"สุทิน" ยันญัตติซักฟอกไม่เป็นเท็จ ย้ำ “ประยุทธ“ฉีกรธน.จริงแต่ไม่ยอมรับ แนะหยุมหยิมควรเอาความจริงมาเป็นที่ตั้ง
วันนี้ (4 ก.พ.) นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีที่วิปรัฐบาล ยื่นเรื่องขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแก้ญัตติของฝ่ายค้านที่ขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยอ้างว่ามีการใช้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยของฝ่ายรัฐบาลเองว่าเป็นเท็จ ถือว่าไม่ชอบ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นอำนาจการวินิจฉัยของประธานสภา ส่วนตัวไม่เห็นว่าญัตติดังกล่าวเป็นเท็จได้อย่างไร เพราะถ้าคิดว่าเรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ฉีกรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเท็จ ฝ่ายรัฐบาลต้องเป็นคนบอกมาว่าใครเป็นคนฉีกรัฐธรรมนูญ จะเป็นพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หรือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย หรือใคร ซึ่งตนเห็นว่าเป็นความจริง แต่รัฐบาลไม่ยอมรับความจริง แต่ถ้าเป็นภาษาเป็นถ้อยคำเฉยๆ
“ผมคิดว่าเป็นเรื่องหยุมหยิม ควรเอาความจริงมาเป็นที่ตั้ง ถ้าเราไม่บอกว่าพล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนล้มล้างรัฐธรรมนูญ เราก็ไม่รู้จะไปกล่าวหาใคร หรือจะเอา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ แทน ผมจึงคิดว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นสาระ และเราต้องฟังประธานสภาฯวินิจฉัยมากกว่ารัฐบาล”
เมื่อถามว่าการใช้คำว่าล้มล้างกับคำว่าฉีกรัฐธรรมนูญ คำไหนแรงกว่ากัน นายสุทินกล่าวว่า ที่จริงคำว่าล้มล้างกับฉีกไม่ต่างกัน เพียงแต่คำว่าการฉีกรัฐธรรมนูญ เป็นภาษาพูด แต่ล้มล้างเป็นภาษาเขียนซึ่งความรุนแรงเท่ากัน แต่รัฐบาลไม่ยอมรับความจริง ทั้งนี้ส่วนตัวไม่อยากคิดว่าเป็นการตีรวน และไม่ต้องการให้เรื่องนี้มาเป็นประเด็น
ต่อข้อถามว่า วิปรัฐบาลระบุว่ายอมไม่ได้ หากมีการอภิปรายย้อนหลังไปรัฐบาลคสช. อาจจะมีการป่วนตั้งแต่เริ่มต้น นายสุทิน กล่าวว่า คิดว่ารัฐบาลตั้งใจใช้ประเด็นนี้อยู่แล้ว เพื่อขัดจังหวะการทำงานของฝ่ายค้าน ซึ่งอยู่ที่การวินิจฉัยของประธานสภาฯ ที่นัดประชุมวันที่ 5 ก.พ.ว่าจะสามารถท้าวความไปได้แค่ไหน ยืนยันว่าเราจะทำตามข้อบังคับและกฎหมาย อย่างไรก็ตามต้องดูที่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นว่าเกิดขึ้นจากจุดไหน แล้วต้องมาพิจารณาดูว่าอภิปรายย้อนหลังหรือไปข้างหน้า แต่ถ้าจะให้อภิปรายแต่ข้างหน้าก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของอนาคต ทำให้ต้องมีการอภิปรายย้อนหลังไปถึงช่วง คสช. บ้าง เพราะหลายเรื่องเกิดจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องโยงไปถึงจุดตั้งต้นของปัญหา
ส่วนการกำหนดวันอภิปราย ที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอให้อภิปรายตั้งแต่วันที่ 25 -27 ก.พ. และลงมติวันที่ 28 ก.พ.นายสุทิน กล่าวว่า เห็นว่าเป็นความพยายามของฝ่ายรัฐบาลที่จะบล็อควันอภิปรายให้ชนกับวันปิดสมัยประชุมสภาฯในวันที่ 28 ก.พ.นี้ เป็นการบังคับทางอ้อม ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะกดดันทำให้ผิดข้อบังคับและเจตนารมณ์ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะตามรัฐธรรมนูญต้องให้ฝ่ายค้านอภิปรายจนครบถ้วน หากอภิปรายตามที่ฝ่ายรัฐบาลกำหนด แล้ววันที่ 28 ก.พ.อภิปรายไม่จบจะทำอย่างไร ต้องเปิดการประชุมวิสามัญหรือไม่ เพราะถ้าอภิปรายไม่จบก็ปิดไม่ได้ ซึ่งไม่น่าจะต้องใช้วิธีนี้ ดังนั้นส่วนตัวยังเห็นว่าวันที่เหมาะสม ควรจะเริ่มต้นเป็นวันที่ 19 ก.พ. เรื่อยไปจบเมื่อไหร่ก็เหมือนนั้น หรือจะเร็วกว่านั้นก็ได้ฝ่ายค้านพร้อมตลอด จะเอาวันที่ 10 ก.พ.ก็ได้ ไม่ได้มีปัญหา