เครือข่าย 12 องค์กร ชื่อร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลเสียหาย “ปิยบุตร” จ่อดันเข้าสภา หวังใช้คุ้มครองสิทธิมนุษยชน
วันนี้ (30 ม.ค.) นายปิยบุตร แสงกนกกุล ประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจากตัวแทนองค์กรภาคประชาชน 12 องค์กร พร้อมรายชื่อบุคคลกว่า 100 รายชื่อ เสนอขอให้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลเสียหาย ฉบับภาคประชาชน
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ประเทศไทยควรมีกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายกรณี เป็นเรื่องที่สร้างปัญหาให้บ้านเมือง ทั่วโลกก็มองเห็นปัญหาเหล่านี้ จนเกิดอนุสัญญาระหว่างประเทศขึ้นมา 2 ฉบับ ขณะที่ประเทศไทยก็พยายามออกกฎหมายภายในประเทศ แต่ร่างที่รัฐบาลกำลังจะทำอยู่ก็ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ อีกทั้งยังมีความล่าช้า กลุ่มภาคประชาชนจึงกังวลถึงปัญหา แล้วนำเสนอร่างกฎหมายฉบับที่ภาคประชาชนเสนอ โดยอ้างอิงจากหลักการระหว่างประเทศและปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาต่อ
ด้านนายปิยบุตรกล่าวขอบคุณภาคประชาชนทั้ง 12 องค์กร และยืนยันที่จะทำงานกับภาคประชาชนทั้งในและต่างประเทศ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการเห็นด้วยกับหลักการที่ประชาชนเสนอเข้ามา และจะผลักดันให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากหลายพรรคลงชื่อร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำให้สังคมเห็นว่าท้ายที่สุด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจให้ความสำคัญกับเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย และย้ำว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่เพียงมาตรการให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นหลักการสำคัญเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ป้องกันไม่ให้เกิดการทรมานหรือการใช้อำนาจรัฐบังคับให้บุคคลสูญหาย
นอกจากนี้ เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ยังได้ยื่นหนังสือต่อนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการประทุษร้ายประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบกรณีอัยการไม่สั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวทำร้าย และร่วมกันฆ่าอำพรางศพนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึกบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ที่หายตัวไปตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นสำนวนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว