xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิสภาย้ำเป็นหน้าที่ศาล รธน.พิจารณาร่างงบฯ “ชวน” สั่งขจัดเหยียดล่วงละเมิดทางเพศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะ กมธ.วิสามัญกิจการวุฒิสภา (แฟ้มภาพ)
โฆษก กมธ.กิจการวุฒิสภา เผยเห็นชอบ 5 รายชื่อ กสม.ใหม่ ระบุประธานสภาฯ สั่งขจัดการเหยียดล่วงละเมิดทางเพศ ส.ว.ย้ำเป็นหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาร่างงบฯ

วันนี้ (22 ม.ค.) เมื่อเวลา 12.20 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะ กมธ.วิสามัญกิจการวุฒิสภา แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติ 3 เรื่อง คือ 1. ให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กสม. มี 5 รายชื่อ ที่ถูกนำเสนอ คือ (1. นายสุชาติ เศรษฐมาลินี (2. น.ส.ลม้าย มานะการ (3. นายวิชัย ศรีรัตน์ (4. นายบุญเลิศ คชายุทธเดช และ (5. นางปรีดา คงแป้น จะเข้าสู่ที่ประชุม ส.ว.ในวันที่ 27 ม.ค.

2. การพิจารณาเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายวุฒิสภา ในคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภาแทนตำแหน่งที่ว่าง 2 ตำแหน่ง เบื้องต้นมีผู้ถูกเสนอชื่อ 7 ชื่อ และ 3. รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาวันที่ 28 ม.ค. นอกจากนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้สั่งการให้ดำเนินการตามแนวทางของสหภาพรัฐสภาในการขจัดการเหยียดเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ และการใช้ความรุนเเรงต่อสตรีในรัฐสภา แนวทางนี้ได้ถูกบรรจุในประมวลจริยธรรมของสองสภาเรียบร้อยแล้ว

เมื่อถามว่า ที่ประชุม ส.ว.ได้พูดเรื่องการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส.หรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า วันนี้ไม่มีการหารือกันในที่ประชุม แต่คงเป็นไปตามคำวินิจฉัยของนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน ส.ว.เพราะเมื่อร่าง พ.ร.บ.งบฯ 63 ส่งมาจากสภาฯ อย่างเป็นทางการ จึงถือว่าเป็นร่างที่ถูกต้อง ส.ว.มีภารกิจที่ต้องพิจารณาให้เเล้วเสร็จภายใน 20 วัน แม้จะปรากฏเป็นข่าว แต่ประธาน ส.ว.ก็มีดำริว่ารัฐธรรมนูญไม่เปิดช่องให้ ส.ว.ดำเนินการที่เป็นอื่น นอกจากนี้ ทุกฝ่ายยังเห็นตรงกันว่าไม่ใช่หน้าที่ของวุฒิสภา หรือแม้แต่สภาผู้แทนฯ ที่จะตัดสินได้ แต่เป็นหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ คือ ศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องเป็นผู้พิจารณา โดยหากจะไปถึงขั้นตอนนั้นได้จะต้องเป็นไปตามมาตรา 148 ของรัฐธรรมนูญ ส่วน ส.ว.จะลงชื่อเพื่อยื่นเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าตอนนี้ยังไม่คุยกัน แต่เชื่อโดยสุจริตใจว่าเรื่องนี้เกิดในสภาผู้แทนฯ ดังนั้น สภาผู้แทนฯ ก็น่าจะหาแนวทางแก้ไขได้ แม้จะเคยมีคำวินิจฉัยกรณีที่คล้ายกันไว้ แต่ก็ต่างกรรมต่างวาระ จึงไม่สามารถคาดเดาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้


กำลังโหลดความคิดเห็น