xs
xsm
sm
md
lg

คดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไทยปี 62 เพิ่มจำนวนแต่มูลค่าลดฮวบ BSA เริ่มศึกษา “ของเถื่อนบนคลาวด์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พ.ต.อ.คธาธร คำเที่ยง
บก. ปอศ เผยตัวเลขสรุปยอดจำนวนคดีลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไทยปี 62 เพิ่มขึ้น 18% จากปี 61 แต่มูลค่าความเสียหายกลับลดฮวบ 29% ตามจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ติดตั้งซอฟต์แวร์เถื่อนน้อยลง ด้านบีเอสเอ พันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ที่มียักษ์ใหญ่ไอทีอย่างไมโครซอฟท์ ไอบีเอ็ม และออราเคิลเป็นหุ้นส่วนใหญ่ ยอมรับกำลังจับตาศึกษาพฤติกรรมการใช้ซอฟต์แวร์แบบผิดประเภทบนคลาวด์ ขณะที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาพร้อมเข็นร่างพ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ... เข้าค.ร.ม. ได้ภายในปีนี้ เพื่อให้ครอบคลุมลิขสิทธิ์ในยุค AI และ IoT ของทุกชิ้นงานที่ดาวน์โหลดได้

พ.ต.อ.คธาธร คำเที่ยง รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่าช่วงเวลา 2 เดือนจากปี 2562 มาจนถึงขณะนี้ มีผู้แจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจเข้ามาจำนวนมากกว่า 100 ราย เจ้าหน้าที่ฯ จีงอยู่ระหว่างการเร่งตรวจสอบและสืบสวนเพิ่มเติมกว่า 100 องค์กร เบื้องต้น บก.ปอศ. ตั้งเป้าหมายว่าจะเห็นอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงโดยเฉลี่ยมากกว่า 3% ต่อปี และลดลงเร็วสุดเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน

“ปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายเทคนิคจากผู้เสียหายในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ทำให้การตรวจสอบดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น”

สถิติปี 2562 พบว่าประเทศไทยมีการดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์กับองค์กรธุรกิจจำนวน 469 คดี เพิ่มขึ้น 18% จาก 395 คดี ในปี 2561 โดยมีมูลค่ากว่า 464 ล้านบาท ลดลง 29% จาก 661 ล้านบาทในปี 2561

องค์กรธุรกิจที่ถูกดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจอื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ออกแบบและตกแต่งภายใน เป็นต้น บางรายเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง แต่มีการติดตั้งใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิบนคอมพิวเตอร์ถึง 100 เครื่อง องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ที่ถูกดำเนินคดีฯ มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งธุรกิจสำคัญ รวมถึงจังหวัดที่มีพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรม เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี นนทบุรี ระยอง และสมุทรสาคร

สำหรับในปี 2563 เจ้าหน้าที่ฯ จะเพิ่มการสื่อสารข้อมูลกับองค์กรธุรกิจในเรื่องความเสี่ยงจากการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายกับองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เพื่อลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยให้ได้เร็วที่สุด

ไทยลดซอฟต์แวร์เถื่อนเร็วกว่าอินโดนีเซีย

นางสาววารุณี รัชตพัฒนากุล ผู้จัดการประจำประเทศไทยของบีเอสเอ พันธมิตรซอฟต์แวร์ องค์กรที่รณรงค์ส่งเสริมการใช้งานซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เผยว่าอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของไทยอยู่ที่ 66% ยังห่างไกลจากค่าเฉลี่ยโลกที่คิดเป็นสัดส่วน 36% และค่าเฉลี่ยในเอเชียแปซิฟิก 57% แต่ถือว่าดีมากเมื่อเทียบกับอัตราการละเมิดของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอัตราการละเมิดลดลง 12% จากปี 2007 เฉลี่ยแล้วคิดเป็นอัตราการละเมิดที่ลดลง 1-2% ต่อปี

“ถือว่าเป็นอัตราการลดลงที่ดี เมื่อเทียบกับประเทศอื่นอย่างอินโดนีเซีย ตัวเลข 66% เป็นสถิติปี 2017 แม้เราเชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังพบว่าองค์กรใหญ่ยังมีการใช้งานซอฟต์แวร์ผิดประเภท ยังเห็นการนำซอฟต์แวร์ไลเซนส์การศึกษามาใช้ทำธุรกิจ”

บีเอสเอย้ำว่าตัวเลขการดำเนินคดีละเมิดฯไม่ใช่ตัวชี้สถานการณ์ทั้งหมดในวงการซอฟต์แวร์เถื่อน แต่จะต้องดูงานวิจัยที่ใช้วิธีการคำนวณอื่นร่วมด้วย เช่นการเทียบกับสัดส่วนการจัดส่งคอมพิวเตอร์พีซี และการติดตั้งซอฟต์แวร์ในคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่

สำหรับตัวเลขความเสียหายของมูลค่าการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่ลดลงสวนทางกับจำนวนคดีที่เพิ่มขึ้น บีเอสเอเชื่อว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้ซอฟต์แวร์ราคาแพงที่เปลี่ยนแปลงไป ย้ำว่าการสวนทางนี้ไม่มีความสัมพันธ์กันเพราะขึ้นอยู่กับแต่ละคดี และเป็นธรรมชาติของคดีที่จะคำนวณมูลค่าความเสียหายตามราคาที่เจ้าทุกข์แจ้ง

วารุณี รัชตพัฒนากุล
นอกจากจะพบกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยยังมีการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาต และใช้งานซอฟต์แวร์อย่างไม่ถูกต้องตามสัญญา บีเอสเอยังพบแนวโน้มการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาเพิ่มสูงขึ้นในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ทั้งหมดนี้บีเอสเอเชื่อว่าเป็นเพราะประเทศไทยยังไม่มีความรู้เรื่องการซื้อสิทธิ์ซอฟต์แวร์แล้วใช้งานให้ถูกต้องคุ้มค่า ทำให้องค์กรมีความเสี่ยงจากการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ทั้ง 3 ด้านได้แก่เสี่ยงถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย เสี่ยงถูกแฮก และเสี่ยงไม่ได้ใช้งานเทคโนโลยีใหม่ในอนาคต

“ความรู้นี้ไม่ได้เกิดขึ้นได้เอง แต่เกิดจากความร่วมมือของหลายองค์กร เชื่อว่าองค์กรไทยมีความรู้ด้านนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับองค์กรเพื่อนบ้าน ถือเป็นจุดอ่อนที่ทำให้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรไทยยังสูงอยู่”

บนคลาวด์ก็เถื่อนได้

สำหรับบริการซอฟต์แวร์ออนไลน์ที่องค์กรนิยมใช้เพิ่มขึ้น บีเอสเอยอมรับว่าแม้จะเห็นอัตราการละเมิดที่ลดลงใน 3 ประเทศซึ่งมีการใช้งานซอฟต์แวร์คลาวด์ที่แพร่หลาย แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าอัตราการละเมิดจะลดลงทันที เนื่องจากการละเมิดบนคลาวด์ก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะการแชร์สิทธิ์ให้ผู้อื่นใช้งานอย่างไม่ถูกต้องตามสัญญา

“เรายังไม่มีมาตรการสำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์บนคลาวด์ แต่มีแนวคิดในเบื้องต้น ปัจจุบันบีเอสเอยังติดตามตรวจสอบสถานการณ์ภาพรวมอย่างใกล้ชิด”

ปีนี้ ร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ อาจเข้าครม.

ด้านนางสาวนุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานพิจารณากลั่นกรองการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานด้วยความรอบคอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการส่งเสริมและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้ริเริ่มจัดทำคู่มือการจัดซื้อ/จัดหาซอฟต์แวร์เพื่อเป็นแนวทางให้แก่หน่วยงานภาครัฐในการดำเนินการให้เป็นไปตามมติครม. ดังกล่าว คาดว่าจะสามารถนำออกเผยแพร่ได้ในไม่ช้า

นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ให้มีความทันสมัย เพื่อให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WCT) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์บนสื่อดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต รวมถึงปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในการแจ้งเตือนการละเมิดลิขสิทธิ์และนำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบ หรือที่เรียกว่า ระบบ Notice and Takedown ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินการทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ค้าและนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ

นุสรา กาญจนกูล
สำหรับร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ... คาดว่าจะสามารถเสนอครม.ได้ในปีนี้ โดยร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นในปี 2558 ซึ่งจะครอบคลุมถึงเทคโนโลยี AI และ IoT คุ้มครองทุกเนื้อหาทั้งที่เป็นสินทรัพย์ ลิขสิทธิ์ และนวัตกรรม รวมทั้งเนื้อหา เพลง หนังสือ อีบุ๊ก และทุกชิ้นงานที่สามารถดาวน์โหลดได้ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้ แต่ไม่ครอบคลุมถึงผู้ขายหรือผู้ให้เช่าระบบหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการละเมิด

“แต่เดิมกฎหมายมีผลแต่กับคนที่ใช้กุญแจผี แต่ไม่ครอบคลุมคนที่ขายกุญแจผี เราจึงเพิ่มข้อจำกัดเพื่อจูงใจให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) งดให้บริการทุกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์”

นุศรามองว่าร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ... จะช่วยยกระดับระบบนิเวศทางเศรษฐกิจในถาะรวม เป้าหมายหลักไม่ใช่การลดจำนวนเปอร์เซ็นต์การละเมิด โดยยอมรับว่าปัญหา “โหลดบิต” จะไม่หมดไปเพราะร่างพระราชบัญญัตินี้ เนื่องจากเซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศไทย ขณะเดียวกัน ISP ยังต้องแบกรับต้นทุนสูงในการปิดท่อเพื่อบล็อกเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ แต่การแก้ไขกฎหมาย และกิจกรรมความร่วมมือต่างๆจะยังจำเป็นต้องทำต่อเนื่อง ซึ่งแม้จะไม่สามารถแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ทั้งหมด แต่ก็จะยังต้องทำต่อเนื่องเพื่อลดให้การละเมิดเหลือน้อยที่สุด.


กำลังโหลดความคิดเห็น