“รมว.ยุติธรรม" แจงรัฐบาลมีมาตรการเข้มปราบปรามยาบ้า แต่จำนวนเพิ่มขึ้นเพราะต้นทุนถูกลง เผยยอดผู้เสพ -ผู้ค้า - พื้นสีแดงลดลงเมื่อเทียบกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทวงสัญญาฝ่ายค้านอย่าคืนคำหากนายกฯแก้ปัญหายาเสพติดได้ให้อยู่ในตำแหน่ง 100 ปี
วันที่ 26 ก.พ.63 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ชี้แจงว่า กรณีการจัดการปัญหายาเสพติดและที่พักในเรือนจำ ตนไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้มียาบ้าเต็มเรือนจำ ส่วนที่ถามว่าทำไมไม่พูดคุยกับเพื่อนบ้านเพื่อลดการระบายของยาเสพติด ในทางปฏิบัติไม่ได้ง่ายแบบนั้น หลังจากที่ตนมาเป็น รมต.ได้คุยกันแล้ว 2 ครั้ง โดยจะมีข้อมูลยืนยัน
ส่วนเรื่องของรางวัลนำจับที่กล่าวหาว่าใช้เงินสูงถึง 400 ล้านบาทนั้น เราจะเน้นเรื่องการจับกุม เนื่องจากการจับกุมมีราคาต่ำ และท่านต้องไม่คืนคำว่าหากนายกฯปราบปรามยาเสพติดได้ดีจะให้เป็นนายกฯสักร้อยปี สิ่งที่ท่านพูดไปเรามั่นใจว่าเราจะทำได้แน่นอน และที่บอกว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้เผายาเสพติดหรือทำลายยาเสพติด ตนต้องเรียนว่าปี 62 เราเผาทำลาย 3 ครั้ง โดยครั้งแรกวันที่ 25 มิ.ย. 62 ครั้งที่ 2 วันที่ 5 ก.ค. 62 และครั้งที่ 3 วันที่26 ธ.ค. 62 ยาบ้า 12.3 ตัน ยาไอซ์ 480 กก. เฮโรอีน 143 กก. กัญชา 10 กก. ส่วนที่ว่ามีแม่บังคับเด็ก 8 ขวบเสพยาบ้านั้นไม่เป็นความจริง ปปส.ลงพื้นที่ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร และไปตรวจปัสสาวะปรากฎว่าไม่มีสิ่งที่บ่งบอกว่ามีสารเสพติด
สำหรับตัวเลขการจับกุมและบำบัด เทียบตัวชี้วัดปี 56 กับปี 62 ปี 56 มีผู้เสพ 3.6 แสนราย ผู้บำบัด 3.2 แสน ปี 62 ผู้เสพมี 2.8 แสนราย ผู้บำบัด 2.2 แสนราย เป็นข้อมูลของ สตช.และ สธ. ซึ่งเป็นความเข้าใจว่ามียาบ้าเต็มบ้านเต็มเมือง แต่ส่วนหนึ่งที่ท่านบอกว่าระบาดเต็มบ้านเมืองก็ไม่ผิดเพราะตอนนี้ต้นทุนการผลิตต่ำมาก เทียบจำนวนผู้เสพรัฐบาลนี้กับรัฐบาลในอดีต สูงสุดคือปี 55 มี 2.5 แสนราย ปี 62 รัฐบาลนี้มีแค่ 1.4 แสนราย เป็นตัวเลขที่ชัดเจนสามารถตรวจสอบได้
ส่วนที่กล่าวหาว่ายาบ้ามากขึ้นมันก็อาจจะเป็นอย่างนั้นเพราะมีดัชนีชี้ว่าต้นทุนยาบ้ามันถูกมาก ดูข้อมูลปี 53-56 ซึ่งเป็นข้อมูลของรัฐบาลเก่า โดยปี 53 มี 3.5 ล้านเม็ด ปี 56 มีเพิ่มขึ้นถึง 360% ถ้าเทียบกับรัฐบาล คสช.จนถึงปี 56 จนถึงปี 61 เพิ่มขึ้น 269% อัตราส่วนน้อยกว่าเกือบ 100% เพราะรัฐบาลช่วงนั้นมีการตั้งด่าน มีการกวดขัน ดังนั้นถ้าจะมาบอกว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธมียาบ้าออกมามากมายเป็นความเท็จ
สาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตยาบ้าลดลงเพราะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งในช่วงปี 37-ปี53 มีต้นทุนคงที่ ยาบ้าเม็ดละ 1 บาท ถึง 1.25 บาท ยาไอซ์ กก.ละ 5-5.3 หมื่นบาท แต่หลังจากปี 59 ต้นทุนยาบ้าเหลือ 0.55-0.60 บาท ส่วนไอซ์เหลือ 2.6 หมื่นบาท ดังนั้นการจะมาขายเม็ดละ 20 บาทง่ายมากเพราะต้นทุนถูก
นอกจากนี้เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตยังทำให้การผลิตยาบ้าสามารถทำได้ง่ายขึ้น ดังนั้นเมื่อต้นทุนถูกผลิตได้เร็วเป็นเรื่องธรรมดาที่จะขายราคาถูก และยิ่งผลิตออกมามากราคาก็ยิ่งถูก ขณะเดียวกันยอดผู้เสพก็ลดลงจึงทำให้มียาบ้าอยู่ในตลาดจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถควบคุมการผลิตได้มันอยู่นอกประเทศ ส่วนที่บอกว่าเป็นเพราะตนไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีนั้น ตนไปมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกไปเวียดนาม แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ปราบปราบสารตั้งต้น ครั้งที่สองที่เจอกับผู้นำประเทศเพื่อนบ้านในประเทศไทยมีมาตรการ 1511 ล่าสุดมีรายงานผลฃการทำลายแหล่งผลิตเพิ่งส่งมาเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่รัฐฉานเหนือ ยึดเครื่องโรตารี่ได้ 8 เครื่อง ที่เครื่องหนึ่งสามารถผลิตได้วันละ 3.5 ล้านเม็ด
ส่วนการประเมินสถานะหมู่บ้านทั่วประเทศที่เกี่ยวข้องยาเสพติดจากปี 57 มีประมาณ 4.7 หมื่นหมู่บ้าน คิดเป็น 59.5% ปี 62 เหลือแค่ 2.4 หมื่นหมู่บ้านลดลงถึง 30%
ยาเสพติดราคาถูกและอยู่ใกล้บ้านเรา UNODC ประเมินแล้วว่าปีหนึ่งในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำมีการผลิตยาเสพติดมีมูลถึง 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นเราต้องไม่ประมาทในการแก้ปัญหาในพื้นที่บ้านเรา และมีนโยบายจัดตั้งศูนย์ ศอกส.
ส่วนการยึดทรัพย์เรายึดตั้งแต่รายเล็กถึงรายใหญ่ตนมั่นใจว่าดำเนินการได้แน่ เพราะเริ่มทำพื้นที่ปลอดภัยก็จะรู้ว่าผู้เสพคือใคร ทำให้สาวไปถึงผู้บงการใหญ่ ๆ เหล่านั้นได้ โดยใช้เทคโนโลยีในการสืบค้นเพื่อขยายผลเครือข่ายยาเสพติดที่สมคบเกี่ยวข้องทั้งหมด และยังใช้ big data มาเป็นฐานข้อมูลผู้เสพ ผู้ค้าทั้งหมดที่เป็นรายย่อยกว่า 4 แสนราย