“โรม” เผย กมธ.ศึกษาแนวทางแก้ไข รธน.เดินหน้ารับฟังความเห็นประชาชนกลุ่มต่างๆ รวมถึงนักศึกษา ประสานสภาฯ คัดกรองไวรัสโควิด-19 เชื่อมีทรัพยากรเพียงพอดูแล ไม่ต้องลำบาก สธ.
วันนี้ (6 มี.ค.) คณะอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 มีข้อสรุปร่วมกันเดินหน้าจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชน โดยนายรังสิมันต์ โรม โฆษกคณะกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการฯ จะส่งตัวแทนรับฟังความคิดเห็นประชาชนในวันที่ 7 มีนาคมนี้ ที่ห้องประชุมกาสะลอง วิทยาลัยการจัดการและพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้สนใจลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ Constitution60.parliament.go.th ไลน์ @constitution60 เพื่อเข้าให้ความเห็น โดยจัดโดยวันที่ 9 มีนาคม รับฟังความเห็นกลุ่มผู้พิการ ตั้งแต่เวลา 13.00-16.00 น., วันที่ 10 มีนาคม รับฟังความเห็นกลุ่มประชาสังคม เวลา 09.00-12.00 น. และกลุ่มสตรี เวลา 13.00-16.00 น., วันที่ 11 มีนาคม รับฟังความเห็นกลุ่มแรงงาน เวลา 09.00-12.00 น., วันที่ 18 มีนาคม รับฟังความเห็นกลุ่มผู้สูงอายุ เวลา 09.00-12.00 น., วันที่ 19 มีนาคม รับฟังความเห็นกลุ่มพรรคการเมือง เวลา 13.30-16.00 น. และวันที่ 24 มีนาคม รับฟังความเห็นกลุ่มชาติพันธุ์ เวลา 13.00-16.00 น.
นายรังสิมันต์กล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการยังจัดเวทีรับฟังความเห็นจากคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช. ในวันที่ 13 มีนาคม เวลา 11.00 น. ขณะที่นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการ เปิดเผยว่า ช่วงบ่ายจะมีการเปิดรับฟังความเห็นจากตัวแทนนักศึกษาร่วม 100 คน ขณะนี้ได้ประสานไปยังองค์การนักศึกษา สโมสรนักศึกษา และสภานักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัย รวมถึงกลุ่มที่ทำกิจกรรมทางการเมืองในขณะนี้ด้วย
ส่วนการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระหว่างการรับฟังความเห็นประชาชน นายรังสิมันต์กล่าวว่า จะมีการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการป้องกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนที่มาร่วมกิจกรรม โดยมีการคัดกรองตรวจหาโรคก่อน มีหน้ากากอนามัยให้ เพิ่มความมั่นใจไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด ส่วนเวทีรับฟังความเห็นที่จังหวัดพิษณุโลกก็ไม่ได้เป็นเวทีใหญ่มาก คาดว่ามีผู้เข้าร่วมประมาณ 60 คน ส่วนจำเป็นต้องประสานกับกระทรวงสาธารณสุขให้เข้ามาดูแลหรือไม่ นายรังสิมันต์ยังเชื่อว่าสภาฯ ยังมีทรัพยากรเพียงพอที่จะดูแลได้
ส่วนความคืบหน้าการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ นายรังสิมันต์กล่าวว่า การพิจารณาเนื้อหาเป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมาธิการศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น ซึ่งคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาเนื้อหาเรื่อง ส.ว.ซึ่งจะมีความชัดเจนมากขึ้นสัปดาห์หน้า