MGR online - ดีเอสไอ เสริมองค์ความรู้ใหม่ด้านเทคโนโลยี รับมืออาชญากรรมไซเบอร์ หวังให้ผู้ปฏิบัติงาน มีความรู้เท่าทันอาชญากร สามารถสกัดกั้นการกระทำความผิดได้
วันนี้ (6 ก.พ.) เวลา 08.30 น. ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพฯ นายไตรฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นประธานเปิดสัมมนา “โครงการระวังป้องกันภัยทางไซเบอร์และการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์” ในหัวข้อ “ภัยไซเบอร์ในอนาคตกับการรับมือของ ดีเอสไอ” เพื่อร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ เทคนิคทางด้านกฎหมาย และเทคนิคด้านไซเบอร์ให้พร้อมต่อการรับมือกับอาชญากรรมไซเบอร์ที่มีความซับซ้อน รวดเร็ว และรุนแรง
นายไตรฤทธิ์ กล่าวว่า ดีเอสไอ เล็งเห็นพัฒนาการของเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโลกในอนาคตที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจและทิศทางเศรษฐกิจของโลก แต่สิ่งที่ตามมาคือภัยคุกคามทางไซเบอร์ใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อบุคคล องค์กร หรือความมั่นคงระดับชาติ ซึ่งอาชญากรเปลี่ยนรูปแบบการกระทำความผิดโดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดมากขึ้น ทำให้ยากต่อการติดตามค้นหาร่องรอยที่อาชญากรทิ้งไว้ หากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายปรับกลยุทธ์ พัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากรในหน่วยงาน ก็จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้เท่าทันอาชญากรและสามารถกระทำการโต้ตอบได้อย่างทันท่วงที หรือสามารถสกัดกั้นการกระทำความผิดของอาชญากรได้
นายไตรฤทธิ์ กล่าวอีกว่า กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักของดีเอสไอ มีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนความผิดทางเทคโนโลยีและสารสนเทศ จึงได้กำหนดจัดสัมมนาโครงการดังกล่าว เพื่อระดมความคิดจากนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประกอบการ ร่วมกันมองภาพอนาคต เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องมือ และพัฒนากระบวนการสืบสวนสอบสวนให้พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยการจัดสัมมนาครั้งนี้ มุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาจากดีเอสไอ จำนวน 80 คน มีศักยภาพรู้เท่าทันเทคโนโลยี 5G เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI เทคโนโลยี IoT เทคโนโลยี Blockchain รวมทั้ง Big Data และภัยทางไซเบอร์รูปแบบต่างๆ ในอนาคต
"รัฐบาลได้มีการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อป้องกันหรือรับมือกับสถานการณ์ด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบหรืออาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการให้บริการ การประยุกต์ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม อันกระทบต่อความมั่นคงของชาติและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้เตรียมการจัดตั้งคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติเพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แล้ว"
นายไตรฤทธิ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์มีจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามที่เกิดจากการใช้ เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงหรือไม่เหมาะสมเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของบุคคล หรือสถาบัน เพื่อก่อให้เกิดความไม่สงบ หรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ลามก อนาจาร หมิ่นประมาท และรวมถึงการโฆษณาขายสินค้าต่างๆ ทางอีเมล์ที่ผู้รับไม่ได้มีความประสงค์จะรับข้อมูลโฆษณานั้นๆ หรือภัยคุกคามที่เกิดจากการฉ้อฉล ฉ้อโกง หรือการหลอกลวงเพื่อผลประโยชน์ สามารถเกิดได้ในหลายลักษณะ เช่น การลักลอบใช้งานระบบ หรือทรัพยากรทางสารสนเทศที่ไม่ได้รับอนุญาต เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของตนเอง หรือการขายสินค้า หรือซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ รวมถึง ภัยคุกคามที่เกิดกับระบบที่ถูกบุกรุก เจาะเข้าระบบได้สำเร็จและระบบถูกครอบครองโดยผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายทั้งต่อระดับปัจเจกชน และระดับประเทศ ซึ่งนานาประเทศต่างให้ความสำคัญในการดำเนินงานเพื่อรับมือกับปัญหาภัยคุกคามดังกล่าวอย่างมาก ดีเอสไอ จึงจำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันกำหนดวิธีการ แนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกัน อันเป็นการสนับสนุนการทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ให้เกิดการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน