“เชาว์” ยกคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2281/2555-ป.วิอาญา ม.226/1 สวน “อนุทิน” คลิปเสียงแฉดูด ส.ส.ใช้เป็นหลักฐานในศาลได้ ระบุคนเปิดคลิปไม่ใช่กุ๊ย จวกพวกขายตัวไม่ต่างจาก ส.ส.โสเภณี ทำการเมืองกลับสู่วงจรอุบาทว์ แนะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
วันนี้ (26 ก.พ.) นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก "Chao Meekhuad" เรื่อง แอบอัดคลิปเสียงสนทนาใช้เป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ มีเนื้อหาระบุว่า ช่วงนี้มีคลิปซื้อตัว ส.ส.อนาคตใหม่ว่อนสภา พัวพันไปถึงสองพรรคการเมือง แต่เปิดตัวชัดๆ มาแล้วพรรคหนึ่งคือภูมิใจไทย ทำให้หัวหน้าพรรคเกิดอาการหัวร้อน หลังถูกสื่อมวลชนซักเรื่อง ส.ส.อดีตอนาคตใหม่เปิดคลิปแฉคนที่เพิ่งย้ายซบรังภูมิใจไทยว่ามีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เลยได้คำตอบกลับมาแบบนี้ว่า “เดี๋ยวนี้เป็นโรคอะไรกันไปแล้ว มีอะไรก็ต้องเปิดคลิปกันแล้วหรือ อีกหน่อยคงไม่มีใครพูดความจริงกันอีกแล้ว มารยาทจะต้องมี เพราะโตๆ กันแล้ว ไม่ใช่เที่ยวอัดเทปกันไปหมด พฤติกรรมกุ๊ยอย่างนี้ ไม่ใช่คนที่เป็นอารยชนเขาทำกัน อัดเทปอะไรบ้าบอไม่เข้าท่า” เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากเกิดความเสียหายจะฟ้องกลับหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า “ไม่ฟ้อง จะฟ้องกุ๊ยไปทำไม ถามว่าฟ้องแล้วได้อะไรขึ้นมา และไม่ใช่ข้อเท็จจริง ถ้าขึ้นศาลเทปอัดเสียงศาลก็ไม่รับฟัง ไหนบอกว่าทำการเมืองใหม่ ทำการเมืองดี ก็ควรทำในสิ่งที่อารยชนเขาทำกัน”
นายเชาว์ระบุต่อไปว่า “จากคำสัมภาษณ์ของหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยมีประเด็นสำคัญที่ผมเกรงว่าประชาชนที่ฟังแล้วอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนในข้อกฎหมายเรื่องคลิปเสียงว่าใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลได้หรือไม่
ขอเรียนว่าคลิปเสียงที่แอบอัดระหว่างการสนทนาสามารถนำไปใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2551 นอกจากนี้ยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2281/2555 ได้วางแนวไว้ดังนี้ว่า "การแอบบันทึกเทปขณะที่มีการสนทนากันระหว่างโจทก์ร่วมกับพยานและจำเลยที่ 2 โดยที่โจทก์ร่วมและพยานไม่ทราบมาก่อน เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบห้ามมิให้ศาลรับฟังเป็นพยานนั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมิให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้วิธีการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 226 ไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้นำไปใช้กับการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดา อย่างไรก็ตาม ระหว่างพิจารณาคดีได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 โดยมาตรา 11 บัญญัติให้เพิ่มมาตรา 226/1 ป.วิ.อ. กำหนดให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบได้ ถ้าพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา ศาลจึงนำบันทึกเทปดังกล่าวมารับฟังได้"
“คลิปเสียงทั้งสองคลิปที่นำมาเปิดโปงถึงวงจรอุบาทว์ในการซื้อตัว ส.ส.ย้อนกลับสู่ยุค ส.ส.โสเภณี จึงไม่ใช่เรื่องของกุ๊ย แต่ถือเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างยิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมเสื่อมของคนในระบบการเมือง จะได้เป็นข้อมูลสำหรับประชาชนใช้ตัดสินใจในครั้งหน้าก่อนที่จะเข้าคูหาลงคะแนนว่าควรเลือกคนแบบใด และคนที่มีข้อมูลควรดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เพราะมีความผิดตามกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 31” นายเชาว์ระบุทิ้งท้าย