กมธ.ศึกษาแนวทางแก้ รธน.ถกแนวทางประชาสัมพันธ์-รับฟังความเห็น “โรม” เสนอทำผ่านออนไลน์-โซเชียลมีเดีย-จัดเวทีภูมิภาค “ไพบูลย์” ติงต้องเปิดเผยตรวจสอบได้ “พีระพันธุ์” แนะต้องไม่ชี้นำสร้างความขัดแย้งหรือเน้นการเมืองอย่างเดียว “ชินวรณ์” หนุนตั้งอนุฯ รับฟัง หากตกลงกันไม่ได้ ให้ประชุมนอกสถานที่หาจุดร่วม
วันนี้ (17 ม.ค.) คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 สภาผู้แทนราษฎร ประชุมครั้งที่ 3 เพื่อพิจารณาแนวทางการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานกรรมาธิการฯ สอบถามเจ้าหน้าที่ประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีงบประมาณสำหรับการดำเนินการต่างๆ เป็นจำนวนเท่าไหร่ โดยเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาฯ ทุกคนในสภามีงบประมาณสำหรับการดำเนินการรวมกัน 5 ล้านบาท โดยไม่ได้มีการกำหนดว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญแต่ละคณะจะได้สัดส่วนงบประมาณอย่างไร ขณะที่ทีมโฆษกได้นำเสนอเอกสารที่เป็นแนวทางการรับฟังความคิดเห็นต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ โดยสรุปว่า แผนการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็น มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ 1. เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอของประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคมเกี่ยวกับปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และ 3. เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์การดำเนินการ รวมทั้งผลการดำเนินการของคณะกรรมาธิการให้ประขาชนรับทราบเป็นระยะ
นางรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ นำเสนอการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย 3 วิธีการ คือ Online ผ่านเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย On Air การประชาสัมพันธ์ผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์ และ On Ground คือการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามภูมิภาคต่างๆ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองประธานกรรมาธิการ เสนอว่า การรับฟังความคิดเห็นต้องมีระบบ เปิดเผย และตรวจสอบได้ ไม่ต้องการให้พึ่งโซเชียลมีเดียเพียงอย่างเดียวเนื่องจากเสียงในโลกออนไลน์ไม่สามารถแทนเสียงของคนไทยทั้งประเทศได้
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แสดงความคิดเห็นถึงกรรมาธิการบางคนที่กังวลว่าการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจะสร้างความขัดแย้งในสังคมว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีคนที่เห็นต่างกัน 2 กลุ่มอยู่แล้ว คือ เห็นว่าควรแก้ กับเห็นว่าไม่ควรแก้ ดังนั้น ในเวทีรับฟังความคิดเห็นย่อมมีคนที่เห็นต่างกันมาร่วมแสดงความเห็น แต่หากไม่ดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่เปิดเวทีรับฟังความเห็น แล้วปล่อยทิ้งไว้ย่อมจะเกิดความขัดแย้งในสังคมในอนาคตมากกว่า
ขณะที่นายพีระพันธุ์กล่าวว่า กรรมาธิการมีความเห็นเหมือนกันคือการแก้รัฐธรรมนูญ แต่แค่ต้องไม่ไปชี้นำว่าต้องแก้ไปในทิศทางไหน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมุ่งเป้าไปที่การเมืองและการปกครองประเทศอย่างเดียว แต่ต้องมุ่งไปที่การเพิ่มโอกาส ให้สิทธิ และความเท่าเทียม ให้ประชาชนรู้สึกว่าได้อะไร เพื่อให้ประชาชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของร่วม และอย่างเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เช่นเดียวกับนายทวี สอดส่อง นำเสนอ
นายรังสิมันต์เสนอว่า ให้มีการตั้งอนุกรรมาธิการ 2 ชุด คือ อนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็น และอนุกรรมาธิการศึกษาการใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และคาดว่าจะได้ผลลัพธ์ในช่วงเดือนเมษายน
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เห็นด้วยกับการตั้งอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็น โดยแบ่งออกเป็นการรับฟังความเห็นในประเด็นทั่วไป และประเด็นเฉพาะ แต่อย่างไรก็ตาม หากการคุยกันใน กมธ.มีความไม่ลงตัวระหว่างสองฝ่าย อาจจะมีการนัดประชุมนอกสถานที่หรือพูดคุยกันนอกรอบเพื่อปรับความเข้าใจว่าจุดร่วมคือตรงไหน หรือถอยตรงไหน ให้สามารถเดินต่อไปได้