เมืองไทย 360 องศา
แน่นอนว่าการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลของฝ่ายค้านที่จะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์เป็นต้นไปนั้นแม้ว่าจะมีรายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกขึ้นบัญชีซักฟอกรวม 6 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่เป้าหมายที่ถูกล็อกเป้าเอาไว้ตั้งแต่ต้นก็คือ “ 3 ป.” เท่านั้น คือ ป.ประยุทธ์ ป.ประวิตร และ ป.ป็อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นั่นเอง
อย่างไรก็ดีเป้าหมายหลักจริงๆที่ถูกหมายหัวเอาไว้ โดยเฉพาะที่ถูกกำหนดออกมาจากพรรคเพื่อไทยก็ต้องมุ่งมาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงคนเดียวเท่านั้น เพราะหากพิจารณาจากแบ็กกราวด์ความเป็นมาของพรรคฝ่ายค้านหลักอย่างพรรคเพื่อไทยก็พอจะรับรู้กันดีว่ามีใครเป็นเจ้าของหรือมีใครสามารถชี้นำก็สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก
อีกทั้งที่ผ่านมามีระดับแกนนำพรรค เช่น นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ซึ่งถือว่าเป็นคนใกล้ชิดกับครอบครัวของ นายทักษิณ ชินวัตร ก็เคยเปรยให้รับรู้ท่าทีออกมาแล้วว่าเป้าหมายมุ่งมาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากมีความแค้นใจจากการการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่เข้ามาควบคุมอำนาจรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนต้องพ้นจากอำนาจมาจนถึงทุกวันนี้
จากคำพูดดังกล่าวยังทำให้รับรู้ถึงแนวทางในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้านหลักอย่างพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้จะเป็นความพยายามในการอภิปรายในลักษณะ “ย้อนยุค” กลับไปตั้งแต่เมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการยึดอำนาจรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นต้นมา ซึ่งแน่นอนว่าย่อมต้องเกิดการประท้วงกันวุ่นวายแน่ หากฝ่ายค้านยังดึงดันที่อภิปรายในแนวทางดังกล่าวต่อไป
ขณะที่ทางพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลก็ยังยืนยันว่าต้องอภิปรายเฉพาะช่วงเวลารัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งเข้ามาบริหารในช่วง 5-6 เดือนเท่านั้น ห้ามอภิปรายนอกเหนือเวลานี้เด็ดขาด
อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มและการเคลื่อนไหวที่เห็นในเวลานี้ทำให้พอเห็นภาพล่วงหน้าได้เลยว่าบรรยากาศการอภิปรายจะต้องดุเดือดไม่น้อย แม้ว่าจะคนละเรื่องกับ “เนื้อหาสาระ”ในการอภิปรายว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน เมื่อได้เห็นการปรากฏรายชื่อของ “ขุนพล” หรือบรรดา “องครักษ์” พิทักษ์ 3 ป.โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่นอกเหนือจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีแล้วยังดำรงตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์ของพรรคพลังประชารัฐอีกด้วย
จากความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐที่กำลังมีการกำหนดวันสัมมนา ส.ส.ของพรรคที่พัทยาในวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ ตามข่าวบอกว่าเป็นการ “ติวเข้ม” บรรดาส.ส.ของพรรคเพื่อเตรียมรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่สำคัญก็คือเป็นการเตรียมข้อมูล รวมไปถึงแท็กติกข้อกฎหมายต่างๆในสภา รวมไปถึงการประท้วงหรือการปกป้องรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ซึ่งถูกมองว่าเป็นการเตรียมการไว้ “ชน” กับฝ่ายค้านโดยตรง
ขณะเดียวกันพรรคพลังประชารัฐยังได้เปิดตัวบรรดา “ขุนพล”หรือ “องครักษ์” พิทักษ์นอกสภา ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรายชื่อที่มี นายจำลอง ครุฑขุนทด เป็นประธาน นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ เป็นเลขาธิการคณะทำงาน นายอำนวย คลังผา เป็นต้น เท่าที่เห็นรายชื่อก็ล้วนแต่น่าติดตาม เพราะรายชื่อจำนวนมากล้วนแล้วแต่เป็นอดีตสมาชิกพรรค และอดีตส.ส.ของพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักไทย ความหมายก็คือล้วนเคยอยู่ในพรรคเดียวกัน เป็นพวกเดียวกันมาก่อน ย่อมรู้ไส้รู้พุงกันมาเป็นอย่างดี
อีกด้านหนึ่งเมื่อมองเห็นการ “เปิดหัว”ออกมาของพรรคฝ่ายค้าน เช่น นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมการกิจกรรมพิเศษ ที่เป็นหนึ่งในการอภิปรายครั้งนี้ โดยเปิดเผยว่าจะอภิปรายเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลในการโครงการเช่าศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยเขาย้ำว่าการอภิปรายของเขาอาจจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทนไม่ได้จนถึงขั้นต้องลาออกในที่สุดก็ได้
เมื่อมีการแย้มออกมาแบบนี้ก็ทำให้มองเห็นภาพว่าต้องเป็นการอภิปรายย้อนยุคกลับไปในอดีตหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 ซึ่งเชื่อว่าบรรยากาศจะต้องดุเดือดแน่นอน ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งก็สามารถเข้าใจได้ว่านี่คือแผนยั่วยุให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นเป้าหมายหลัก ตะบะแตกจนควบคุมอารมณ์ไม่ได้นั่นเอง !!