ทีมโฆษกศาลปกครอง เรียงหน้าแถลงห่วงปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย ย้ำเป็นหน้าที่รัฐต้องป้องกันโรคระบาด ส่วนประชาชน-บุคลากรทางการแพทย์ฟ้องได้หรือไม่ ต้องดูรายละเอียด
วันนี้ (10 มี.ค.) ทีมโฆษกศาลปกครอง นำโดยนายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ในฐานะโฆษกศาลปกครอง, นายวชิระ ชอบแต่ง รองอธิบดีศาลปกครองกลาง และ น.ส.สายทิพย์ สุคติพันธ์ รองอธิบดีศาลปกครองชั้นต้นประจำศาลปกครองสูงสุด ในฐานะรองโฆษกศาลปกครอง กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 และปัญหาประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนหน้ากากอนามัย ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาการฟ้องนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข หรืออธิบดีกรมควบคุมโรค ฐานละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติต่อศาลปกครองได้
โดยนายประวิตรกล่าวถึงลักษณะการใช้สิทธิฟ้องคดีว่า กฎหมายกำหนดให้กระทรวงสาธารณสุข และกรมควบคุมโรค มีหน้าที่ทั่วไปในป้องกันและควบคุมโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดภาวะโรคระบาด และกรมควบคุมโรคได้มีประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตราย ก็ยิ่งย้ำถึงหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดการป้องกันและควบคุม หากประชาชนหรือบุคลากรทางการแพทย์ฟ้องคดีเข้ามาศาลก็จะต้องพิจารณาว่าเป็นคดีที่ศาลมีอำนาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้หรือไม่ ผู้ถูกฟ้องมีหน้าที่เรื่องหน้ากากอนามัยหรือไม่ หรือเป็นเรื่องของหน่วยงานใด นอกจากนี้ ต้องพิจารณาว่าเป็นหน้าที่โดยตรงในเรื่องดังกล่าว หรือเป็นเรื่องทางนโยบาย หากสามารถรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้จึงจะเข้าไปพิจารณาเนื้อหาแห่งคดีต่อไปว่ามีการละเลยต่อหน้าที่หรือไม่
ด้าน น.ส.สายทิพย์กล่าวว่า หากเป็นในสถานการณ์ปกติ การจัดหาหน้ากากอนามัยอาจจะไม่ใช่บริการสาธารณะที่รัฐจะต้องจัดสำหรับทุกคน หน้ากากอนามัยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นการใช้เพื่อป้องกันการติดต่อของโรค ดังนั้น ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติที่ไม่ได้มีโรคติดต่อร้ายแรง หน้ากากอนามัยก็ถือเป็นสินค้าชนิดหนึ่งซึ่งผลิตมาแล้วก็จัดขายไปในระบบของธุรกิจทั่วไป แต่เมื่อเป็นสถานการณ์พิเศษที่มีโรคติดต่ออันตรายเกิดขึ้น ตรงนี้หน้าที่ของการจัดหา Medical Supply ทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเพียงหน้ากากอนามัย แต่หมายถึงชุดอุปกรณ์เครื่องมือ-เวชภัณฑ์ทั้งหมดต้องถือว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการป้องกันโรคที่จะต้องตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องจัดหาให้เพียงพอ อย่างน้อยก็สำหรับบุคคลากรซึ่งทำหน้าที่อยู่ เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่การใช้กลไกทางกฎหมายโดยตรงทั้งหมด แต่เป็นเรื่องในทางนโยบายและบริหารจัดการของหน่วยงานที่รับผิดชอบ หากเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติภารกิจป้องกันหรือให้การรักษาโรคติดต่อร้ายแรงแล้วจะต้องจัดหาวัสดุอุปกรณ์อะไรบ้างสำหรับใช้ในภาวะเช่นนี้
“หากมองในมิติของการบริหารภาครัฐ ก็เป็นหน้าที่ตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขที่จะจัดหาให้โรงพยาบาลที่เป็นหน่วยงานที่ทำบริการสาธารณะของตัวเองให้มีอุปกรณ์ที่จำเป็นขั้นพื้นฐานเพียงพอ อย่างน้อยก็ตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ ส่วนตัวเห็นว่าสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ที่มีความเสี่ยงสูง เขาจะต้องได้รับการจัดให้มีวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็น หน่วยงานต้นสังกัดของเขามีหน้าที่จะต้องจัดให้มีวัสดุอุปกรณ์เหล่านั้นเพื่อให้บุคลากรทำงานอยู่ในสภาพการทำงานที่มีความปลอดภัย เหมือนกับกรณีโรงงานอุตสาหกรรมที่จะต้องมีการกำหนดมาตรฐานในงานบางประเภทซึ่งต้องมีอุปกรณ์เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานปลอดภัย อันนี้ก็เช่นเดียวกันหมอหรือบุคลากรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันโรคซึ่งเป็นหน้าที่ที่มีความเสี่ยง กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่เป็นต้นสังกัด มีหน้าที่ต้องจัดหาให้เขามีวัสดุอุปกรณ์ที่จะช่วยให้เขาทำงานในสภาพการทำงานที่ปลอดภัย”
ด้านนายวชิระมองว่า หากถือว่าเรื่องนี้เป็นส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดทำบริการสาธารณะในเรื่องการสาธารณสุข การจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งไม่เฉพาะแต่หน้ากากอนามัยเท่านั้น แต่รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ อีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลไว้ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ จึงถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดหาสิ่งเหล่านี้ให้โดยรีบด่วน เพียงพอและทันต่อสถานการณ์