ประชุม กมธ.แก้ รธน.ถกปมแฟลชม็อบ จ่อดึงร่วมแสดงความเห็น เผย 5 มหา'ลัยเลื่อนจัดเวทีรอโควิดสงบ เสียงแตกดึง นศ.เป็นอนุ กมธ. หวั่นกระทบการสอบ ถูกมองใช้เป็นเครื่องมือ ด้านเสียงส่วนใหญ่เห็นควรให้ที่มานายกฯ กลับเป็นแบบเดิม
วันนี้ (5 มี.ค.) ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับแนวทางการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
ทั้งนี้ ในช่วงแรกปรากฏว่าที่ประชุมได้หยิบยกกรณีการชุมนุมของนักศึกษาตามมหาวิทยาลัย จึงเห็นว่าควรที่จะให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนญ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษา
นายพีระพันธุ์กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการชุมนุมของนักศึกษา จึงต้องการที่จะให้มีคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาในเรื่องนี้ซึ่งเราก็มีคณะอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นที่มีนายวัฒนา เมืองสุข เป็นประธานอยู่แล้ว และที่ผ่านมาคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ได้เตรียมการจะระดมความคิดเห็นด้วยการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัย 5 แห่งทั่วประเทศ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทำให้มหาวิทยาลัยมีหนังสือตอบกลับมาว่าขอให้เลื่อนการจัดเวทีดังกล่าวออกไป เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาด ดังนั้น ในที่ประชุมวันนี้จะต้องหารือรูปแบบที่จะให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
ด้านนายวัฒนากล่าวยืนยันว่าทางมหาวิทยาลัยทั้ง 5 แห่งได้มีหนังสือตอบกลับมาว่าขอเลื่อนการจัดเวทีออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลายลง ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการฯจะไปหารือกันอีกครั้งเพื่อนำมาเสนอต่อที่ประชุมต่อไป โดยเห็นว่าหากจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นก็ควรจะใช้สถานที่ของรัฐสภา เพราะสามารถควบคุมและคัดครองบุคคลได้ดีที่สุด ขณะเดียวกัน เราจะเปิดให้แสดงความคิดเห็นผ่านทางระบบออนไลน์อยู่แล้ว
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่า ควรเร่งจัดเวทีเพื่อทำความเข้าใจกับนักศึกษาเพื่อไม่ให้บานปลาย โดยคิดว่าควรเชิญมาพูดเป็นกลุ่มๆ เมื่อได้ข้อสรุปอย่างไรก็จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ต่อไป
จากนั้นนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เสนอให้ที่ประชุมตั้งคณะอนุกรรมาธิการอีกหนึ่งคณะ เพื่อทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็นจากนักศึกษาโดยเฉพาะ โดยจะตัวนักศึกษาเข้ามาเป็นอนุกรรมาธิการด้วย ทั้งนี้ นักศึกษาที่จะเข้ามาเป็นอนุกรรมาธิการจะต้องเป็นบุคคลที่สนใจเรื่องการเมืองการปกครอง ไม่ใช่แค่เก่งแต่ไฮด์ปาร์ก และที่เสนอเช่นนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดแรงกดดันทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ภายหลังนายไพบูลย์เสนอตั้งคณะอนุกรรมาธิการชุดดังกล่าว ปรากฎว่ากรรมาธิการในสัดส่วนฝ่ายค้านหลายคนไม่เห็นด้วย โดยนายชัยธวัช ตุลาธน อดีตรองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ เนื่องจากเวลาการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญใกล้สิ้นสุดลงในช่วงกลางเดือน เม.ย. อีกทั้งช่วงนี้เป็นช่วงที่นักศึกษากำลังสอบปลายภาค อาจทำให้นักศึกษาไม่สามารถมาร่วมได้เต็มที่ ดังนั้น ที่สุดแล้วคณะกรรมาธิการวิสามัญต้องพิจารณาก่อนว่าโจทย์และความต้องการกลุ่มนักศึกษาคืออะไรก่อนที่เราจะไปหาพวกเขา
เช่นเดียวกับนายชำนาญ จันทร์เรือง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่นักศึกษาอาจจะไม่มาร่วมเป็นอนุกรรมาธิการ ดังนั้น เราต้องเผื่อแนวทางการรับฟังความคิดเห็นรูปแบบอื่นด้วย ที่สำคัญที่สุดคือ คณะกรรมาธิการต้องแสดงความจริงใจในการดำเนินการ เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าที่เราเพราะเราต้องการลดสถานการณ์ และอย่าให้เขารู้สึกว่าอาศัยเขาเป็นเครื่องมือ
นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า เราต้องพิจารณากลุ่มนักศึกษาออกให้ดีๆ ซึ่งส่วนตัวมองว่ามีด้วยสองกลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวและแสดงความคิดเห็น และ 2. กลุ่มที่ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็น ดังนั้น การทำงานรับฟังความคิดเห็นจะต้องครอบคลุมนักศึกษาทั้งสองกลุ่มนี้ : กลุ่มที่ต้องการทุกอย่าง และอีกกลุ่มเป็นกลุ่มที่ไม่พูด กลุ่มยังไม่ได้พูดออกมา เราต้องตอบสนองนักศึกษาทั้งสองกลุ่มนี้ด้วย
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่ออดีตพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไป เพราะกลุ่มที่มาชุมนุมก็ตระหนักเรื่องการแพร่ระบาดไม่แพ้เรื่องการเมือง อีกทั้งนักศึกษายุคนี้ไม่มีใครนำใคร เพราะถ้ามีผู้นำแล้วการเคลื่อนไหวคงไม่ได้เดินมาถึงจุดนี้ จึงคิดว่าคณะกรรมาธิการควรดำเนินการให้จัดเวทีฟังความคิดเห็นและเชิญมาแสดงความคิดเห็น
ด้านนายพีระพันธุ์กล่าวสรุปว่า ก่อนจะมีเหตุการณ์ชุมนุมของนักศึกษา คณะอนุกรรมาธิการได้เตรียมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากมหาวิทยาลัยและติดต่อประสานงานไว้แล้ว แต่มาเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสก่อนทำให้มหาวิทยาลัยที่เราขอประสานงานไปแจ้งกลับมายังคณะกรรมาธิการเพื่อเลื่อนการจัดงานออกไปก่อนชั่วคราว ดังนั้น ขอยืนยันว่าเราไม่ได้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของใคร
“เมื่อผมได้ยินว่าเขาแสดงความคิดเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญ จึงคิดว่าเมื่อสอดคล้องกับแนวทางการรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมาธิการวิสามญ คิดว่าถ้าเป็นไปได้ก็ให้วัฒนาประสานดู ยืนยันไม่มีเรื่องการเมืองข้างนอก แต่เป็นเรื่องที่เราเตรียมการไว้แล้วโดยแท้ ถ้าเขาอยากให้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการ ก็ตั้งให้ได้ แต่ถ้าไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ เราก็ไม่ต้องไปฝืน” นายพีระพันธุ์กล่าว พร้อมมอบหมายให้นายวัฒนาไปประสานงานกับนักศึกษาต่อไป
ด้านคณะอนุกรรมาธิการศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ร.ป. และกฎหมาย นำโดยนายนิกร จำนง ได้นำเสนอความคืบหน้าในการทำงานว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาในส่วนของคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับที่มาของนายกฯ ซึ่งที่ประชุมอนุกรรมาธิการฯ ส่วนใหญ่ให้กลับเป็นไปแบบเดิม คือ ให้มาจากการเลือกตั้งและต้องเป็น ส.ส. เพราะระบบปัจจุบันเป็นบทเฉพาะกาลซ่อนตัว จึงควรกลับไปใช้แบบเดิม
นายนิกรกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้มีความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี ซึ่งในบางประเด็นยังไม่ได้ข้อยุติ เช่น รัฐมนตรีควรเป็น ส.ส.ในเวลาเดียวกันได้หรือไม่ หรือต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับกาล้มล้างการปกครองไปจนถึงการต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จะให้หมายความร่วมถึงการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรด้วยหรือไม่ และที่สำคัญคือเรื่องการถวายสัตย์ของรัฐมนตรี มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าควรจะกล่าวคำถวายสัตย์ให้ครบถ้วนตามมาตรา 161 หรือไม่ และหากกล่าวไม่ครบถ้วนจะเกิดผลอย่างไร นอกจากนี้มีบางประเด็นที่สมควรให้มีการแก้ไข เช่น มาตรา 144 ว่าด้วยการให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง จากการปล่อยให้ ส.ส.เข้าไปมีส่วนในการใช้งบประมาณ โดยเห็นว่าการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่แทนรัฐมนตรีและนายกฯที่พ้นจากตำแหน่งเพราะกระทำความผิดตามมาตรานี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าอำนาจหน้าที่ของปลัดแต่ละกระทรวงจะมีขอบเขตอย่างไร
ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์มีข้อเสนอว่า รัฐธรรมนูญควรต้องให้อ่านได้ง่าย อ่านแล้วลื่น ไม่ใช่อ่านไปข้างหน้าแล้วต้องย้อนกลับมาอ่านด้านหลังอีก และรัฐธรรมนูญควรให้เกิดการทำงานได้ ที่สำคัญการพิจารณาใดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญจะต้องดูเจตนารมณ์เป็นหลักด้วย เช่น กรณีการถือหุ้น ถ้าจะเป็นความผิดก็ควรต้องถึงขนาดที่ที่ตำแหน่งนั้นเข้าไปมีผลหรือมีลักษณะเอื้อประโยชน์ เป็นต้น