กฤษฎีกายกข้อกฎหมาย แนะมหาดไทยเบรกเจ้าหน้าที่ กกต.ฝ่ายสืบสวนฯ ยื่นขอพกพาอาวุธปืนหวังป้องกันตัวเองจากภัยการเลือกตั้งทุกระดับ ย้ำแม้ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจ กกต.พกปืน แต่การสอบสวนสืบสวนเป็นแค่ฤดูกาลในช่วงการเลือกตั้งเท่านั้น ชี้อำนาจไต่สวนแม้คล้าย ป.ป.ช.ที่ได้รับอนุญาตพกปืน แต่แตกต่างกันในประเด็นป้องกันและปราบปรามคดีทุจริตและความผิดทางอาญา แถมยังไม่ใช่การสืบสวน ไต่สวน และดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับเนื้อตัว ร่างกายหรือทรัพย์สิน อันเป็นความผิดทางอาญาโดยตรงดังเช่นพนักงานสอบสวน
วันนี้ (4 ก.พ.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นต่อร่างกฎกระทรวงการมีและใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ และการมอบให้ประชาชนมีและใช้เพื่อช่วยเหลือราขการ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... หลังจาก ครม.รับหลักการร่างกฎกระทรวงฉบับแก้ไขแล้ว
กรณีนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจอำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของ กกต.ตามมาตรา 41 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 โดย กกต.อาจแต่งตั้งเลขาธิการหรือพนักงานของสำนักงาน กกต.เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจในการสืบสวน สอบสวน หรือไต่สวน หรือดำเนินคดีโดยมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา ทั้งนี้ ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการ การเลือกตั้ง พ.ศ. 2560
แต่ในส่วนของ “สำนักงานศาลปกครอง” ที่ยื่นขอกระทรวงมหาดไทยให้เจ้าหน้าที่ศาลปกครองอนุญาตพกพาอาวุธปืนซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับคดีปกครอง ตามคำสั่งของศาลปกครอง และการดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามคำบังคับของศาลปกครอง ตามมาตรา 77 (2) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 รวมถึงการกำหนดให้มีพนักงานคดีปกครองเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวนตามประมวล กฎหมายอาญา เพื่อช่วยเหลือตุลาการเจ้าของสำนวนในการดำเนินคดีปกครองตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
“ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สำนักงาน กกต. และสำนักงานศาลปกครอง จึงถือเป็นหน่วยราชการที่มีหรือใช้ อาวุธปืนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประขาซนได้ตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง (1) (ข) แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงสามารถพิจารณาอนุมัติหลักการของร่างกฎกระทรวงนี้ได้
อย่างไรก็ดี สำนักงานฯ ขอเรียนข้อสังเกตเกี่ยวกับความจำเป็นในการกำหนดให้สำนักงาน กกต.มีและใช้อาวุธปืนในการปฏิบัติหน้าที่ว่า แม้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจสืบสวน ไต่สวน และดำเนินคดี ในความผิดเกี่ยวกับการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองก็ตาม แต่การทำหน้าที่ ดังกล่าวเป็นเพียงการดำเนินการในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง เพื่อให้มีการสืบสวนหรือไต่สวน ว่ามีการกระทำใด อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือจะมีผลให้การเลือกตั้ง มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น มิใช่การสืบสวน ไต่สวน และการดำเนินคดีที่เป็นความผิด เกี่ยวกับเนื้อตัว ร่างกายหรือทรัพย์สิน อันเป็นความผิดทางอาญาโดยตรงดังเช่นพนักงานสอบสวน
อีกทั้งการกำหนดให้มีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินคดี ที่เป็นความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง
นอกจากนี้ ในชั้นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็ได้มีการพิจารณาเทียบเคียงบทบัญญัติเกี่ยวกับการมี ใช้ และพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ยุทธภัณฑ์ และอุปกรณ์เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 157 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 แล้ว
“เห็นว่าอำนาจ หน้าที่เกี่ยวกับการไต่สวนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกับและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมีอำนาจในการป้องกันและปราบปราม ทั้งคดีเกี่ยวกับการทุจริตและคดีที่เป็นความผิดทางอาญา แตกต่างจากอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงไม่ได้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการมี ใช้ และพกพาอาวุธปืนไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560”
แต่ควรให้คณะกรรมการตามกฎกระทรวงการมีและใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ และการมอบให้ประชาชนมีและใช้เพื่อช่วยเหลือราชการ พ.ศ. 2553 เป็นผู้กำหนดบุคคล เขตพื้นที่ และภารกิจในการใช้อาวุธปืนของบุคลากรในทั้งสองหน่วยงานให้ชัดเจน
โดยเฉพาะการกำหนดบุคคลนั้นควรจำกัดเฉพาะ เจ้าพนักงานตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการ การเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 และเจ้าพนักงานบังคับคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เท่านั้น
เมื่อปีที่แล้ว คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบโดยให้เพิ่มสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงาน กกต. และสำนักงานศาลปกครอง อยู่ในหน่วยงานที่สามารถพกอาวุธปืนได้ในลำดับของร่างกฎกระทรวงฉบับนี้