“เวสป้า” นักแต่งเพลงชื่อดัง นำเพื่อนนักแต่งเพลงยื่นหนังสือ “ประยุทธ์” วอนดูแลลิขสิทธิ์เพลง หลังโดนค่ายเพลงเอาเปรียบ ร้องเพลงตัวเองไม่ได้ ขอคุยนายทุน ร่วมแก้ กม.ให้เป็นธรรม
วันนี้ (6 ก.พ.) เมื่อเวลา 12.30 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ กลุ่มศิลปินนักแต่งเพลง และครูเพลงชื่อดัง นำโดยนายอิทธิพล เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา หรือเวสป้า นักแต่งเพลงชื่อดอัง อาทิ ไม่อาจเปลี่ยนใจ ร้อยเหตุผล รักกินไม่ได้ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ผ่านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมกับบริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงของค่ายเพลงที่ลิดรอนสิทธิ ละเมิดลิขสิทธิ์การเผยแพร่สู่สาธารณชนของผู้ประพันธ์ และไล่จับทำให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งกลุ่มศิลปินนักแต่งเพลงไม่ได้ต้องการสิทธิในส่วนที่เป็นของค่ายเพลงแต่อย่างใด แต่ขอเพียงส่วนที่ควรเป็นของเราและประชาชนกับศิลปินควรเข้าถึงเพลงได้ทุกคนโดยไม่มีการกีดกัน
ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวระบุว่า เราขอหยุดประวัติศาสตร์การรังแกเอาเปรียบเปรียบเบียดเบียน ล่วงละเมิดทางเพลงอย่างที่เราเห็นกัน นักร้อง นักแต่งเพลงไม่สามารถร้องเล่นเพลงตัวเองได้ โดยมีการจัดตั้งบริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์ถึง 38 บริษัท และดำเนินคดีต่อประชาชน ผู้ประกอบการ และขอทวงถามไปยัง YouTube ในเรื่องลิขสิทธิ์ที่ควรจะมี และ youTube ได้นำส่งค่าลิขสิทธิ์ให้ผู้ที่อาจไม่มีสิทธิ์ จึงขอแจ้งให้สังคมทราบว่านักแต่งเพลงถูกเอาเปรียบมาตลอด บางบริษัทไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์เลย บางบริษัทจ่ายแบบไม่เป็นธรรม
นายอิทธิพลกล่าวว่า สิทธินั้นมีสองสิทธิ คือ สิทธิของของค่ายเพลงกับนักแต่งเพลง แต่ค่ายเพลงเอาทั้งสองสิทธิไปเป็นของเขา อย่างสิทธิในการนำเพลงไปร้อง หลังจากออกจากค่ายเพลงแล้วก็เป็นสิทธิของเรา แต่ค่ายเพลงเขาก็คิดว่ายังเป็นลิขสิทธิ์ของเขา ส่วนสิทธิของค่ายเพลงนั้นคือสัญญาการทำซ้ำ ดัดแปลง เช่น การผลิตเทปเพิ่ม การทำรวมฮิต แต่ในส่วนของเผยแพร่ต่อสาธารณชน เช่น นักร้องอื่นขอซื้อเพลงไปร้อง หรือคนที่แต่งเพลงนั้นจะนำไปร้องที่อื่น ส่วนนี้ต้องเป็นสิทธิของนักแต่งเพลง ถ้าค่ายเพลงเขาจะทำเช่นนี้จะให้นักร้องอื่นไปร้อง หรือเปิดในร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะ ถ้าเป็นสากลเขาต้องแบ่งส่วนแบ่งให้เรา แต่ส่วนนี้เราไม่ได้เลย เดิมทีสิทธิของผู้สร้างผลงานมี 5 ข้อ 1. สิทธิที่จะใช้ผลงานของตัวเอง 2. สิทธิที่ทำซ้ำดัดแปลง 3. สิทธิเผยแพร่สู่สาธารณชน 4. สิทธิออกให้เช่า และ 5. สิทธิอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิของเรา แต่หลังจากปี 2540 จนถึงปัจจุบัน นายทุนเขาเขียนสัญญาใหม่ว่าลิขสิทธิ์เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ห้ามผู้ประพันธ์เข้าไปเกี่ยวข้องกับผลงานของตัวเอง และลิขสิทธิ์การเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นของเขา
อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่ากฎหมายมีช่องโหว่ เพราะผู้ประพันธ์เพลงไม่มีสิทธิต่อรองกับผู้ประกอบการ จึงอยากให้รัฐบาลเรียกผู้ประกอบการมาพูดคุย และร่วมแก้กฎหมายให้เป็นธรรม ในขณะเดียวกันเราก็จะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลด้วยว่า ลิขสิทธิ์ของเพลงควรจะเป็นของใคร
ทั้งนี้ รายชื่อกลุ่มศิลปินนักแต่งเพลงดังกล่าว ประกอบด้วย นายอิทธิพล เสรีย์วงศ์ ณ อยุธยา นายวีระ เดชไกรวัลย์ นายวินัย จรัสอาชา นายธรา เทียนธรรมชัย นายรุ่งโรจน์ เด่นเจริญ นายธนิต เชิญพิพัฒน์ นายชลธี ธารทอง นายพิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร