xs
xsm
sm
md
lg

ถกงบฯ 63 วาระ 2 รอบใหม่ส่อวุ่น คะแนนโหวตมาตรา 6 น้อยกว่าองค์ประชุม “ชวน” หารือด่วนหวั่นเกิดปัญหาซ้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร
สภาโหวตร่างงบฯ 63 รอบใหม่ฝ่ายค้านร่วมเป็นองค์ประชุมแต่ไม่ร่วมโหวต “ชวน” การันตีทันกรอบเวลา 105 วัน เห็นใจเครื่องเสียบบัตรไม่พอ ย้ำ ส.ส.อดทนอย่าเสียบบัตรแทนกัน การลงมติทำท่าจะราบรื่น แต่เกิดปัญหามาตรา 6 จำนวนเสียงลงมติน้อยกว่าองค์ประชุม สั่งพักให้หารือหาทางออกด่วน หวั่นเกิดปัญหาตามมา

เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (13 ก.พ.) นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็นรายมาตราในวาระที่ 2 และให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ก่อนเปิดการประชุมสภาฯ คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านได้มีการประชุมร่วมกันและมีมติออกมา 3 ข้อ ได้แก่ 1. ลงชื่อเข้าร่วมประชุม 2. ระหว่างประชุมสภาฯ ฝ่ายค้านจะไม่อยู่ร่วมในห้องประชุม ยกเว้น ส.ส.ที่ได้รับมอบกหมายให้อภิปรายก่อนเข้าวาระ และ 3. ให้ ส.ส.เก็บบัตรลงคะแนน ห้ามทิ้งไว้ที่เครื่องลงคะแนน 4. การลงมติเป็นรายมาตรา ส.ส.ฝายค้านจะไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมและไม่ลงมติ


ต่อมาเมื่อมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นทางการ นายชวนได้เปิดโอกาสให้ ส.ส.ได้อภิปรายหารือกับประธานสภาฯ ก่อนเข้าสู่การพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายค้านได้ลงชื่อมาประชุมเพื่อร่วมเป็นองค์ประชุมสภาฯ เพื่อให้สามารถเปิดประชุมสภาฯ ได้แล้ว และเพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลได้พิจารณาอย่างเต็มที่ ทางฝ่ายค้านจะไม่ขอเข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีความสงสัยว่าทำไมนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ถึงยังเข้ามาร่วมประชุมสภาฯ

ด้านนายเรืองไกรกล่าวว่า สาเหตุที่เข้ามาประชุมสภาฯ ด้วยเนื่องจากได้รับจดหมายจากทางสภาฯ เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ให้เข้ามาร่วมประชุมเพื่อชี้แจงในนามคณะกรรมาธิการวิสามัญ

ขณะที่นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ได้สอบถามนายชวนว่าหากโซนที่นั่งของ ส.ส.รัฐบาลไม่เพียงพอ ส.ส.รัฐบาลจะสามารถไปนั่งในโซนของฝ่ายค้านเพื่อใช้เครื่องลงคะแนนได้หรือไม่ นายชวนกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่สมควรจะทำแบบนั้น เพราะอาจถูกกล่าวหาได้ว่ามีการเสียบบัตรแทนกัน อย่างไรก็ตาม จะเผื่อเวลาให้กับ ส.ส.ในการใช้เครื่องลงคะแนนในการพิจารณาแต่ละมาตราต่อไป


จากนั้น นายชวนได้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระในการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณเป็นรายมาตรา โดยกล่าวถึงที่มาของการประชุมวันนี้ว่าเป็นผลมาจากการที่มีข่าวออกมาว่ามีการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส. จนทำให้ ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้านเข้าชื่อเพื่อส่งให้ประธานสภาฯ ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ตามมาตรา 148 (1) ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่ากระบวนการพิจารณาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเฉพาะการลงมติในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่กำหนดคำบังคับให้สภาฯ ดำเนินการใหม่ในวาระที่ 2 และ 3 ใหม่

“เป็นเรื่องที่เราใช้สิทธิไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สิ่งเราต้องทำคือ คำวินิจฉัยมีผลผูกพันรัฐสภา เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ส่วนเรื่องความชอบหรือไม่ชอบ ก็ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของแต่ละคน และกรณีไม่ได้เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะมาจากการที่ประธานสภาฯ ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผมต้องร่วมรับผิดชอบ ถ้าการทำงานผิดพลาดก็ร้องเรียนมากันมาได้ครับ แต่ยืนยันการดำเนินการประชุมวันนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องกรอบเวลา 105 วันที่สภาฯ ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จแล้วและสิ้นสุดไปตั้งแต่เดือน ม.ค.แล้วนั้น ขอชี้แจงว่าประเด็น 105 วัน สภาฯ ได้ดำเนินการครบถ้วนแล้วตั้งแต่ 11 ม.ค. 2563 แต่การประชุมวันนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่อง 105 วัน เพราะเป็นกระบวนการใหม่ที่เกิดมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขออย่าไปกังวลว่าเราเสียเกียรติหรือไม่เพราะการเคารพกฎหมายบ้านเมืองเป็นการกระทำที่มีเกียรติอยู่แล้ว” นายชวนกล่าว


ต่อมา นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 กล่าวนำเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้วว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงขอนำเสนอรายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ให้ที่ประชุมสภาฯ ได้พิจารณา

จากนั้นเริ่มพิจารณารายมาตรา นายชวนย้ำต่อสมาชิกว่า การอภิปรายหากประเด็นใดไม่เป็นประเด็นมากนักช่วยสรุปเพื่อประหยัดเวลาด้วย

โดยทันทีที่เริ่มพิจารณาเนื้อหามาตรา 1 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ขอใช้สิทธิอภิปรายตั้งขอสังเกตว่าร่างกฎหมายบประมาณพ้นกรอบเวลา 105 วัน ตามรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 แล้ว วันนี้จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 143 อย่างชัดเจน และอาจมีการยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามรัฐธรรมนูญ


ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ประท้วงว่าประธานสภาฯ ได้ชี้แจงเหตุผลแล้ว กรรมาธิการวิสามัญมีหน้าที่เพื่อชี้แจงเท่านั้น ไม่ใช่หน้าที่จะมาบอกว่ากระบวนการชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยประธานสภาฯ ได้ย้ำว่ากระบวนการที่เกิดขึ้น มาจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ชี้แจงว่ายังมีปัญหา เนื่องจากหนังสือเชิญกรรมาธิการมาชี้แจง แต่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำสั่งอย่างเป็นทางการออกมา จนทำให้นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ประท้วงว่าอภิปรายนอกประเด็นที่สงวนคำแปรญัตติไว้

หลังจากที่อภิปรายมาตรา 1 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ที่ประชุมได้ตรวจสอบองค์ประชุมก่อนที่จะลงมติมาตรา 1 ปรากฏว่ามี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลแสดงตนเป็นองค์ประชุม 250 เสียง ถือว่าเกินองค์ประชุมมาอย่างฉิวเฉียดเพียง 1 เสียง จากจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ในสภาขณะนี้ 498 คน ที่ต้องมีองค์ประชุมตั้งแต่ 249 เสียงขึ้นไป หลังจากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบมาตรา 1 ด้วยคะแนน 245 ต่อ 0 งดออกเสียง 6


ขณะที่นายชวนกล่าวระหว่างให้สมาชิกเสียบบัตรแสดงตนว่า ทุกครั้งที่ลงคะแนนตนเห็นใจสมาชิกอย่างยิ่งที่ที่เสียบบัตรไม่เพียงพอ เราต้องลงมติอย่างนี้อีกหลายมาตรา เหนื่อยหน่อยแต่ไม่เหนื่อยเท่าหาเสียง ขอให้ทนกันสักพักถึงเดือน พ.ค.เราก็จะย้ายไปประชุมอาคารสุริยัน

ขณะที่การพิจารณามาตรา 2 ไปจนถึงมาตรา 8 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต กมธ.เสียงข้างน้อยที่ขอสงวนความเห็นอภิปรายไว้ในเกือบทุกมาตราก็ยังคงอภิปรายตามที่ได้สงวนความเห็นไว้ โดยมีบางมาตราที่นายเรืองไกรแฉลบออกไปพูดนอกประเด็น ทำให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลต้องคอยประท้วงอยู่เป็นระยะ แต่บรรยากาศการประชุมยังเดินไปได้ด้วยดี

จนกระทั่งเข้าสู่มาตรา 9 กระทรวงการคลัง นายเรืองไกรได้ขอถอนในสิ่งที่สงวนความเห็นขออภิปรายไว้ ทำให้การประชุมลงมติตั้งแต่มาตรา 9 เป็นต้นไป เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพราะไม่มีกรรมาธิการ และ ส.ส.คนใดติดใจขออภิปราย แต่ละมาตราใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็สามารถลงมติผ่านความเห็นชอบไปได้อย่างราบรื่น แต่ละมาตรามี ส.ส.รัฐบาลแสดงตนเป็นองค์ประชุมอยู่ระหว่าง 250-254 เสียง มีเสียงให้ความเห็นชอบอยู่ระหว่าง 244-245 เสียง และงดออกเสียงอยู่ระหว่าง 5-6 เสียง โดยไม่มีเสียงไม่เห็นชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการแสดงตนเป็นองค์ประชุมนั้นมี ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาล แสดงตนเป็นองค์ประชุมอย่างพร้อมเพรียง ส่วนคะแนนงดออกเสียงที่มีผู้งดออกเสียงในแต่ละมาตราอยู่ที่ประมาณ 7 คนนั้น พบว่าเป็นของ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 คน ที่ประกาศตัวแยกการทำงานจากการเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน และขอทำงานอิสระ ได้แก่ นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายภาสกร เงินเจริญกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายสุภดิช อากาศฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วนคะแนนงดออกเสียงอีก 2 เสียง คือ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร

หลังจากที่ประชุมมีการลงมติมาจนถึงมาตรา 31 (เวลา 12.50 น.) นายชวนได้สั่งพักการประชุม 30 นาที โดยระบุว่ามี ส.ส.เข้าคิวเข้าห้องน้ำจำนวนมาก


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุหลักที่ทำให้นายชวนต้องสั่งพักการประชุมเนื่องจากมีปัญหาระหว่างการโหวตมาตรา 6 ที่จำนวนคะแนนเสียง 237 เสียง ต่อ 0 งดออกเสียง 7 เสียง ซึ่งน้อยกว่าจำนวนองค์ประชุม คือ 252 เสียง ทำให้นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นท้วงติงโดยเกรงว่าจะมีปัญหาตามมาอีก แต่นายชวนได้ชี้แจงว่าองค์ประชุมมีการเช็กก่อนที่จะมีการลงมติแล้วเมื่อองค์ประชุมครบเราจึงลงมติ โดยถือเสียงข้างมาก ดังนั้นไม่มีปัญหาอะไร

อย่างไรก็ตาม แม้นายชวนจะวินิจฉัยไปแล้ว แต่ที่ประชุมยังคงกังวลว่าจะนำไปสู่ปัญหาการยื่นตีความในอนาคตได้ ดังนั้นจึงให้วิปรัฐบาลไปหารือเพื่อหาทางออก จนการพักการประชุมผ่านไปร่วมชั่วโมงแล้ว (14.10 น.) ที่ประชุมก็ยังไม่สามารถเปิดพิจารณาต่อไปได้




กำลังโหลดความคิดเห็น