“ประยุทธ์” ระบุไม่ให้เรือสำราญเทียบท่า แต่ดูแลเรื่องมนุษยธรรม ต้องระวังโคโรนาระยะที่ 3 สั่ง พณ.คุยผลิตหน้ากากอนามัยเพิ่ม ต้องแยกของเอกชน-อภ.คนละแบบ มีเรื่องการตลาด ย้ำให้ความสำคัญความปลอดภัย ปชช.
วันนี้ (11 ก.พ.) เมื่อเวลา 13.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ถึงการแก้ไขป้องกันไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่า เรื่องของเรือสำราญที่จะขอจอดเทียบท่าเรือของไทยนั้นเราไม่อนุญาตให้จอด แต่เราจะดูแลในเรื่องของมนุษยธรรม อย่างการเติมน้ำมัน หรือต้องการน้ำ อาหาร เราจะส่งไปให้ ต้องมีมาตรการที่เหมาะสมก่อนเช่นเดียวกับต่างประเทศที่ดำเนินการเช่นเดียวกัน ขอให้เข้าใจด้วย เพราะมีคนจำนวนมาก 2 พันกว่าคนบนเรือ เราต้องระมัดระวังการแพร่กระจายไประยะที่ 3 วันนี้เราอยู่ในระยะที่ 2 ยังควบคุมได้ หรือดูแลผู้ที่มาจากต่างประเทศได้ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ จะประชุมและให้ทางกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงมาตรการเตรียมการขั้นต้น ไม่ให้นำไปสู่การแพร่ระบาดก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนก ถ้าเราทำได้ดีครบถ้วนทุกอย่างก็ไม่มีปัญหา
นายกฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังให้ รมว.พาณิชย์ ไปประชุมหารือกับผู้ประกอบการผลิตหน้ากากอนามัยให้ผลิตเพิ่มมากขึ้น ทราบว่าหลายโรงงานมีการเพิ่มวงรอบการผลิตเพื่อให้ประชาชนใช้ได้อย่างทั่วถึง และต้องมีมาตรการสำรองด้วย เพราะหลายประเทศขอมาเหมือนกัน ขณะนี้หน้ากากอนามัยขาดแคลนหลายประเทศ เราจึงต้องเตรียมการให้พร้อม และอยากฝากเรียนว่าวันนี้เราให้ความรู้ทั้งการสาธารณสุข ทางการแพทย์ อาจจะใช้วิธีการทำหน้ากากอนามัยด้วยผ้าซึ่งสามารถซักใช้ได้หลายครั้ง จะทนทานมากกว่าใช้หน้ากากชั่วคราวแบบนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมีให้เพียงพอ ทั้งในส่วนที่จำหน่ายตามร้านค้า ต้องไปหาตั้งแต่ต้นทางมา ผลิตได้เท่าไหร่ จะเพิ่มจำนวนเท่าไหร่ อย่าลืมว่าที่ผ่านมาโรงงานทำด้วยกลไกทางการตลาดของเขาเอง ราคาก็เป็นจำนวนหนึ่ง เราจะดูว่าทำอย่างไรให้กระจายไปทุกพื้นที่
วันนี้หน้ากากอนามัยไปร้านค้าประชารัฐส่วนหนึ่ง และร้านค้าต่างๆ อีกส่วนหนึ่ง แต่ปริมาณผลิตไม่พอจึงขาดแคลน ต้องเร่งรัดตรงนี้ รัฐบาลยินดีพร้อมสนับสนุน ส่วนหนึ่งที่ได้รับมาก็นำไปแจกก็มี ทุกคนต้องเข้าใจนิดหนึ่งว่าการผลิตภาคเอกชน และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) คนละแบบกัน อันนั้นเป็นเรื่องการตลาดการค้าของเขาที่มีค่าการตลาดอยู่พอสมควร ในส่วนของ อภ.ก็มีจำกัด ราคาจึงอาจแตกต่างกันก็ต้องดูในส่วนไหนจะทำประโยชน์อย่างไร อย่างน้อยเราก็ได้กำชับไปในทางปฏิบัติให้ได้มากที่สุด วันนี้ได้พูดคุย ครม.หลายประเด็นด้วยกัน ทั้งมาตราการระยะสั้น มาตรการระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องการขาดแคลน และในส่วนที่ต้องร่วมมือกับต่างประเทศด้วย
นายกฯ กล่าวว่า หลายๆ อย่างเราต้องวิเคาระห์สถานการณ์ให้ดี ถูกต้อง บทพื้นฐานกฎหมายของเรา ความปลอดภัยประชาชนของเรา เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญที่สุด