(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
Asia’s drug ‘kingpin’ more Hollywood than reality
By Bertil Lintner, Chiang Mai
01/12/2019
การสร้างภาพ “เจ้าพ่อยาเสพติดรายใหม่” ที่แสนจะฉูดฉาดดั่งหนังบู๊ฮอลลีวู้ด ส่งผลเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อพลวัตรแท้จริงของการค้ายาเสพติดในเอเชีย อันที่จริงแล้ว ราชายาเสพติดมีอยู่จริงไหมในโลกสีเทาของเอเชีย หรือภาพลักษณ์นี้ถูกระบายขึ้นในลีลาของเรื่องจริงอิงแอบนิยายเพื่อผลประโยชน์แห่งบางหน่วยงานวีไอพีของโลก สืบเนื่องจาก “...การป่าวประกาศแฉโพยพฤติกรรมค้ายาเสพติดของบรรดาผู้ที่ถูกสถาปนาให้กลายเป็นเจ้าพ่อ สามารถส่งผลกระทบดีๆ ทั้งในทางภาพลักษณ์และในทางกฎหมาย เช่น การสร้างภาพลักษณ์ดีงามให้แก่ผู้ป่าวประกาศ...”
วงการยาเสพติดในเอเชียแปซิฟิกมีเจ้าพ่อ (kingpin) รายใหม่หยั่งรากและขยายใหญ่ขึ้นแล้ว อย่างน้อยก็เป็นไปตามข้อมูลของสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Office on Drugs and Crime (UNODC) และเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดในโลกตะวันตกจำนวนหนึ่ง
ราชายาเสพติดรายใหม่แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรายนี้มีชื่อว่า เจ๋อ ชี หลบ (Tse Chi Lop) หนุ่มใหญ่ชาวจีนที่ถือสัญชาติแคนาดา เจ้าของฉายา “ซ้าม ก๊อ” หรือ “พี่สาม” ในศัพท์แสงแบบกวางตุ้ง เขาเป็นที่เลื่องลือในฐานะผู้นำแก๊งค้ายาที่กุมส่วนใหญ่ของการลักลอบค้ายาบ้าภายในเครือข่ายมืดที่กว้างขวางที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รอยเตอร์ได้นำเสนอรายงานเชิงสอบสวนเจาะลึกถึง “เครือข่ายยาบ้าในเอเชีย” ของ Tse โดยระบุว่าเครือข่ายนี้กุมส่วนใหญ่ของการค้ายาเสพติดที่กว้างขวางในเอเชีย
รายงานของรอยเตอร์เรียก Tse ในฉายาว่า “ชายผู้เป็นที่ต้องการมากที่สุดในเอเชีย” ซึ่งคุม “เครือข่ายค้ายาเสพติดข้ามชาติที่กว้างขวาง” โดยสร้างพันธมิตรกับก๊วนอั้งยี่ค้ายาเสพติดห้ารายของเอเชีย
ตามรายงานของรอยเตอร์ UNODC ให้ประมาณการรายได้ของเครือข่ายค้ายาบ้าของ Tse ณ ปี 2018 ที่ระดับ 8,000-17,000 ล้านดอลลาร์ โดยระบุพื้นที่ดำเนินงานกว้างขวางครอบคลุมจากญี่ปุ่นไปจนถึงนิวซีแลนด์ กระนั้นก็ตาม Tse ซึ่งกบดานอยู่ ณ จุดใดในประเทศไหนไม่มีใครทราบ มิได้ออกมาโต้ตอบข้อกล่าวหาดังกล่าวนี้
นอกจากนั้น รายงานของรอยเตอร์ได้อ้างคำพูดของเจเรมี ดักลาส (Jeremy Douglas) ตัวแทน UNOCD ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ว่า “Tse Chi Lop อยู่ในระนาบเดียวกันกับ เอล ชาโป (El Chapo) หรืออาจจะกระทั่ง ปาโบล เอสโคบาร์ (Pablo Escobar) ขณะที่คำว่าเจ้าพ่อ (kingpin) มักถูกใช้อย่างเหวี่ยงแหไปทั่ว แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า มันเหมาะสมที่จะใช้กันในที่นี้”
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านยาเสพติดรายอื่นๆ ซึ่งก็คร่ำหวอดในการศึกษาวิจัยเครือข่ายยานรกมาเนิ่นนาน มีความเห็นที่แตกต่างจากภาพลักษณ์การค้ายาในเอเชียที่ถูกพรรณนาราวหนังบู๊ฮอลลีวู้ด โดยชี้ว่าการค้ายาในเอเชียดำเนินการกันอย่างหลวมๆ และเป็นเครือข่ายที่บริหารอย่างไม่เป็นระบบซับซ้อนแต่อย่างใด และมิได้ถูกบริหารจัดการโดย “ราชา” ผู้ทรงอำนาจเบ็ดเสร็จรายใดรายหนึ่ง
ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว ได้แก่ โก๊ะ-หลิน ชิน (Ko-lin Chin) และ เชลดอน เอ็กซ์ จาง (Sheldon X Zhang) สองนักอาชญาวิทยาชาวอเมริกันที่ประสบความสำเร็จขั้นสูงสุด ทั้งคู่มีผลงานโดดเด่นตีพิมพ์เผยแพร่หลายเล่ม เช่น “การค้าเฮโรอีนจีน” (The Chinese Heroin Trade) และ “สามเหลี่ยมทองคำ: เจาะลึกการค้ายาเสพติดในเอเชีย” (The Golden Triangle: Inside Southeast Asia’s Drug Trade) อีกทั้งรายงานและบทความจำนวนนับไม่ถ้วน ผลงานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า “เครือข่าย (ยาเสพติดและอาชญากรรม) ชาวจีนมีโครงสร้างเชิงราบ ขาดความเป็นปึกแผ่น และดำเนินงานโดยปราศจากกรอบวิธี”
ยิ่งกว่านั้น ทั้งสองยังกล่าวแย้งไว้ระหว่างการสนทนากันเป็นส่วนตัวหลายครั้งหลายคราวด้วยว่า “แม้แต่เจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐฯ ซึ่งปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ ก็ทราบว่าไม่มีราชายาเสพติด หรืออย่างน้อยก็คือพวกเขาไม่พบเห็นเจ้าพ่อค้ายาเสพติดภายในเอเชียหรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ชินและจางระบุไว้ในหนังสือและรายงานวิจัยทั้งหลายของพวกตนว่า ไม่เคยค้นพบหลักฐานใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าก๊วนอั้งยี่จีนเข้าไปมีความเกี่ยวข้องอย่างเป็นจริงเป็นจังอยู่ในการค้ายาเสพติด ทั้งนี้ สมาชิกบางรายของก๊วนอั้งยี่อาจจะข้องเกี่ยวกับยาเสพติด แต่รายได้จากธุรกิจผิดกฎหมายของคนเหล่านี้โดยหลักๆ แล้ว มาจากธุรกิจจำพวกการขู่กรรโชกแบล็กเมล์ ธุรกิจการพนัน ซ่องโสเภณี ธุรกิจค้าของเถื่อน และการเกาะกุมสัมปทานโครงการก่อสร้างขนาดเม็กกะไซส์ของภาครัฐ
อันที่จริงแล้วการใช้ถ้อยคำว่า “เจ้าพ่อ” มักที่จะทำให้เข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนกันเสมอ โดยเฉพาะเมื่อเอ่ยถึงการปราบปรามยาเสพติดในดินแดนสามเหลี่ยมทองคำอันเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดที่อื้อฉาวสุดๆ ของเอเชีย ณ พื้นที่ชุมทางระหว่างประเทศไทย ลาว และพม่า ตลอดจนพื้นที่ผลิตยาเสพติดที่ฉาวโฉ่อื่นๆ ในเอเชีย
คำว่าเจ้าพ่อนั้น ในภาษาอังกฤษ คือคำว่า Kingpin แรกเริ่มเดิมทีมีความหมายถึงพินโบว์ลิ่งตัวที่ตั้งอยู่ตรงกลางกลุ่มพินทั้งหมด ซึ่งหาก Kingpin ล้ม พินอื่นๆ ที่ล้อมรอบก็จะล้มระเนนตามไปด้วย กระนั้นก็ดี เหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่า โครงสร้างของวงการค้ายาเสพติดในเอเชียมิได้ถูกสั่งสมขึ้นมาให้เป็นไปเยี่ยงนี้ กล่าวคือ เมื่อผู้ที่ถูกระบุว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งเครือข่ายค้ายามีอันจะต้องร่วงดับลง คนอื่นๆ ที่เหลือในวงการ ก็ยังดำรงกิจการต่อไป พร้อมกับก้าวเข้าสวมบทบาทนำได้อย่างสะดวกดาย
แนวคิดในเรื่องของเจ้าพ่อ Kingpin ยาเสพติดมักถูกสร้างขึ้นมา เพื่อให้เป็นจุดรวมความสนใจที่จะก่อให้เกิดความไขว้เขว ขณะที่ตัวแสดงอื่นๆ เป็นต้นว่า นักธุรกิจที่มีภาพลักษณ์ว่าดำเนินงานถูกกฎหมาย และกระทั่งเจ้าหน้าที่ภาครัฐ สามารถเที่ยวแสวงหาผลประโยชน์อย่างไร้ยางอายจากยาเสพติดชนิดที่ไม่ถูกใครสนใจจับตา กระนั้นก็ตาม การป่าวประกาศแฉโพยพฤติกรรมค้ายาเสพติดของบรรดาผู้ที่ถูกสถาปนาให้กลายเป็นเจ้าพ่อ ก็สามารถส่งผลกระทบดีๆ ทั้งในทางภาพลักษณ์และในทางกฎหมาย เช่น การสร้างภาพลักษณ์ดีงามให้แก่ผู้ป่าวประกาศ
เมื่อต้นทศวรรษ 1970 โล ซิงฮาน (Luo Xinghan หรือ Lo Hsing-han) ขุนศึกจากเขตชนกลุ่มน้อยโกก้าง (Kokang) ในพม่าได้รับการขนานนามให้เป็น “ราชา” (king) แห่งดินแดนสามเหลี่ยมทองคำโดยสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามยาเสพติดหลายรายในโลกตะวันตก
“โลซิงฮานเป็นโจรข้ามชาติและเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความทุกข์เข็ญอันเกิดจากยาเสพติดภายในเอเชียและในอเมริกาซึ่งขยายตัวขึ้นมาอย่างมากมาย” กล่าวโดยเนลสัน กรอส (Nelson Gross) เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐฯ ในยุคนั้น
อันที่จริงแล้ว โลซิงฮานเริ่มต้นบทบาทในฝ่ายรัฐบาลพม่าด้วยตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังที่รัฐบาลพม่ารับรอง และได้รับอนุญาตอย่างไม่เป็นทางการให้ทำการค้าฝิ่น แลกเปลี่ยนกับภารกิจที่จะต้องต่อสู้กับกบฏชนชาติต่างๆ ในรัฐชาน (Shan) ทางตอนเหนือของพม่า
ด้วยเหตุนี้ โลซิงฮานจึงสามารถสร้างกองกำลังใหญ่โตอันน่าเกรงขามซึ่งเขาใช้สนับสนุนธุรกิจมืดของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ความคุ้มครองและการดำเนินการเอง ในการลำเลียงของเถื่อนประดามีไม่ว่าจะฝิ่น หยก ตลอดจนสินค้าลักลอบนำเข้า-ส่งออกทั้งปวง โดยแต่ละปีจะขับเคลื่อนกัน 3-4 รอบ จากเมืองล่าเสี้ยว (Lashio) ในรัฐชาน ลงไปยังพื้นที่ติดชายแดนประเทศไทย คือ ท่าขี้เหล็ก (Tachilek) ที่สุดของสามเหลี่ยมทองคำ
กระนั้นก็ตาม ในเวลาเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดนานาชาติพยายามดึงความสนใจของโลก ให้พุ่งเป้าเพ่งเล็งไปยังนักค้าของเถื่อนคนหนึ่งซึ่งมีสถานภาพและบทบาทเพียงปานกลาง หากแต่ถูกสวมหัวโขนเป็นเจ้าพ่อค้ายาเสพติดแห่งยุค ดินแดนแถบนี้ยังมีพ่อค้าฝิ่นรายยักษ์ที่ไม่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ 2 รายในเชียงตุง (Kengtung) ได้แก่ (สือ เจีย ชุย) Shi Kya Chui กับ หยัง ซ่าง (Yang Sang) ซึ่งเป็นที่รู้จักในอีกนามหนึ่งว่า หยัง สือหลี่ (Yang Shi-li) นักค้ายาเสพติดคู่นี้ แท้จริงแล้ว ทำยอดขายเป็นปริมาณที่มหาศาลกว่าโลซิงฮาน
จุดได้เปรียบของทั้งสองอยู่ในประเด็นที่ว่า ฐานที่มั่นของทั้งคู่อยู่ในเชียงตุงซึ่งใกล้ท่าขี้เหล็กมากกว่า สามารถลำเลียงยานรกไปยังท่าขี้เหล็กได้สะดวกสบายด้วยระยะห่างเพียง 168 กิโลเมตรขึ้นไปทางเหนือของท่าขี้เหล็ก ด้วยเหตุนี้ สองนักค้ายานรกจึงดำเนินการลำเลียงยาเสพติดออกสู่ตลาดโลกได้มากกว่า 10 เที่ยวต่อปี
ทั้งนี้ ณ ท่าขี้เหล็ก จะมีเทรดเดอร์จำนวนมากมายทำการรับช่วงผลิตภัณฑ์ไปดำเนินการขายและกระจายสู่ประดาขี้ยาในนานาประเทศ ในการนี้ ก็น่าสงสัยว่า โล หรือ Shi หรือกระทั่ง Yang จะทราบหรือไม่ เพียงใด เกี่ยวกับเครือข่ายและกระบวนวิธีดำเนินงานของเทรดเดอร์ข้ามชาติเหล่านี้
สำหรับในส่วนของโลซิงฮาน ฝิ่นส่วนใหญ่ที่เขาและกองกำลังของเขาลำเลียงลงไปยังพื้นที่ชายแดนประเทศไทยนั้น มิได้เป็นของเขา เนื่องเพราะว่า แท้ที่จริงนั้น เขาเป็นผู้บัญชาการกองกำลังนายหนึ่งที่ให้บริการคุ้มครองการขนย้ายยานรกของสารพัดเทรดเดอร์ค้าฝิ่นซึ่งขาดแคลนกองกำลังติดอาวุธของตนเอง
ฝิ่นที่เป็นของโลซิงฮานโดยตรงนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งภายในคาราวานลำเลียงผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย ในเวลาเดียวกัน ฝิ่นระดับซูเปอร์บิ๊กล็อตในคาราวาน ส่วนใหญ่เป็นของกลุ่มเทรดเดอร์ชาวปันทาย (Panthay บ้างจะเรียกว่าปันเต และปันเตย์) ซึ่งเป็นมุสลิมพม่าเชื้อสายจีนที่ตั้งถิ่นฐานในตอนเหนือของรัฐชาน รูปการเยี่ยงนี้สะท้อนชัดถึงภาวะการดำเนินการแบบที่ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้มีผู้นำแท้จริงอะไรหรอก ภายในความซับซ้อนอันเก่าแก่ของวงการค้ายาเสพติดแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โลซิงฮานถูกจับกุมในประเทศไทยเมื่อปี 1973 แล้วถูกเนรเทศกลับไปให้ทางการพม่าดำเนินคดี โดยเขาถูกพม่าตั้งข้อหาความผิดฐาน “เป็นกบฏต่อต้านประเทศ” ซึ่งข้อหานี้อิงอยู่กับการที่ว่าในช่วงหนึ่งสั้นๆ เขาไปเข้าร่วมกับกองทัพรัฐชาน หรือ Shan State Army (SSA) ซึ่งเป็นกองกำลังปฏิวัติของชาวไทยใหญ่ที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลพม่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของข้อกล่าวหาเรื่องค้ายาเสพติดนั้น มิได้มีการนำมาขยายผล สืบเนื่องจากความตกลงที่เขามีอยู่กับกองกำลังพม่า
ผลการตัดสินคดีปรากฏออกมาว่า โลซิงฮานต้องโทษประหาร แต่ได้รับอภัยโทษและได้รับการปล่อยตัวในช่วงการประกาศนิรโทษกรรมทั่วประเทศเมื่อปี 1980 ต่อมาหลังจากนั้น เขาเดินทางกลับสู่เมืองล่าเสี้ยว และก่อตั้งหน่วยกำลังอาวุธคุ้มครองบ้านหน่วยใหม่ พร้อมกับสร้างฐานที่มั่นซึ่งรู้จักกันในนามของหมู่บ้านสาละวินทางตอนใต้ของเมืองล่าเสี้ยว ยิ่งกว่านั้น โลซิงฮานยังสถาปนาเครือธุรกิจชื่อ Asia World ซึ่งปัจจุบันเป็นเครือธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับแถวหน้าของพม่า โดยสามารถเติบใหญ่กุมกิจกรรมเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางทั้งด้านก่อสร้าง พาณิชย์ และท่าเรือ
การที่โลซิงฮานถอนตัวจากการเป็น Kingpin แห่งวงการยาเสพติด มิได้ส่งผลให้ Pin อื่นๆ ในวงการสารนรกนี้ต้องล้มระเนนแต่อย่างใด ตรงกันข้าม Kingpin ใหม่ได้แจ้งเกิดและได้รับขนานนามให้เป็นราชายาเสพติดอย่างรวดเร็ว อาทิ จางซีฟู (Zhang Qifu) หรือขุนส่า (Khun Sa) ขุนศึกเชื้อสายจีนแห่งรัฐชานเฉกเช่นโลซิงฮาน ผู้ซึ่งมีกองทัพใหญ่โตเป็นของตนเอง และได้กลายเป็นเจ้าพ่อค้ายาเสพติดที่โดดเด่นสูงสุดในภูมิภาค
ด้วยลักษณาการเดียวกับโลซิงฮาน ขุนส่าเข้าสู่วงการด้วยบทบาทของผู้บัญชาการกองกำลังที่ทำประโยชน์ให้แก่รัฐบาลพม่า แล้วไม่นานนักก็แตกหักกันและจึงต้องหลบลงดำเนินงานใต้ดิน นอกจากนั้น ในครั้งที่ขุนส่าโด่งดังในฐานะ “ราชายาเสพติดแห่งสามเหลี่ยมทองคำ” เขาก็เหมือนกับโลซิงฮานที่มีภาพลักษณ์ว่าเป็นบุรุษที่ยืนเบื้องหลังการค้าเฮโรอีนรายใหญ่ที่สุดของภูมิภาค แล้วต่อมาก็ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ไปตามพลวัตรของวิทยาการใหม่ๆ สู่ยานรกนามว่ายาบ้าและยาเสพติดสังเคราะห์อื่นๆ
ขุนส่าคุมการค้ายาเสพติดได้มหาศาลเพียงใดนั้น ยังเป็นประเด็นถกเถียงไม่จบ แล้วเขายุติบทบาทเจ้าพ่อค้ายานรกด้วยการเข้ามอบตัวต่อทางการพม่า ยุบเลิกกองกำลัง แล้วโยกย้ายไปอยู่ในย่างกุ้งเมื่อปี 1996
เจ้าพ่อรายถัดมาซึ่งได้รับการขนานนามเป็น Kingpin แห่งสามเหลี่ยมทองคำ ได้แก่ เหว่ยเซียะกัง (Wei Xuegang) ซึ่งมีความเกี่ยวพันอยู่กับกองทัพรวมแห่งรัฐว้า (UWSA) หลายหลากรายงานระบุว่าเหว่ยเซียะกังเข้ายึดกุมการค้ายาเสพติดในสามเหลี่ยมทองคำเกือบทั้งหมดของขุนส่า
ในเดือนมกราคม 2005 ศาลสหรัฐอเมริกามีคำพิพากษาว่าเหว่ยเซียะกังตลอดจนพี่น้องอีกสองรายคือ เหว่ยเซียะหลง (Wei Xuelong) และเหว่ยเย่อิง (Wei Yueying) มีความผิดฐานค้ายาเสพติด
เฉกเช่นเดียวกับโลซิงฮานและขุนส่าสองราชายาเสพติดก่อนหน้าเขา เหว่ยเซียะกังทำการลงทุนขนาดใหญ่ในหลากหลายสาขา อาทิ เหมืองหยก การค้าปลีก และธุรกิจต่างๆ ในพม่า โดยมีการคาดกันว่าธุรกิจเหล่านี้เป็นช่องทางฟอกเงินที่ได้จากยาเสพติด สำหรับปริมาณเงินที่ฟอกเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจะอยู่ ณ ระดับใดนั้นยังไม่กระจ่างชัด
พร้อมกันนั้น ก็ยังไม่เป็นที่แจ้งชัดว่าเหว่ยเซียะกังสามารถผูกขาดการค้ายาเสพติดในดินแดนสามเหลี่ยมทองคำได้แท้จริงเพียงใด
บัดนี้ ราชายาเสพติดชาวแคนาดาเชื้อสายจีน ฉายาว่าซ้ามก๊อ ได้ถูกสถาปนาขึ้นมาใหม่ในบรรยากาศที่ลึกลับซับซ้อนและซ่อนเงื่อน โดยปรากฏเป็นการโจษขานว่าซ้ามก๊อเข้าครอบครองการค้ายาเสพติดในดินแดนสามเหลี่ยมทองคำได้แล้ว ทั้งที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าเขามีธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือไม่ หรือหากมี-จะตั้งอยู่ที่ใดกันแน่ ยิ่งกว่านั้น ยังปราศจากความชัดเจนในข้อที่ว่าเขายึดกุมการค้ายาบ้าได้กว้างขวางไปทั่วสามเหลี่ยมทองคำ จริงแท้ดังที่ UNODC และเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดดูเหมือนจะคิดอย่างนั้น
ในหนังสือของสองผู้เชี่ยวชาญอาชญากรรมยาเสพติด โก๊ะ-หลิน ชิน และเชลดอน เอ็กซ์ จาง เล่าถึงข้อสรุปจากผลงานของนักสังคมวิทยาอเมริกันนามว่าแพตริเชีย แอดเลอร์ (Patricia Adler) ซึ่งสนใจศึกษาประเด็นการค้าเฮโรอีนของชาวจีน โดยศึกษาชุมชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดหลายๆ ชุมชนในเมืองซานดิเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ข้อสรุปดังกล่าวมีเนื้อหาว่าการค้ายาเสพติดของชาวจีนไม่ได้อยู่ใต้การครอบงำของเครือข่ายอาชญากรรม หากแต่เป็นตลาดผิดกฎหมายที่หนาแน่นไปด้วยผู้ค้ายาแบบบินเดี่ยว ตลอดจนกลุ่มนักค้ายากลุ่มเล็กๆ ซึ่งแข่งกันขายอย่างเข้มข้นและขายในเชิงธุรกิจอย่างเป็นล่ำเป็นสำ
นี่เป็นภาพที่ถูกต้องเกี่ยวกับลักษณาการที่การค้ายาเสพติดในเอเชียแปซิฟิกดำเนินงานกันอยู่
ขณะที่นิยายนิทานเกี่ยวกับ “ราชายาเสพติด” และ “เครือข่ายค้ายา” น่าจะเหมาะแก่การสร้างภาพยนตร์ดีๆ หรือจัดทำเป็นรายงานระทึกใจในพื้นที่สื่อมวลชน ความเป็นจริงซึ่งดำเนินกันเป็นหลายชั้นมีตัวแสดงเป็นจำนวนมากอยู่เบื้องหลังการค้ายาอันมีขบวนการหลวมๆ นั้น ยังมีความซับซ้อนกว่ากันเยอะเลย