อดีต ปธ.แผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ยื่นคำร้องศาล รธน.วินิจฉัยการกระทำ ปธ.ศาลฎีกา สั่งพ้นราชการมิชอบขัด รธน.มาตรา 6 มาตรา 190 ชี้ สลค.ท้วง 2 ครั้งไม่ฟัง เตือนนายกฯรับสนองพระบรมราชโองการ หวั่นต้องรับผิดชอบกับเรื่องที่ผิด
วันนี้ (9 มี.ค.) นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยการกระทำของประธานศาลฎีกา ที่ออกคำสั่งให้พ้นจากราชการรับบำเหน็จบำนาญ ว่า เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และการที่นำการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมายขึ้นกราบบังคมทูลฯ เพื่อให้ทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากราชการเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 หรือไม่ รวมทั้งวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ 2543 ที่ไม่ให้สิทธิผู้พิพากษาอุทธรณ์คำสั่งคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ต่อองค์กรอิสระอื่นได้ขัดต่อหลักศักดิ์ศรีความเป็นมุนษย์ และมาตรา 47 (6) พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 ที่ห้ามไม่ให้การกระทำที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของ ก.ต. เป็นเรื่องละเมิดสิทธิที่ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
นายชำนาญ กล่าวว่า ปกติข้าราชการตุลาการจะเกษียณอายุ 70 ปี ตอนนี้ตนอายุ 65 ปี ยังไม่ 70 ประธานกลับมีคำสั่งให้ตนพ้นจากราชการโดยมีผลนับแต่วันที่ 27 พ.ย. 62 เป็นคำสั่งที่ไม่มีกฎหมายรองรับให้ทำการที่รัฐธรรมนูญมาตรา 190 บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและให้ผู้พิพากษาและตุลาการพ้นจากตำแหน่ง” นั้น มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในทางส่วนตัว เพื่อให้ผู้พิพากษามั่นใจได้ว่า การแต่งตั้งโยกย้าย และการให้พ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากราชการ ต้องเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เนื่องจากต้องนำความกราบบังคมทูลฯพระมหากษัตริย์ ดังนั้น กรณีนี้ประธานศาลฎีกาจึงไม่อาจนำการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดกล้าโปรดกระหม่อมได้
นอกจากนี้ กรณีดังกล่าว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ยังเคยทักท้วงมาถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกทักท้วงว่า กรณีการให้ตนพ้นจากราชการดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการนำความกราบบังคมทูลฯเพื่อทรงทราบ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และส่งเรื่องคืนสำนักงานศาลยุติธรรม ส่วนครั้งที่ 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือถึงสำนักงานศาลยุติธรรม ว่า ถามว่าจะให้ตนพ้นจากราชการตามกฎหมายมาตราใด
“ประธานศาลฎีกา บอกว่า พ้นโดยปริยาย ตามกฎหมายมันไม่มี หน่วยงานอื่นจะให้ลูกจ้างสักคนออกจากตำแหน่ง ยังต้องมีกฎหมาย นี่จะให้ผู้พิพากษาพ้นจากตำแหน่งก่อนครบอายุ 70 ปี โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจเลยจะทำได้อย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ คนลงนามสนองพระบรมราชโองการ คือ ท่านนายกรัฐมนตรี ฉะนั้น ถ้าหากมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แล้วมีการนำความขึ้นกราบบังคมทูลผู้รับสนองพระบรมราชโองการก็ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นด้วย” นายชำนาญ กล่าวและว่า การที่ประธานศาลฎีกายืนยันให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พ้นจากราชการ ทั้งที่มีข้อทักท้วงของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีถึง 2 ครั้ง ถือเป็นการจงใจกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของประธานศาลฎีกาที่ออกคำสั่งให้ตนพ้นจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญ เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 32 และการที่นำความกราบบังคมทูลเพื่อให้ทรงมีพระบรมราชโองการให้นายชำนาญพ้นจากราชการ โดยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6