xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอนุญาตฝากขัง “พนม ศรศิลป์” พร้อมพวกคดีโกงเงินทอนวัด ญาตเรียงหน้ายื่นหลักทรัพย์ประกันตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลอาญาคดีทุจริตอนุญาตฝากขัง “พนม ศรศิลป์” อดีต ผอ.พศ.พร้อมพวกคดีโกงเงินทอน ตามคำร้องพนักงานสอบสวน เป็นเวลา 12 วัน ญาติเดินหน้ายื่นหลักทรัพย์ขอปล่อยตัว อยู่ระหว่างการพิจารณา

วันนี้ (2 ส.ค.) ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี พนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้ควบคุมตัวนายพนม ศรศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ปัจจุบันเป็นผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายแก้ว ชิดตะขบ อดีตนักวิชาการศาสนา กองพุทธศาสนศึกษา (ปัจจุบันเป็น ผอ.พศจ.อ่างทอง), นายณรงค์เดช ชัยเนตร อดีต ผอ.กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา พศ. (ปัจจุบันเป็น ผอ.พศจ.สิงห์บุรี), นายวสวัสดิ์ กิตติธีระสิทธิ์ อดีต ผอ.ส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนสงเคราะห์ พศ., นายบุญเลิศ โสภา อดีต ผอ.กองพุทธศาสนศึกษา พศจ.ลำปาง (ปัจจุบันเป็น ผอ.พศจ.กาญจนบุรี), นายชยพล พงษ์สีดา อดีตรอง ผอ.พศ., นายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี อดีตนักวิชาการศาสนา กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา พศจ.นครปฐม และนางพรเพ็ญ กิตติธรางกูร อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ พศ. (ปัจจุบันเป็น ผอ.กลุ่มการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ พศ.) ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาคดีทุจริตฯ เมื่อเดือน ก.ค.-ส.ค. 2561 คดีร่วมกันทุจริตเบียดบังเงินงบประมาณสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในการจัดสรรให้เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาและเงินอุดหนุนโรงเรียนพระปริยัติธรรม หรือคดีเงินทอนวัด มายื่นคำร้องฝากขังครั้งแรกต่อศาลเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 2-13 ส.ค.นี้ เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีก 10-15 ปาก รอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพยานหลักฐานอื่นๆ พร้อมคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากผู้ต้องหาแต่ละคนมีหมายจับหลายคดี และคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าหากปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาอาจหลบหนีหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

โดยคำร้องฝากขังได้แยกเป็น 3 สำนวน สำนวนแรกคือนายวสวัสดิ์ กิตติธีระสิทธิ์ อดีต ผอ.ส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนสงเคราะห์ พศ. ซึ่งพฤติการณ์ขณะเกิดเหตุเมื่อวันที่ 1 ต.ค. - 4 ธ.ค. 2557 ขณะนายวสวัสดิ์ดำรงตำแหน่ง ผอ.นี้ ได้มีการอ้างผลการประชุมที่ให้มีการจัดสรรเงินงบประมาณ พศ.ประจำปี 2558 ที่เป็นเงินอุดหนุนการเผยแผ่พุทธศาสนาให้แก่วัดมุขธาราราม และวัดท่าพญา จ.นครศรีธรรมราช เป็นเงินจำนวน 21,300,000 บาท โดยที่ไม่มีการเสนอรายงานการประชุมรับรอง และภายหลังได้มีการเบิกถอนเงินไปให้กับนายเจษฎา วงศ์เมฆ นักธุรกิจ ซึ่งเป็นบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง คงเหลือเงินเพียง 700,000 บาทให้วัดทั้งสอง การกระทำของนายวสวัสดิ์ ผู้ต้องหานี้เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ได้เบียดบังทรัพย์นั้นไปเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต มาตรา 147 (ระวางโทษจำคุก 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท)

สำนวนที่ 2 มีนายณรงค์เดช ชัยเนตร อดีต ผอ.กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา พศ., นายชยพล พงษ์สีดา อดีตรอง ผอ.พศ. และนายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี อดีตนักวิชาการศาสนา กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา พศจ.นครปฐม เป็นผู้ต้องหาซึ่งมีพฤติการณ์ปรากฏคือ เมื่อวันที่ 15 ก.ย. - 10 ธ.ค. 2558 ได้ร่วมกับนายพนม ศรศิลป์ และพวก ในการจัดสรรงบประมาณ พศ. ให้กับวัดสระเกศ เพื่อจัดตั้งศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาในปี 2559 เป็นเงินจำนวน 32,500,000 บาท และจำนวน 31,200,000 บาท เพียงวัดเดียว ทั้งที่การจัดสรรงบจะต้องดำเนินการให้แก่วัด 12 แห่ง ซึ่งภายหลังได้มีการเบิกถอนเงินให้กับบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องหลายครั้งหลายหน การกระทำของผู้ต้องหาทั้งสามเป็นความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ได้เบียดบังทรัพย์นั้นไปเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต มาตรา 147 และร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานทำให้เสียหาย ทำลายซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์หรือเอกสารใดฯ มาตรา 158 ประกอบมาตรา 83

ส่วนสำนวนที่ 3 มีนางพรเพ็ญ กิตติธรางกูร อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ พศ., นายพนม ศรศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.), นายบุญเลิศ โสภา อดีต ผอ.กองพุทธศาสนศึกษา พศจ.ลำปาง และนายแก้ว ชิดตะขบ อดีตนักวิชาการศาสนา กองพุทธศาสนศึกษา เป็นผู้ต้องหาซึ่งมีพฤติการณ์ปรากฏคือ เมื่อเดือน ธ.ค. 2556 - ธ.ค. 2557 ได้ร่วมกับนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.พศ.ขณะนั้น โดยนายพนมเป็น รอง ผอ.พศ.ขณะนั้น จัดสรรงบประมาณ พศ.ในส่วนเงินอุดหนุนโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ให้กับวัดสามพระยา จำนวน 5,000,000 บาท ทั้งที่วัดสามพระยาไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งต่อมาพระพรหมดิลก (เอื้อน กลิ่นสาลี) เจ้าอาวาสวัดสามพระยาขณะนั้น เมื่อทราบเรื่องก็มีการเบิกถอนเงินให้กับบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้อง อันเป็นการเบียดบังทรัพย์สินไปโดยมิชอบ โดยผู้ต้องหาซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน พศ.และพระพรหมดิลกซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่าวัดไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม การกระทำของพระพรหมดิลกจึงเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ส่วนผู้ต้องหาทั้งสี่ก็มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ได้เบียดบังทรัพย์นั้นไปเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต มาตรา 147 และเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารฯ ได้รับรองเอกสารเป็นหลักฐานอันเป็นความเท็จฯ มาตรา 162 (4)

ทุกสำนวนเหตุเกิดที่สำนักงาน พศ. อำเภอพุทธมณฑล จ.นครปฐม, วัดสระเกศ, วัดสามพระยา และที่อื่นเกี่ยวพันกัน ชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

กระทั่งเวลา 13.30 น. ศาลได้พิจารณาคำร้องและสอบถามผู้ต้องหาทั้งหมด โดยนายวสวัสดิ์ ผู้ต้องหาสำนวนแรกแถลงคัดค้านการฝากขัง พร้อมยืนยันว่าตนปฏิบัติตามหน้าที่และประเพณีปฏิบัติเมื่อที่ผ่านมา ส่วนผู้ต้องหาอีก 7 ราย ก็ขอคัดค้านการฝากขังในทำนองเดียวกันว่า ทุกคนได้ให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลกับพนักงานสอบสวนเป็นอย่างดีตลอดมา ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี อีกทั้งผู้ต้องหาบางรายมีภาระจะต้องดูแลบุตร

ขณะที่พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบยื่นคำร้องฝากขังทั้ง 3 สำนวน แถลงยืนยันต่อศาลถึงเหตุจำเป็นการฝากขังว่าจะต้องสอบพยานบุคคลอีก 10-15 ปาก โดยจะรีบดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว อย่างไรก็ดี ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ากรณียังมีเหตุจำเป็นตามคำร้องของพนักงานสอบสวนดังกล่าว จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 8 คน เป็นเวลา 12 วัน

ต่อมาญาตของผู้ต้องหาทั้งหมดได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราวในชั้นฝากขังซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล


กำลังโหลดความคิดเห็น