MGR online - อัยการเผย ศาลแพ่งสั่งยึดทรัพย์ “เสี่ยกำพล-ป๋าติ๊ก” เครือข่ายอาบอบนวด วิคตอเรีย ซีเครท ตกเป็นของแผ่นดิน 225 ล้าน เชื่อทรัพย์สินเหล่านี้ได้มาจากการกระทำความผิดค้ามนุษย์
วันนี้ (27 ธ.ค.) นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศาลแพ่ง ได้มีคำสั่งในคดีพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ 2 (ฟอกเงิน) ได้ยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินของเครือข่ายสถานบริการอาบ อบ นวด วิคตอเรีย ซีเครท (ย่านพระราม 9) ตกเป็นของแผ่นดิน โดยคดีนี้อัยการรับสำนวนมาจากคณะกรรมการป้องกันและบปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อให้ยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินของ นายศรัทธาธรรม แจ้งฉาย (ผู้จัดการสถานบริการอาบ อบ นวด จำเลยคดีอาญาร่วมกันค้ามนุษย์และค้าประเวณี) กับพวก จำนวนทุนทรัพย์ 467,597,936.53 บาทให้ตกเป็นของแผ่นดินเนื่องจากเชื่อว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานค้ามนุษย์ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
โดยเมื่ออัยการสำนักงานคดีพิเศษ 2 ยื่นคำร้องเป็นคดีต่อศาลแพ่ง ต่อมา นายกำพล วิระเทพสุภรณ์ เจ้าของสถานบริการอาบ อบ นวด วิคตอเรียฯ (ผู้ต้องหาคดีที่อัยการสั่งฟ้องคดีร่วมค้ามนุษย์ไปแล้ว) กับพวกรวม 15 คนที่มีชื่อในทรัพย์สินนั้น ก็ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขอให้ยึดทรัพย์ดังกล่าวด้วย ซึ่งศาลแพ่ง ก็ได้พิจารณาคำร้องของอัยการ และคำคัดค้านของเครือข่ายวิคตอเรียฯ ที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายนำเสนอพยานหลักฐานต่อสู้กันเต็มที่แล้ว จึงได้มีคำสั่งว่า ให้ทรัพย์สินตามที่อัยการยื่นคำร้องดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
ยกเว้นทรัพย์ที่บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กับบริษัท หลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้านที่ 2-3 ขอให้คุ้มครองไว้ในรายการที่ 27 และ 29 ซึ่งเป็นหุ้นในบริษัท อควาฯ ที่นายกำพล ผู้คัดค้านที่ 1 จะต้องนำมาชำระหนี้บางส่วน ให้กับบริษัทหลักทรัพย์ฯทั้งสองเสียก่อน ศาลจึงมีคำสั่งให้เอาหลักทรัพย์นั้นออกขายในตลาดหลักทรัพย์เพื่อนำมาชำระหนี้ให้กับบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระฯ ผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 174,160,000 บาท และในส่วนบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาตฯ จำนวน 67,875,360 บาท (รวมยอดหนี้ 242,039,360 บาท) ขณะที่คำคัดค้านอื่นของนายกำพล ในฐานะผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกอีก 13 รายนั้นฟังไม่ขึ้น ศาลแพ่งจึงให้ทรัพย์สินตามคำร้องของอัยการ และ ป.ป.ง.ยื่นมานั้นตกเป็นของแผ่นดิน โดยเท่ากับจำนวนทุนทรัพย์ที่ตกเป็นของแผ่นดินหลังจากหักส่วนที่ชำระหนี้ให้กับ 2 บริษัทหลักทรัพย์ฯแล้วประมาณ 225 ล้านบาทเศษ
ทั้งนี้ “นายประยุทธ” รองโฆษกอัยการฯ ยังกล่าวถึงขั้นตอนตามกฎหมายต่อไปว่า คำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินนี้ คู่ความที่มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์ ยังมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ภายในเวลา 1 เดือนตามกฎหมายนับจากวันที่ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีดังกล่าว อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 2 (ฟอกเงิน) ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำ ฟ.90/2561 เมื่อวันที่ 3 ส.ค.61 ขอให้ศาลมีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์เครือข่ายสถานบริการอาบ อบ นวด วิคตอเรียฯย่านพระราม 9 เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานค้ามนุษย์ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และฉบับที่ 4 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2558 มาตรา 3(2) จำนวน 41 รายการ โดยมีการสืบพยานอัยการผู้ร้อง และพยานฝ่ายนายกำพล ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์ร่วมใน 41 รายการ ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ส.ค.62
ทั้งนี้สำหรับ “นายกำพล” เจ้าของสถานบริการวิคตอเรีย ซีเครทนั้น อัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์ มีคำสั่งฟ้องร่วมทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และการค้าประเวณีคดี โดยพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ขอศาลออกหมายจับไว้แล้ว ซึ่งปัจจุบันยังติดตามตัวมายื่นฟ้องไม่ได้ ก็คาดว่าจะหลบหนี โดยหมายจับมีอายุความในการติดตามตัวมาฟ้องภายใน 20 ปี
ขณะที่ในส่วนของ “นายศรัทธาธรรม หรือป๋าติ๊ก” อายุ 67 ปี ผู้จัดการสถานบริการและผู้มีอำนาจในบริษัท เดวิส ซิลเวอร์สตาร์ จำกัด นั้น ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ จากคดีที่ศาลพิพากษาจำคุก 2 สำนวนเมื่อปี 2561 เป็นเวลาทั้งสิ้น 18 ปี 16 เดือน กรณีที่ถูกกล่าวหาร่วมธุระจัดหาค้าประเวณีเด็กสาวเมียนมาร์-ไทยอายุไม่เกิน 15 และไม่เกิน 18 ปี ซึ่งคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์