xs
xsm
sm
md
lg

กฤษฎีกา ยกพ.ร.บ..สงฆ์ ยัน วัดไทยชื่อดังในมาเลเซีย ไม่มีสิทธิรับโอนมรดกที่ดิน อ.เบตง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กฤษฎีกา ยก พ.ร.บ.สงฆ์ ปี2505 ยัน “วัดไชยมังคลาราม รัฐปีนัง มาเลเซีย” ไม่มีสิทธิรับโอนมรดกที่ดิน อ.เบตง ยะลา ของพระภิกษุที่มรณภาพในต่างแดน แม้พระจะถือมรดกระหว่างพำนัก เหตุวัดไทยอยู่ในเขตอำนาจรัฐอื่น เฉพาะ“รัฐปีนัง”เป็นผู้พิทักษ์ทรัพย์สินวัด แถมปัจจุบันไม่มีพระ ในคณะสงฆ์ไทยพำนักอยู่แล้ว ชี้ช่อง “มรดกที่ดิน”ต้องตกเป็นของ “วัดในภูมิลำเนา” ถิ่นกำเนิดทันที

วันนี้ (20 ก.พ.) มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงนามในเรื่องเสร็จที่ 122/2563 ให้ความเห็นประเด็นธรณสงฆ์ กรณีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พ.ศ.) มีหนังสือขอหารือในประเด็น ที่สำนักงานที่ดิน จ.ยะลา สาขาเบตง จะสามารถดำเนินการเพื่อจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินตาม น.ส. 3 เลขที่ 282 หมู่ที่ 4 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา ให้แก่วัดไชยมังคลาราม ซึ่งตั้งอยู่ที่รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซียได้หรือไม่

กรณีนี้ ที่ดิน จ.ยะลา มีหนังสือถึง พ.ศ. เพื่อขอทราบฐานะทางกฎหมายของวัดไชยมังคลาราม รัฐปีนัง โดยกรณีที่ดินดังกล่าว เป็นของอดีตพระสงฆ์ ที่ได้มาในระหว่างอุปสมบทและได้มรณภาพ ขณะพำนักอยู่ที่วัดไชยมังคลาราม จะตกเป็นที่วัด หรือที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งขึ้นต่อวัดใด ประเภทใด กรณีที่พระภิกษุซึ่งได้อุปสมบทในประเทศไทย ต่อมาได้เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาและพำนักอยู่นอกราชอาณาจักร จะถือเอาที่ใดเป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุ

"เบื้องต้น พ.ศ. เห็นว่า วัดไชยมังคลาราม รัฐปีนัง เป็นวัดที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2388 ก่อนที่ประเทศไทยจะเสียดินแดนบริเวณรัฐปีนัง ให้แก่ประเทศอังกฤษ วัดไชยมังคลาราม รัฐปีนัง จึงไม่ใช่วัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และได้ตรวจสอบทะเบียนวัดที่อยู่ในความครอบครองของ พ.ศ.แล้ว ไม่พบว่ามีชื่อวัดไชยมังคลาราม แต่อย่างใด จึงมิอาจถือได้ว่ามีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย"

นอกจากนี้ ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15710/2558 คดีที่ดินของพระสงฆ์รูปนี้ มีความตอนหนึ่งว่า "เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า วัดไชยมังคลารามเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท การโอนที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์จะกระทำได้ ก็แต่โดยรัฐต้องตราเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น"

"คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวได้ตัดสินไว้แตกต่างไปจากแนวปฏิบัติของ พ.ศ.และขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายฯ ที่มีผลบังคับใช้ได้เฉพาะวัดที่ตั้งอยู่ในราชอาณาจักรเท่านั้น มิอาจก้าวล่วงอำนาจอธิปไตยของรัฐอื่นได้"

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) กองกฎหมายการศึกษาและวัฒนธรรม พิจารณาว่า กรณีนี้ พ.ศ. ได้สอบถามไปยังสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง ได้ความว่า ปัจจุบันวัดไชยมังคลาราม เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมาเลเซีย อยู่ภายใต้การดูแลของคณะผู้พิทักษ์ทรัพย์สิน (Trustees) ประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 4 คน เป็นกรรมการ ซึ่งมาจากการประชุมคัดเลือกโดยคนมาเลเซียเชื้อสายไทย และแต่งตั้งโดยอธิบดีอัยการ (Attorney General) ของรัฐปีนัง

" มีรายชื่อของวัดไชยมังคลาราม อยู่ในทะเบียนรายชื่อวัดไทยในต่างประเทศ ที่อยู่ในกำกับดูแลของมหาเถรสมาคม โดยสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งแต่เดิมมาได้มีพระภิกษุในคณะสงฆ์ไทยพำนักและปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่วัดไชยมังคลาราม แต่ปัจจุบันไม่มีพระภิกษุในคณะสงฆ์ไทยพำนักและปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่วัดไชยมังคลารามแล้ว"

อย่างไรก็ตาม มีความเห็น แต่ละประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง วัดไชยมังคลาราม ตั้งอยู่ที่รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย มีฐานะเป็นวัด ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 หรือเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยหรือไม่ เห็นว่า มาตรา 31แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ได้บัญญัติให้วัดมีสองอย่าง คือ (1) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และ (2) สำนักสงฆ์

โดยให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป สำหรับกรณีฐานะของวัดไชยมังคลารามซึ่งตั้งอยู่นอกราชอาณาจักร ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติใดกำหนดเกี่ยวกับการจัดตั้งและฐานะของวัดดังกล่าวไว้

"ด้วยเหตุนี้ ในการจัดตั้งและฐานะของวัดนอกราชอาณาจักร จึงต้องเป็นไปตามกฎหมายภายในของประเทศที่วัดนั้นตั้งอยู่ โดยไม่อาจนำ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 หรือกฎหมายอื่นของประเทศไทย ไปใช้บังคับนอกราชอาณาจักรได้ตามหลักทั่วไปเรื่องการใช้เขตอำนาจรัฐตามหลักดินแดน (Territorial Principle) เว้นแต่จะมีความตกลงระหว่างประเทศหรือมีกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น"

ขณะที่วัดได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมาเลเซีย อยู่ภายใต้การดูแลของคณะผู้พิทักษ์ทรัพย์สิน (Trustees) จึงเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมาเลเซีย มิใช่วัดตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และมิใช่นิติบุคคลตามกฎหมายไทย

สำหรับการปกครองคณะสงฆ์ของวัดไชยมังคลาราม จึงมีผลให้พระภิกษุในคณะสงฆ์ไทยหากได้ไปพำนักและปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่วัด อยู่ในการปกครองดูแลโดยมหาเถรสมาคมของไทย แต่การจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ในลักษณะดังกล่าวไม่เป็นผลให้ วัดไชยมังคลาราม ซึ่งตั้งอยู่นอกราชอาณาจักร

ประเด็นที่สอง กรณีที่พระภิกษุซึ่งได้อุปสมบทในประเทศไทย ต่อมาได้เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาและพำนักอยู่นอกราชอาณาจักร เห็นว่า พระภิกษุทุกรูปจะต้องมีหนังสือสุทธิเป็นเอกสารประจำตัวเพื่อแสดงตนและวัดที่ตนสังกัด เนื่องจากพระภิกษุทุกรูปต้องสังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง หากไม่สังกัดวัดใดวัดหนึ่งหรือไม่มีวัดเป็นที่อยู่อันเป็นหลักแหล่งแล้ว ให้พระภิกษุรูปนั้นต้องสละสมณเพศ จึงอาจถือได้ว่าวัดที่ปรากฏในหนังสือสุทธิเป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุ

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติถึงภูมิลำเนาของพระภิกษุไว้เป็นการเฉพาะ การพิจารณาภูมิลำเนาของพระภิกษุจึงต้องพิจารณาตามหลักภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดา ตามที่มาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติให้ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดา

แต่สำหรับกรณีพระภิกษุซึ่งได้อุปสมบทในประเทศไทย ต่อมาได้เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาและพำนักอยู่นอกราชอาณาจักร ตามที่ได้วินิจฉัยไว้ในประเด็นที่หนึ่งแล้วว่า วัดไชยมังคลารามซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกราชอาณาจักร ไม่มีฐานะเป็นวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ดังนั้นจึงไม่อาจถือเอาวัดที่พระภิกษุพำนักอยู่นอกราชอาณาจักรเป็นสถานที่อยู่อันเป็นแหล่งสำคัญได้กรณีจึงต้องถือว่าพระภิกษุที่พำนักอยู่นอกราชอาณาจักรมีภูมิลำเนาตามวัดที่ปรากฏในหนังสือสุทธิ

ประเด็นที่สาม ที่ดินของพระสงฆ์ ที่ได้มาในระหว่างอุปสมบทและมรณภาพขณะพำนักอยู่ในต่างประเทศ เห็นว่า แม้คำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งพิพาทกันในประเด็นเรื่องขอให้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จะมีข้อวินิจฉัยตอนหนึ่งระบุข้างต้น

แต่ข้อวินิจฉัยดังกล่าวมิใช่ประเด็นแห่งคดีโดยตรงอีกทั้งคำพิพากษามีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าวัดไชยมังคลารามไม่ใช่คู่ความในคดีดังกล่าว จึงไม่อาจถือครองที่ดินในราชอาณาจักรได้

"แม้จะทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม ซึ่งคำว่า "วัด" ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ข้างต้นมีความหมายเฉพาะวัดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เท่านั้น ประกอบกับตามที่ได้วินิจฉัยไว้ในประเด็นที่สองแล้วว่า ต้องถือว่าพระภิกษุที่พำนักอยู่นอกราชอาณาจักรมีภูมิลำเนาตามวัดที่ปรากฏในหนังสือสุทธิ

ดังนั้นหากข้อเท็จจริงปรากฏว่า วัดทรายขาวเป็นภูมิลำเนาของพระสงฆ์รูปที่มรณภาพ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าพระสงฆ์รูปนี้ ได้ทำพินัยกรรมไว้ ที่ดินดังกล่าวจึงต้องตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดทรายขาว ซึ่งเป็นวัดที่เป็นภูมิลำเนาเดิมทันทีที่มรณภาพ ตามแนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่) ซึ่งได้วินิจฉัยไว้ในเรื่องเสร็จที่ 73/2544.


กำลังโหลดความคิดเห็น