xs
xsm
sm
md
lg

จำคุก 36 เดือน ปรับ 27,000 บาท “พระพรหมสิทธิธงชัย” คดีทุจริตงบ พศ. 69 ล้าน รอลงอาญา 2 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


พระพรหมสิทธิ ธงชัย อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ
ศาลจำคุก 36 เดือน-ปรับ 2.7 หมื่นบาท “พระพรหมสิทธิ ธงชัย สุขโข” อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ สนับสนุนจัดสรรเงินงบประมาณสำนักพระพุทธฯ 69 ล้าน ไม่ชอบ แต่เห็นว่าเผยแพร่พระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับไม่เคยกระทำผิดวินัย จึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (19 ก.พ.) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลอ่านคำพิพากษาคดี “ทุจริตการจัดสรรเงินงบประมาณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)” คดีหมายเลขดำ อท.251/2561 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง “นายพนม ศรศิลป์” อายุ 60 ปี อดีตผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.) , “นายชยพล พงษ์สีดา” อายุ 64 ปี อดีตรอง ผอ.สำนักงาน พศ. , “นายณรงค์เดช ชัยเนตร” อดีต ผอ.กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา , “นายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี” อายุ 50 ปี อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา , “พระพรหมสิทธิ ธงชัย สุขโข” หรือนายธงชัย สุขโข อายุ 64 ปี อดีตพระราชาคณะเจ้าคณะรอง และอดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร , อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ , ทำ , จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ร่วมกันเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่น โดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย , เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต , เป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,157 ประกอบมาตรา 83,86,91

โดยคดีนี้ อัยการยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 24 ต.ค.61 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 29 ต.ค.58 - 22 ก.ค.59 พวกจำเลย ได้เบียดบังเอาเงินงบประมาณ ของสำนักงาน พศ.ประจำปี 2559 จำนวน 69,700,000 บาท (จากวงเงินงบประมาณประจำปี 2559 จำนวน 5,360,188,000 บาท) ไปเป็นประโยชน์ของตน โดยใช้ 'วัด' เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดรับโอนเงิน ด้วยการให้ 'วัด' โดยเจ้าอาวาส เสนอโครงการเพื่อรับเงินสนับสนุนที่เบียดบังมา จากที่ได้มีการพิจารณาอนุมัติโครงการเงินอุดหนุนในโครงการอบรมคุณธรรม จริยธรรม จำนวน 37,200,000 บาท และโครงการศูนย์กลางเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา จำนวน 32,500,000 บาท ซึ่งวัดสระเกศฯ ได้รับอนุมัติเงินไปเพียงวัดเดียว โดยเมื่อวันที่ 11 เม.ย.61 "พ.ต.ท.พงศพร พราหมณ์เสน่ห์" ผอ.สำนักงาน พศ.ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งมีการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนตามกฎหมาย ซึ่งมีคำขอท้ายฟ้อง ขอศาลให้มีคำสั่งจำเลยที่ 1-5 ร่วมกันคืนเงินหรือใช้เงินจำนวน 69,700,000 บาท คืนแก่สำนักงาน พศ. ผู้เสียหาย พร้อมขอให้ศาลนับโทษจำคุก "นายพนม" อดีต ผอ.สำนักงาน พศ. จำเลยที่ 1 กับคดีหมายเลขดำ อท. 253/2561 , อท.254/2561 (ร่วมทุจริตการจัดสรรเงินงบ พศ.) ของศาลนี้ และ “พระพรหมสิทธิฯ” อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ จำเลยที่ 5 กับคดีหมายเลขดำ อท.197/2561 (ร่วมฟอกเงิน) ของศาลนี้ด้วย

ขณะที่ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ นายพนม อดีต ผอ.สำนักงาน พศ. จำเลยที่ 1 ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำไม่ได้รับการประกันตัวซึ่งได้ถูกดำเนินคดีหลายสำนวนในศาลนี้ ส่วน “พระพรหมสิทธิ ธงชัย สุขโข” อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ นั้นก็เพิ่งได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 15 ส.ค.62 โดยศาลตีราคาหลักประกัน 2.5 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 1 เดือนไปจนกว่าศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาและห้ามเดินทางอกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก

โดยวันนี้ “พระพรหมสิทธิ ธงชัย สุขโข” อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ จำเลยที่ 5 สวมชุดขาวมาศาลพร้อมคณะลูกศิษย์ ส่วนจำเลยที่ 1- 4 นั้นถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำวันนี้ศาลได้เบิกตัวทั้งหมดมาพร้อมฟังคำพิพากษา

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1-4 เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารงานและดำเนินการตามภารกิจของสำนักงาน พศ. และมีอำนาจอนุมัติโครงการ แผนงานต่างๆ ตามการจัดสรรงบประมาณ และตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ ในช่วงเกิดเหตุปี 2558-2559 ได้อนุมัติเงินอุดหนุนใน 2 โครงการ คือโครงการอบรมคุณธรรมจริยธรรม จำนวน 37 ล้านบาท และโครงการศูนย์กลางเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา จำนวน 32,500,000 บาท ให้กับศูนย์สำนักงานส่งเสริมคุณธรรมฯ วัดสระเกศฯ ที่มีจำเลยที่ 5 เป็นประธาน ซึ่งจำเลยที่ 5 ได้ต่อสู้ว่าไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย กรณีที่กล่าวหาก็ไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้าอาวาสวัด แต่เป็นประธานศูนย์สำนักงานส่งเสริมคุณธรรมฯ วัดสระเกศฯ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลเห็นว่าแม้จำเลยที่ 5 จะอ้างว่ากรณีที่ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำในฐานะเจ้าอาวาส แต่ในเอกสารที่ลงชื่อก็กำกับท้ายเจ้าอาวาส ขณะที่ศูนย์สำนักงานส่งเสริมฯ ก็อยู่ในความดูแลของวัดสระเกศฯ ที่จำเลยที่ 5 มีอำนาจบริหารจัดการดูแลภายในวัด ส่วนที่โจทก์ฟ้องก็ฟ้องจำเลยที่ 5 ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5

โดยการอนุมัติจัดสรรงบประมาณโครงการอบรมคุณธรรมจริยธรรม จำนวน 37 ล้านบาท นั้น ได้โอนเงินให้กับวัดสระเกศฯ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นเงิน 30 ล้านบาท ซึ่งจำเลยที่ 5 ก็มีหนังสือแจ้งกลับจำเลยที่ 1-4 ที่เป็นผู้บริหารงบประมาณว่าได้รับเงินที่จัดสรรมาแล้ว ศาลเห็นว่า ในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น ตามมติของมหาเถรสมาคม ให้สำนักงาน พศ.พิจารณาที่จะส่งเสริมการจัดกิจกรรมในเชิงรุก ซึ่งจะกำหนดแผนไว้ 3 ไตรมาส และกำหนดจำนวนคนที่จะเข้าโครงการอบรมฯ จำนวน 6 หมื่นคน ประจำปีงบประมาณ 2559 แต่ในการดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมคุณธรรมฯ วัดสระเกศฯ ที่จำเลยที่ 5 ดูแล กลับดำเนินการได้ไม่ตรงตามเป้าหมาย โดยมีผู้ร่วมโครงการจำนวน 22,000 คน กลับขอเงินอุดหนุนและได้รับอนุมัติถึง 30 ล้านบาท เพียงวัดเดียว ทั้งที่วัตถุประสงค์ในการจัดสรรงบประมาณ ต้องการให้กระจายงบในวัดทั่วประเทศจำนวน 39,400 กว่าแห่ง ในจำนวนนี้มีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมคุณธรรมเช่นเดียวกันประมาณ 7,500 แห่ง โดยเมื่อเทียบดูเวลาการอนุมัติเงินให้วัดสระเกศฯ นี้ ได้กระทำในช่วงต้นของปีงบประมาณดังกล่าว ทั้งที่ไม่ใช่กรณีเร่งรัด จำเลยที่ 1-4 จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องรีบอนุมัติเงินจำนวนมากดังกล่าว ซึ่งควรจะมีการส่งเรื่องให้คณะเลขานุการกลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงานตรวจดูก่อน หากพบว่ามีการใช้งบประมาณไม่ได้เต็มที่หรือเกินความจำเป็นก็สามารถที่จะเรียกคืนเงิน เพื่อมาจัดสรรให้กับส่วนอื่นได้อีก การกระทำส่วนนี้จึงเป็นการอนุมัติงบประมาณสำนักงาน พศ. ที่จัดสรรให้กับวัดสระเกศฯ เพียงวัดเดียว โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตามเป้าหมาย ส่วนงบประมาณจำนวน 7 ล้านบาท ในโครงการนี้ ตามทางนำสืบพบว่า เป็นการอนุมัติงบที่สืบเนื่องมาจากงบประมาณปี 2558 ที่ดำเนินการต่อเนื่องมา การกระทำของจำเลยที่ 1-5 ส่วนนี้จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง

ส่วนการอนุมัติงบประมาณให้กับโครงการศูนย์กลางเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา จำนวน 32,500,000 บาท วัดสระเกศฯ ก็ได้จัดสรร 2 ครั้ง ครั้งแรกจำนวน 26 ล้านบาท ครั้งที่สองจำนวน 6.5 ล้านบาท ซึ่งตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายก็ต้องวางแผนจัดกิจกรรมใน 3 ไตรมาส แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าวที่กำหนดให้วัดซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณต้องกระทำให้ครบทั้ง 6 ด้าน อาทิ ด้านการปกครอง การศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนา สาธารณสงเคราะห์พระภิกษุหรือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ แต่นำไปจัดกิจกรรมวันสำคัญทางศาสนาและนำไปจัดทำเป็นรูปแบบสารคดีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเผยแพร่ทางสื่อมวลชนที่อ้างเพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจและศรัทธาเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา ซึ่งแม้กิจกรรมส่วนหนึ่งจะเป็นการส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา แต่ก็ไม่ได้เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการจัดสรรงบอีกทั้งยังเป็นการดำเนินการให้กับวัดสระเกศฯ เพียงแห่งเดียว จากวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีส่วนงานเผยแผ่ 7,424 แห่ง นอกจากนี้การอนุมัติเงินงบประมาณให้กับ 2 โครงการของวัดสระเกศฯ ตามทางนำสืบยังได้ความจากจำเลยตอบการถามของอัยการโจทก์ว่า ก่อนการอนุมัติเหมือนมีการตกลงกันไว้ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1-4 ในการอนุมัติเงินงบประมาณทั้ง 2 โครงการดังกล่าว จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และอดีตอาวาสวัดสระเกศฯ จำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนฯ
สำหรับที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาทรัพย์ฯ ใช้อำนาจหน้าที่เบียดบังทรัพย์นั้นไปเป็นประโยชน์ของตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และจำเลยที่ 5 เป็นผู้สนับสนุนฯ นั้น ในความผิดฐานนี้จะต้องฟังได้ว่าผู้กระทำผิดได้นำทรัพย์ที่เบียดบังมาไปใช้ประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่น แต่ตามทางนำสืบรับฟังได้ว่าเมื่อจัดสรรงบประมาณไปแล้ว ทางวัดก็ได้นำไปจัดกิจกรรมตามโครงการ แต่ไม่ครบถ้วนตามเป้าหมายที่วางไว้ทั้งหมด อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณฯ โดยตามทางนำสืบก็ยังไม่มีหลักฐานฟังได้ว่าจำเลยที่ 1-5 นำเงินงบประมาณนั้นไปเป็นของตัวเอง ซึ่งประเด็นนี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เบิกความว่าในการทำหน้าที่ตรวจสอบการนำเงินงบประมาณไปดำเนิน 2 โครงการนี้ ไม่มีการทุจริต โดยเงินนั้นนำไปใช้ประชาสัมพันธ์งานของคณะสงฆ์ ซึ่งในขั้นตอนนั้นไม่มีการวางระเบียบของคณะสงฆ์เรื่องการใช้จ่ายเงินไว้เป็นที่ชัดเจน จึงทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจคลาดเคลื่อน การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 147 ดังนั้นที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยร่วมกันคืนเงินให้กับสำนักงาน พศ. ผู้เสียหายด้วยนั้น เมื่อฟังได้ว่ามีการใช้งบประมาณไปจัดกิจกรรมด้านศาสนาแล้ว จึงไม่ต้องร่วมกันคืนเงินในส่วนนี้
พิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุก “นายพนม” อดีต ผอ.สำนักงาน พศ. จำเลยที่ 1 จำนวน 2 กระทงๆ ละ 2 ปี รวม 4 ปี , จำเลยที่ 2-4 จำคุก 3 กระทงๆ ละ 2 ปี รวม 6 ปี ตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83

ส่วน พระพรหมสิทธิฯ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ จำเลยที่ 5 จำคุก 3 กระทงๆ ละ 1 ปี 4 เดือน และปรับกระทงละ 12,000 บาท รวม 3 ปี 12 เดือนและปรับ 36,000 บาท ตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86

คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 4 คงจำคุก จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 12 เดือนและให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีหมายเลขดำ อท.253/2561 ที่มีโทษจำคุก 20 ปีและโทษจำคุก 3 เดือน คดีหมายเลขดำ จส.2/2562 ของศาลนี้ด้วย , จำเลยที่ 2-4 จำคุกคนละ 3 ปี 18 เดือน ส่วนจำเลยที่ 5 ให้จำคุก 36 เดือน และปรับ 27,000 บาท

โดยในส่วนของ พระพรหมสิทธิฯ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ จำเลยที่ 5 เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม ภาวะแห่งจิต สิ่งแวดล้อม และสภาพความผิดของจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นพระภิกษุ เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในธรรมวินัย เป็นครูผู้สอนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นผู้มีบทบาทในการส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นผู้สร้างคุณประโยชน์ให้กับคณะสงฆ์ สังคม และสถาบันการศึกษาต่างๆ อย่างต่อเนื่องตลอดมา จนได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์หลายสาขาจากหลายมหาวิทยาลัย ทั้งของรัฐและเอกชน และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่พระพรหมสิทธิซึ่งมีศักดิ์สูงกว่าพระราชาคณะชั้นธรรม และรองลงมาจากสมเด็จพระราชาคณะ อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 10 ประกอบกับไม่มีเรื่องการทุจริตหรือแสวงหาประโยชน์ส่วนตน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น