“สุชาติ” หนุนเปิดสภาฯรับฟังปัญหา นร.-นศ. ส่วนจะเปิดสมัยวิสามัญ หรือรอถึงเดือน พ.ค.สมัยสามัญ ขึ้นอยู่กับ ส.ส.-ส.ว.เข้าชื่อ ชี้ข้อเรียกร้องปม “ไม่เท่าเทียม-แก้ รธน.” สภาทำอยู่แล้ว แต่ยินดีฟังความเห็นเพิ่มเติม แนะ ส.ส.-กมธ.ทำงานเชิงรุก แลกเปลี่ยนรับฟังเยาวชนของชาติ ประมวลผลรอบด้านก่อนเสนอสภาฯ ยินดี “ชวน” มอบคุม “วิป 3 ฝ่าย” มั่นใจคุยรัฐบาล-ฝ่ายค้านฉลุย
วันนี้ (5 มี.ค.) นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.บางส่วนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อรับฟังปัญหา และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อแก้ปัญหาการชุมนุมของกลุ่มนิสิต นักศึกษา และนักเรียนในขณะนี้ว่า เท่าที่ติดตามการชุมนุมของกลุ่มนิสิต นักศึกษา และนักเรียนหลายสถาบันทั่วประเทศ เห็นว่าข้อเรียกร้องส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม และมีข้อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นก็เป็นสิ่งที่สภาฯในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ และตัวแทนของประชาชนได้ริเริ่มดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการหารือและเสนอญัตติเกี่ยวกับการแก้ไขความเหลื่อมล้ำและความเท่าเทียมในสังคมหลายวาระ ตลอดจนการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี การดำเนินงานหลายเรื่องของสภาฯอาจไม่รับรู้ไปถึงกลุ่มนิสิต นักศึกษา และนักเรียน หรือยังมีข้อเสนอที่คิดว่านอกเหนือจากที่สภาฯดำเนินการอยู่แล้ว ก็สามารถเสนอผ่านกลไกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการยื่นเรื่องต่อประธานสภาฯ คณะ กมธ.ชุดต่างๆ หรือ ส.ส.ได้ทั้งสิ้น
ส่วนการเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อรับฟังปัญหานั้น นายสุชาติกล่าวว่า สามารถทำได้โดยรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในมาตรา 123 ว่า ส.ส.รวมทั้ง ส.ว.สามารถเข้าชื่อเสนอประธานรัฐสภาเพื่อขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ หากเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งตนและนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ รวมถึงนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ ก็มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่าพร้อมที่จะสนับสนุน เพราะมองว่าเป็นการเปิดเวทีเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มนิสิต นักศึกษา นักเรียน และประชาชน ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของสภาเช่นกัน อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่ยังไม่มีการความชัดเจนเรื่องเปิดประชุมสมัยวิสามัญนั้น สภาฯก็ยังมีกลไกทำงานเชิงรุก โดย ส.ส. และ กมธ.คณะต่างๆเข้าไปรับฟังปัญหาข้อเสนอแนะ และอาจนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ กมธ.ที่ยังคงประชุมอยู่ทุกสัปดาห์ เพื่อรวบรวมความคิดเห็น และข้อเสนอให้รอบด้าน แล้วจึงเสนอเป็นญัตติด่วนในช่วงเปิดประชุมสมัยสามัญเดือน พ.ค.นี้ก็ได้เช่นกัน
“เป็นเรื่องน่ายินดีที่เยาวชนของชาติมีความตื่นตัวทางการเมือง แต่ไม่ควรไปมองว่ามีวาระซ่อนเร้น หรือเป็นคู่ขัดแย้งใดๆ ต้องมองว่านิสิต นักศึกษา และนักเรียนที่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นเพียงผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างในบางประเด็น จึงควรจะมีเวทีในการรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อให้เข้าใจในทิศทางเดียวกันว่ารัฐบาล หรือรัฐสภา กำลังดำเนินการอะไรอยู่แล้วบ้าง ซึ่งสภาฯก็พร้อม เพราะเราเป็นสถานที่ถกเถียง ทะเลาะกันทางความคิด เพื่อหาข้อยุติหรือทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศชาติและประชาชนอยู่แล้ว แต่จะนำเรื่องเข้าในสมัยวิสามัญ หรือรอจนถึงเปิดสมัยสามัญเดือน พ.ค.นั้น ก็ขึ้นอยู่กับ ส.ส.และ ส.ว.จะเข้าชื่อได้ครบตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่” นายสุชาติระบุ
รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ได้รับมอบหมายจากนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯให้เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานร่วมสภาผู้แทนราษฎรว่า พร้อมรับหน้าที่ดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาการทำงานของสภาฯให้ราบรื่นยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาส่วนตัวก็ได้ช่วยประสานงานระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้านในบางกรณีอยู่แล้ว และก็มีความคุ้นเคยกันดีกับคณะกรรมการประสานงาน (วิป) ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยมองว่าทุกคนเป็นเพื่อนร่วมงาน สามารถพูดคุยกันด้วยเหตุและผล แม้ต้องยึดกติกาเป็นหลัก แต่ก็อาจจะยืดหยุ่นกันได้บ้าง โดยไม่ได้หวังเอาชนะคะคานกัน การทำงานร่วมกันก็จะไม่มีปัญหา