โฆษก กอ.รมน.แจงปฏิบัติการข่าวสารของเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com ไม่ได้มุ่งโจมตีคนเห็นต่าง แต่สร้างความเข้าใจผ่านเครือข่ายวิทยุ-โซเชียลมีเดีย หลังมีเพจปิดลับบิดเบือนแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้เอกสารที่นำมาแจงในสภา ทำเมื่อปี 60-62 เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณางบปี 63
วันนี้ (27 ก.พ.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในรายอาณาจักร (กอ.รมน.) พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง เปิดเผยว่า ตามที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยมีการนำเอกสารขอ กอ.รมน.ที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สภาผู้แทนราษฎร มาประกอบการอภิปราย และระบุว่า กอ.รมน.ได้จัดทำเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com เพื่อโจมตีบุคคลต่างๆ ว่า เอกสารที่นำมากล่าวอ้างนั้น เป็นเอกสารราชการที่คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2563 สภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ กอ.รมน.จัดทำรายงานการปฏิบัติ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560-2562 เพื่อเป็นข้อมูลประกอบ การพิจารณางบประมาณปี 2563 กิจกรรมการส่งเสริมและเผยแพร่ ความจริงที่ถูกต้อง เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหา ดังนั้น กอ.รมน. จึงได้จัดทำเพิ่มเติมตามคำแนะนำดังกล่าวเพื่อให้คณะอนุกรรมาธิการฯ พิจารณาให้การสนับสนุนงบประมาณ และได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย ตามขั้นตอนของรัฐสภาแล้ว
พล.ต.ธนาธิปกล่าวว่า สำหรับรายละเอียดของกิจกรรมเป็นการประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในรูปแบบการจัดรายการวิทยุของสถานีวิทยุทักษิณสัมพันธ์ รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารที่ถูกต้อง ให้ประชาชนเข้าใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ มุ่งเน้นการอำนวยความยุติธรรม และงานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อนำไปสู่สันติสุขในอนาคต ไม่ได้มีความมุ่งหมายตามที่มีการนำมาอภิปรายแต่อย่างใด
โฆษก กอ.รมน.กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทุกรัฐบาลได้ร่วมกันแก้ไขปัญหามากว่า 15 ปี และในปัจจุบันได้พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น โดยลดการก่อเหตุความรุนแรงลง อย่างไรก็ตาม ได้มีการใช้สื่อโซเชียลมากขึ้นเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ บิดเบือนข้อเท็จจริง และเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ เพื่อทำลายภาพลักษณ์สร้างความหวาดระแวง และความเกลียดชังผ่านว็บไซต์ เว็บเพจ และเฟซบุ๊ก ในลักษณะปิดลับอย่างกว้างขวางในหลายพื้นที่ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อสนับสนุนให้การแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน