xs
xsm
sm
md
lg

สธ.แจงยังไม่อนุญาตเรือเวสเตอร์ดัมเทียบท่าแหลมฉบัง ส่งทีมประสานข้อมูล ยันไม่ให้โรคเข้าไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.แจงเรือสำราญเวสเตอร์ดัม ประสานขอเข้าเทียบท่าเรือแหลมฉบังจริง แต่ยังไม่มีการอนุญาต เผย ขั้นตอนเป็นหน้าที่คณะทำงานประจำช่องทางเข้าออกพิจารณา ร่วมกับ กรมเจ้าท่า และ ตม. จะให้เข้าเทียบท่าหรือเข้าเมือง หรือไม่ ล่าสุด ส่งทีมงานประสานข้อมูลแล้ว ยันเฝ้าระวังไม่ให้มีโรคเข้ามาในไทยแน่ ควบคู่มนุษยธรรม

วันนี้ (11 ก.พ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีเรือสำราญเวสเตอร์ดัม จะมาเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง หลังถูก ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และ ไต้หวัน ปฏิเสธ เพราะกังวลเรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่า เมื่อ สธ.ทราบข่าว จึงได้ประสานไปยังการท่าเรือแห่งประเทศไทย และ กรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นหน่วยงานในการที่จะอนุญาตให้เรือเข้ามาหรือไม่ ก็ทราบว่า ตัวแทนเรือสำราญดังกล่าว มีเอกสารประสานงานมาจริง แต่ยังไม่มีการอนุญาตให้เข้าเทียบท่า โดยเรื่องนี้ สธ.ได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดเรื่องการดำเนินการ เพื่อให้มั่นใจว่า จะไม่นำโรคติดต่อ ไม่ว่าจะเป็นจากกลุ่มคนหรือคณะเข้าสู่ประเทศอย่างแน่นอน โดยจะบูรณาการการทำงานตามอำนาจ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้มีคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออก มีหน้าที่ต้องดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ และกรณีมีเหตุสงสัยว่าเรือมาจากท้องที่ หรือเมืองท่าที่มีโรคระบาด กฎหมายนี้ก็มอบอำนาจให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคที่ประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ มีอำนาจหน้าที่สามารถตรวจทั้งผู้เดินทางและพาหนะ รวมถึงการพิจารณาเรื่องการให้เทียบท่าร่วมกับเจ้าของท่า ซึ่งกรณีนี้ คือ ท่าเรือแหลมฉบัง และ กรมเจ้าท่า หรือพิจารณาเรื่องการเข้าเมืองร่วมกับสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)


นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ขณะนี้ สธ.มอบหมายให้ นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการ สธ.เขตสุขภาพที่ 6 ซึ่งดูแลพื้นที่นี้ ร่วมกับ นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และ นพ.หรรษา รักษาคม ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี พร้อมทีมงานเดินทางไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อไปถึงก็จะประสานกับคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออก เพื่อหารือเรื่องการดำเนินงานให้เหมาะสมที่สุด อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ห่วงใยกรณีดังกล่าว และหารือกันตั้งแต่เมื่อคืน ว่า ข่าวที่เกิดอาจสร้างความสับสนให้ประชาชนคนไทย เบื้องต้น จึงยังไม่ได้อนุญาตให้เรือดังกล่าวเข้าเทียบท่าแต่อย่างใด

“ตามปกติเรือไปจอดที่ไหนต้องแจ้งข้อมูลต่างๆ เพื่อพิสูจน์ตัวเองให้แก่ท่าเรือ เช่น สภาพเรือ คนบนเรือ และต้องแจ้งล่วงหน้า ไม่ใช่มาถึงท่าแล้วแจ้ง และผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีอำนาจตามหน้าที่ถึงพิจารณาว่าจะให้เข้าหรือไม่ พอเช็กไปที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมเจ้าท่า ก็พบว่าเรือดังกล่าวมีการประสานมา ซึ่งก็จะมีขั้นตอนของกระบวนการต่างๆ เชื่อว่าอยู่ในระหว่างการประสานงาน จึงส่งทีมงานลงไปประสานร่วมกับคณะกรรมการประจำช่องทาง” นพ.สุวรรณชัย กล่าวและว่า ส่วนที่ว่าเรือมีเส้นทางยังไทยหรือไม่ เราได้มีการประสานงานและสอบถามกับทางเอเยนซีของเรือท่องเที่ยวนี้ และบริษัทท่องเที่ยวที่เป็นเจ้าของเรือโดยตรง แต่ข้อมูลกำลังทยอยเข้ามา แต่ตามข่าวที่ทราบกัน คือ เส้นทางของเรือลำนี้ ไม่ได้มีเส้นทางที่ไทย

เมื่อถามว่า แม้จะไม่อนุญาตให้เทียบท่า การส่งคณะทำงานเข้าไปเป็นการเข้าไปดำเนินการเรื่องอะไร นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ตอนนี้เราไม่อนุญาตให้เทียบท่า แต่ก็มีขั้นตอน คือ การแจ้ง และอยู่ที่ว่าเรายืนยันหรือไม่

ถามต่อว่า หมายถึงลงไปเพื่อพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต ใช่หรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า เราก็ลงไปดูข้อมูลหน้างาน ก็มีการถามอยู่ว่ามีเส้นทางผ่านหรือไม่ แต่ตามข่าวเส้นทางไม่ผ่านไทย แต่ประเด็นเราต้องเรียกเอเยนซีมาสอบถามถึงได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เราคงไม่มีการดำเนินงานตามกฎหมายโดยอาศัยข่าว แต่ต้องอาศัยข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้าน และนโบายรัฐบาลให้สำคัญกับการสร้างความมั่นใจ ที่จะป้องกันควบคุมไม่ให้มีโรคติดต่อระหว่างประเทศเข้ามาในส่วนของประเทศไทย

เมื่อถามว่า ต้องเอาข้อมูลมาพิจารณาอีกทีหนึ่ง นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ก็ต้องรวบรวมข้อมูล ถ้าข้อมูลไม่ต้องพิจารณาก็ไม่ต้องพิจารณา

ถามว่า อาจไม่ให้เทียบท่าแต่ให้อยู่ในทะเลใกล้ๆ ได้ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ตอนนี้สถานะเรือยังไม่ได้มาถึง เราก็ตีตนไปก่อนไข้ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมได้ติดตามอย่างใกล้ชิด เรื่องนี้ดำเนินการเราเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรค โดยนึกถึงประเทศไทยและประชาชนสูงสุด แต่ก็คำนึงถึงมนุษยธรรมด้วย อย่างกรณี ญี่ปุ่น ดูประโยชน์ประเทศเป็นหลัก และดูว่าเป็นภาระประเทศโดยรวมของเขา ดังนั้น เรือมาจะเทียบท่าเขา แต่ไม่อนุญาต แต่ก็ยังดูแล ไม่ใช่บอกว่าไม่ให้เทียบท่าแล้วไม่ดูแล เพราะมีเรื่องมนุษยธรรม มีกรณีคนป่วยถ้ามีก็ต้องดู ก็ว่าไปตามกรณี ส่วนกรณีนี้คนละเรื่องกัน เพราะไม่ได้เป็นเส้นทางมาไทย และเรือก็ยังไม่รู้อยู่ตรงไหน

ถามว่า หากมีเรือมาขอเทียบท่า มาตรการที่ต้องดำเนินการเป็นอย่างไร นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ภาพรวมทุกด่าน มีการดำเนินการเหมือนกันหมด แต่ขั้นตอนจะไปตามบริบทของผู้เดินทาง ยานพาหนะ และช่องทาง อย่างสนามบินเป็นพื้นที่ปิดมาด้วยเครื่องบิน มาทีเป็นล็อต พอเป็นด่านพรมแดน เป็นคนเดินมาหรือนั่งรถมา วิธีการหลักการเดียวกัน คือ เช็กล่วงหน้า เมื่อมาถึงจุดคัดกรองว่ามีไข้ ทางเดินหายใจหรือ พอเป็นเรือสภาพเปลี่ยนไป ก็มี 2 ลักษณะ คือ เรือท่องเที่ยว กับเรือขนส่งพัสดุ เรือท่องเที่ยวคนก็เยอะ เรือพัสดุคนไม่เยอะ มาตรการก็เป็นไปตามสภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น