับความขัดแย้งแตกแยกในสังคมที่อาจก่อหวอดขึ้นได้เช่นกัน
นี่คืองานหนักอีกงานที่รัฐบาลจะดูเบาปัญหาไม่ได้แม้แต่นิดเดียว ไม่เช่นนั้น ความรู้สึกประชาชน อาจน่ากลัวกว่า “โควิด-19” เสียอีก ไม่เชื่อคอยดู!!!