อดีตเลขาฯ สมช.แถลงเปิดโต๊ะคุยสันติสุขรอบใหม่ บรรยากาศดี สร้างความไว้ใจ ก่อนถกข้อเสนอรอบหน้า ประเดิม “บีอาร์เอ็น” กลุ่มแรก ยันหัวหน้าตัวจริง มาเลเซียคอนเฟิร์ม
วันนี้ (31 ม.ค.) เมื่อเวลา 12.30 น. ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม (กห.) แถลงผลความคืบหน้าการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา คณะพูดคุยฯ นำโดยตนพร้อมผู้แทนทั้ง 6 คนจากกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้พบปะพูดคุยร่วมกับคณะผู้แทนของกลุ่มขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือบีอาร์เอ็น (BRN) ที่นำโดยนายอานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมี ตันซรี อับดุล ราฮีม มูฮัมหมัดนูร์ ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก โดยในการพูดครั้งนี้เป็นเจตจำนงร่วมกันที่ต้องการแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดภายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยสันติวิธี ซึ่งมีการออกแบบการพูดคุยและยอมรับกันว่าจะใช้รูปแบบนี้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ใช้เวลาร่วมกันในการทำความรู้จัก และรับทราบกรอบแนวทางการทำงานร่วมกันในระยะต่อไป รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนการพูดในห้วงต่อไปให้มีความก้าวหน้าและต่อเนื่อง ซึ่งบรรยากาศเป็นไปเชิงสร้างสรรค์ ทั้งสองฝ่ายมีท่าทีที่ดีในการที่จะร่วมมือกันต่อไป
พล.อ.วัลลภกล่าวอีกว่า การสร้างสันติสุขที่ยั่งยืน เกิดจากพูดคุยจากผู้มีความเห็นที่แตกต่าง โดยใช้แนวทางสันติวิธี ทั้งรับฟังความคิดเห็นและทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ซึ่งเราจะใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถในการผลักดันกระบวนการพูดคุยสันติสุขนำมาสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายคือ สร้างสันติสุขและพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
“การพูดคุยครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เราได้มีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนกลุ่มของบีอาร์เอ็น ขอบคุณทางฝ่ายมาเลเซียที่มีความพยายามนำกลุ่มเหล่านี้มาพูดคุยกับฝ่ายไทย ยืนยันว่าการพูดคุยเราจะใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ตกผลึกในแนวความคิด หรือกระบวนการที่เราจะไปตกลงหรือหารือ ขอให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ เพราะกระบวนการอาจจะมีอุปสรรคมากมายเหมือนที่เรามีประสบการณ์มาแล้ว บางทีการพูดคุยไปไม่ถึงไหนก็ล้มเลิก จึงอยากให้การพูดคุยครั้งนี้ เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องยาวนาน จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายส่วน” พล.อ.วัลลภกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นที่มาร่วมพูดคุยซึ่งในทุกครั้งจะถูกถามเสมอว่าเป็นตัวจริงหรือไม่ พล.อ.วัลลภกล่าวว่า เขาแนะนำตัวในที่ประชุมว่าเขาเป็นผู้นำหัวหน้าคณะพูดคุยจากกลุ่มบีอาร์เอ็น ดังนั้น การที่เขาแนะนำตัวเองเช่นนี้ และคำยืนยันจากมาเลเซีย จึงค่อนข้างมั่นใจ เราคิดว่าเป็นอย่างนั้น เมื่อถามว่าในฐานะคู่เจรจาของเรา เมื่อบีอาร์เอ็นเข้ามาแล้ว กลุ่มมาราปัตตานียังอยู่ในกระบวนการพูดคุยหรือไม่ พล.อ.วัลลภกล่าวว่า เบื้องต้นเรายังพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น แต่เปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มเข้ามีส่วนร่วม เราต้องการพูดคุยกับทุกกลุ่มทุกฝ่าย ซึ่งในระยะต่อไปอาจเป็นไปได้ที่จะมีกลุ่มมาราปัตตานีเข้ามาร่วมพูดคุย
เมื่อถามว่าถูกมองว่าการพูดคุยครั้งนี้ถูกมองกลับว่าเป็นการเริ่มต้นใหม่ เพราะกลับมาคุยกับบีอาร์เอ็นอีกครั้ง พล.อ.วัลลภกล่าวว่า ถือว่าเป็นความต่อเนื่องจากครั้งแรกที่ได้ประชุมกันคือกลุ่มบีอาร์เอ็น และเปลี่ยนมาเป็นกลุ่มมาราปัตตานี และกลับมาเป็นกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งก็แล้วแต่แนวทางและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยครั้งนี้เขาก็เปลี่ยนตัวคนรุ่นใหม่เข้ามา ซึ่งทางประเทศมาเลเซียได้มั่นใจว่าเป็นผู้ที่เป็นตัวจริงเข้ามาพูดคุย ส่วนการพูดคุยครั้งนี้ได้มีการยื่นข้อเสนอหรือไม่นั้น พล.อ.วัลลภกล่าวว่า มีการพูดคุยตามกรอบแนวทางการพูดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการต่างๆ ที่จะเป็นการอำนวยความสะดวก แต่ยังไม่มีการยื่นข้อเสนอต่อจากการพูดคุยครั้งที่แล้ว เพราะยังเป็นเพียงการพบปะสร้างบรรยากาศที่ดี สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและคุ้นเคยกัน
เมื่อถามถึงปัจจัยที่เราต้องเลือกคุยกับบีอาร์เอ็นมากกว่าจะสานต่อการพูดคุยครั้งก่อนกับกลุ่มมาราปัตตานี พล.อ.วัลลภกล่าวว่า เราอยากพูดกับที่มีอิทธิพลในพื้นที่ ซึ่งบีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลมากที่สุด ส่วนหนึ่งของในกลุ่มมาราปัตตานีก็มีตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นด้วย ทั้งนี้ แกนนำคนก่อนๆ ของบีอาร์เอ็นที่พูดคุยก็อยู่กลุ่มบีอาร์เอ็น แต่อาจเปลี่ยนบทบาทและหน้าที่ ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในกระบวนการ เมื่อถามอีกว่าจะดึงนักการเมือง หรือ ส.ส.ในพื้นที่เข้าร่วมวงพูดคุยในกระบวนการหรือไม่ พล.อ.วัลลภกล่าวว่า เราต้องการความมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ไม่ว่าจากทั้งภาคประชาชนและนักการเมือง เพื่อให้ความคิดตกผลึกและนำไปหารือต่อไป ส่วนข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียให้ไทยเปิดใจรับข้อเสนอในการให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นเขตปกครองพิเศษอยู่ในเงื่อนไขที่สามารถพูดคุยกันได้หรือไม่ พล.อ.วัลลภกล่าวว่า เราจะเปิดใจรับฟังแล้วมาพิจารณาดู ทั้งนี้ ถือเป็นบรรยากาศที่ดีทีมีการพูดคุยระหว่างกัน ยืนยันว่าหลักการของเรายังคงเดิม ซึ่งการเริ่มต้นพูดคุยครั้งนี้ แสดงว่าทั้งสองฝ่ายพร้อมจะยอมรับข้อคิดเห็นข้อแตกต่างของกันและกัน ถ้าเรารักษาบรรยากาศอย่างนี้ไปได้ ก็เชื่อมั่นว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี โดยการพูดคุยครั้งต่อไปมีขึ้นในต้นเดือนมีนาคม 2563 นี้