MGR online - ดีเอสไอ แสดงผลงานด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ ปี 62 โดยเฉพาะปัญหาการค้ามนุษย์ ดำเนินคดีสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว 58 คดี รวมทั้งคดีการอุ้มฆ่า"บิลลี่"
วันนี้ (28 ธ.ค.) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบกับปัญหาการค้ามนุษย์ที่มีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น และในบางกรณี มีความเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมระหว่างประเทศ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความยากจนจึงตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ รวมไปถึงตกเป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาที่สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งนี้ ดีเอสไอมีกฎหมายรับผิดชอบในกลุ่มคดีด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ ประกอบด้วย ความผิดอาญาเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว, การกระทำผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ, การค้ามนุษย์, การกระทำผิดที่เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และคดีที่กระทบต่อความมั่นคงประเทศ
พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวอีกว่า ในปี 2562 มีผลการดำเนินคดีสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว 58 คดี มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 8,280.59 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยคดีสำคัญ ดังนี้ (1) คดีการหายตัวไปของนายพอละจี หรือ บิลลี่ รักจงเจริญ แกนนำประชาชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก - บางกลอย จากการสืบสวนสอบสวนพบว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันกระทําความผิดฐาน ตาม ม.157 ประกอบ ม.83 จึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดําเนินการ และเนื่องจากมีการกระทำความผิดฐานอื่นตามประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวข้องด้วย คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ส่งสำนวนให้ดีเอสไอดำเนินการไปในคราวเดียวกัน โดยรับเป็นคดีพิเศษที่ 13/2562 ซึ่งนำไปสู่การสืบสวนสอบสวน และขออนุมัติต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ออกหมายจับบุคคล ประกอบด้วย นายบุญแทน บุษราคำ, นายธนเสฏฐ์ หรือไพฑูรย์ แช่มเทศ และนายกฤษณพงษ์ จิตต์เทศ รวม 4 คน ปัจจุบันคดีดังกล่าวสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.62 เพื่อดำเนินการต่อไป
พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวต่อว่า (2) คดีหญิงไทยถูกหลอกลวงไปบังคับค้าประเวณีที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษที่ 143/2561 และได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนจนนำไปสู่การออกหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 3 ราย เป็นหญิงชาวไทยจำนวน 2 ราย และชายชาวจีน จำนวน 1 ราย ต่อมา เจ้าหน้าที่ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าวได้จับกุมตัวผู้ต้องหา จำนวน 2 ราย ในข้อหา "สมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ฯลฯ" และจะดำเนินการขยายผลจับกุมตัวผู้ต้องหาที่เหลือและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป (3) คดีผู้ต้องหาคดีความมั่นคงชายแดนใต้ซึ่งหลบหนีคดี 14 ปี สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่มีกลุ่มคนร้ายบุกเข้าปล้นปืนของทางราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างปี 2545 – 2547 ซึ่งเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งก่อคดีความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกหลายคดี โดยได้รับเป็นคดีพิเศษที่ 12/2548 ต่อมา สามารถจับกุมนายมะหะมะรอมือลี สาแม แกนนำบีอาร์เอ็น ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานกบฏก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร เมื่อวันที่ 3 ต.ค.62 และนำส่งศาลอาญาเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า (4) การอำนวยความยุติธรรมช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ได้ดำเนินแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยสามารถช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมได้เป็นจำนวนมาก ทั้งการปราบปรามนายทุนรายใหญ่ที่มีอิทธิพลด้วยมาตรการทางอาญาและภาษี การให้ความรู้ด้านกฎหมาย ให้คำปรึกษา รับแจ้งปัญหา และอำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชนทางกฎหมาย เพื่อให้เข้าถึงความเป็นธรรม โดยการสืบสวนสอบสวนและปราบปรามกลุ่มนายทุนต่อไปอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยบูรณาการเครือข่ายพันธมิตรในการปราบปรามและป้องกันโดยการให้ความรู้แก่ประชาชน มีการแบบบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ นอกจากนี้ ลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อน และไม่ได้รับความเป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐาน รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ในปี พ.ศ. 2562 มีเรื่องร้องเรียน จำนวน 180 เรื่อง ผู้ร้องเรียน จำนวน 190 คน ทุนทรัพย์รวมทั้งสิ้น 280,779,943 บาท
“สำหรับทิศทางในปี พ.ศ. 2563 ดีเอสไอได้วิเคราะห์และกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ ภายใต้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนปฏิรูปประเทศไทย ด้านกระบวนการยุติธรรม มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกัน ปราบปราม สืบสวนสอบสวนคดีพิเศษตามอำนาจหน้าที่ สร้างความเข้มแข็งจากภายในองค์กร ขับเคลื่อนแผนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ประชาชน ประชาสังคม และภาคเอกชน โดยพัฒนานวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพการปฏิบัติงาน เน้นคดีที่มีผลกระทบความเสียหายต่อประเทศ”