xs
xsm
sm
md
lg

มท.1 ตอบ "ระวี" ปมขยะล้นไม่สัมพันธ์โรงไฟฟ้า ลั่นปีนี้ไม่มีขยะอิเล็กทรอนิกส์-ขยะนำเข้า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"หมอระวี" ตั้งกระทู้ถามปมโรงไฟฟ้าขยะไม่สัมพันธ์กับปริมาณขยะ ปูดประเทศไทยมีขยะสะสมกว่า 50 ล.ตัน "บิ๊กป๊อก" แจงปีนี้จะไม่มีขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะนำเข้าอีก ยันทุกฝ่ายต้องช่วยกันบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหา

วันนี้ (15ม.ค.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่รัฐสภา นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ตั้งกระทู้ถาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย โดยระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะใหม่ 70,000 ตันต่อวันและมีขยะเก่าที่กองอยู่เต็มทุกจังหวัดทั่วประเทศ มากกว่า 50 ล้านตัน โดยมีระบบการจัดการขยะโดยการฝังกลบ ผลิตก๊าซชีวภาพ เผาขยะ การใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า การแยกขยะไปรีไซเคิล และนำไปทำปุ๋ยหมัก แต่จากการลงไปสำรวจพบว่า ขยะเก่าจำนวนมหาศาลที่ถูกนำไปกองรวม เพื่อฝังกลบสูงเป็นกองภูเขาก่อให้เกิดปัญหาทั้งเรื่องกลิ่น น้ำเสีย การจัดการขยะด้วยวิธีต่างๆ พบว่า การจัดการนำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันน่าจะเป็น แนวทางที่เหมาะสม และประสิทธิภาพที่ดีที่สุดในการจัดการขยะเก่า และขยะใหม่ แต่เมื่อลงไปศึกษาโรงไฟฟ้าขยะในหลายจังหวัด ยังพบว่าทั่วประเทศยังมีโรงไฟฟ้าขยะอยู่น้อยมาก และโรงไฟฟ้าขยะที่มีอยู่ในปัจจุบันเอง ก็ยังมีปัญหาต่างๆ หลายประการ เช่น จัดการได้เฉพาะขยะใหม่เท่านั้น การลงทุนโรงไฟฟ้าขยะของเอกชนมีสถานะไม่มั่นคง เมื่อหมดสัญญาที่ได้ค่าไฟฟ้าแบบแอดเดอร์แล้วอาจจะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ฯลฯ ในประเด็นขยะของเสียอันตรายในประเทศมีปีละ 600,000 ตัน/ปี แยกเป็นขยะอิเล็คทรอนิกส์ 390,000 ตัน/ปี และขยะอันตายอื่นๆ 210,000 ตัน/ปี ซึ่งพบว่ายังมีปัญหาจัดการที่ไม่ได้มาตรฐานจำนวนมาก นอกจากนี้พบว่า รัฐบาลอนุญาตให้มีการนำเข้าขยะอันตราย จำนวนมากกว่า 100,00 ตัน ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายและอนุสัญญามาเซล เพื่อจัดการในประเทศ กระทรวงมหาดไทย มีแผนการโครงการที่ชัดเจนอย่างไร ในการจัดการขยะเก่า และขยะใหม่ทั่วประเทศ และคาดว่าขยะเก่าที่กองอยู่ทั่วประเทศ จะมีแนวทางจัดการให้หมดไปได้ในเวลากี่ปี

ด้านพล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์ขยะใหม่ก็มีจำนวนมาก ตามที่ นพ.ระวี ได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งยอมรับว่ามีการกำจัดด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการบางส่วน ซึ่งแนวทางการบริหารจัดการ คือจะต้องมีการเร่งดำเนินการในทุกเรื่อง ซึ่งที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่ถือกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องขยะ ทำให้การบริหารจัดการขยะไม่มีเอกภาพในการทำงาน และไม่มีการบูรณาการร่วมกัน ทางกระทรวงมหาดไทยจึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานภายใต้กระทรวงมหาดไทย ในส่วนของการแยกขยะจำเป็นต้องทำ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีหน้าที่รณรงค์ให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่มีการแยกขยะ ไม่ว่าจะเป็นการกำจัดด้วยวิธีทางใด การแยกขยะจะสามารถลดต้นทุนในการดำเนินการขั้นตอนสุดท้าย

อย่างไรก็ตามการแยกขยะก็มีปัญหาพอสมควร คือคนไทยมีวัฒนธรรมใช้ถุงพลาสติกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเครื่องมือแยกขยะประเทศไหน ก็สู้ขยะประเทศเราไม่ได้ ถึงแม้รณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะที่ต้นทางได้ แต่ยังมีการปนกัน ปลายทางก็ต้องไปแยกอีกที มันจะสิ้นเปลืองงบประมาณ นอกจากนี้อปท. ต้องเก็บแยกขยะจากต้นทางด้วย ถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเรื่องขยะ กทม. เก็บเงินเกี่ยวกับการดำเนินงานเรื่องขยะได้ 500 ล้านบาท/ปี แต่ใช้ 6,500 ล้านบาท/ปีในการดำเนินการ โดยไม่ได้มีการกำจัดอย่างถูกต้อง ในที่สาธารณะก็ไม่มีการวางถังขยะอย่างถูกต้อง ทั้งประเทศใช้เงินกับเรื่องขยะประมาณ 2 หมื่นล้านบาท/ปี อย่างไรก็ตามท้องถิ่นจะเป็นองค์กรเดียวที่จะทำได้ เพราะท้องถิ่นใช้เงินที่เป็นรายได้จากการเก็บภาษีของตัวเอง ถ้าเป็นหน่วยงานอื่น ไม่ได้เงินจากภาครัฐก็ไม่สามารถทำได้ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายในการแก้ปัญหา โดยการแบ่งเวลาเก็บขยะแต่ละประเภท ทั้งนี้ ต้องใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้แนวทางการจัดการแก่อปท. การกำจัดขยะมีหลายเทคโนโลยี ประเทศไทยมีกองขยะกว่า 2,800 กว่ากอง เราพยายามมาจัดเป็นคลัสเตอร์ โดยรวมกับกองไหนที่อยู่ใกล้และขนย้ายได้ เรากำหนดได้ 262 คลัสเตอร์ ถ้าต้องมี 1 โรงกำจัด ต่อ 1 คลัสเตอร์ก็ต้องมีโรงขยะเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงพยายามรณรงค์ให้มีการรวมคลัสเตอร์ด้วย ตนอยากให้จบภายในแต่ละจังหวัดไปเลย แนวทางขณะนี้กำลังใช้คณะกรรมการสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอยจังหวัด ให้ท้องถิ่นรวมตัวกัน และทำแผนงานการกำจัดขยะขึ้นมา โดยจะด้วยวิธีใดก็ตาม และเสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการดังกล่าว

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เมื่อตรวจสอบและคิดว่าสามารถทำได้ ก็จะเสนอเรื่องขึ้นมายังคณะกรรมการอีกระดับหนึ่ง มายังรัฐมนตรี เพื่อให้การเห็นชอบ และกลับไปยังท้องถิ่นเพื่อหาผู้ประกอบการ แต่การกำจัดขยะโดยไม่ทำเป็นพลังงานไฟฟ้านั้น จะใช้เงินอีกเท่าตัว ประมาณ 1,000 บาท/ตัน แต่ถ้าเป็นพลังงานประมาณ 500 บาท/ตัน ดังนั้นเขาต้องรวมตัวกันหาผู้ประกอบการ และกระทรวงพลังงานเพื่อขอขายไฟฟ้า เป็นขั้นตอนของท้องถิ่นที่ต้องทำ เราพยายามเร่งให้เขาทำ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาขยะเก่า ต้องทำในพื้นที่ที่เป็นกองขยะเดิม สถานภาพการดำเนินตามแผนงานคือ ช่วงแรกกระทรวงพลังงานได้ให้โควตาไฟฟ้าที่เรียกว่า ควิกวินด์จำนวน 11 แห่ง อยู่ระหว่างการสร้างโรงงาน มีโครงการที่ผ่านคณะกรรมการครบถ้วนแล้วอยู่ในขั้นตอนหาผู้ประกอบการ และอยู่ในขั้นตอนขออนุญาต

ด้าน นพ.ระวี ถามต่อว่า กระทรวงมหาดไทย มีนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าขยะ เพื่อจัดการกับขยะใหม่ และขยะเก่า อย่างไร พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า การกำจัดขยะแบบฝังกลบ ไม่ใช่คำตอบ เพราะมีปัญหามากมายในระยะยาว ขยะจะมากขึ้นเรื่อยๆ เรามีแนวทางโดยต้องกำจัดให้เป็นพลังงานจะถูกที่สุด แต่ต้องมีคนแบกภาระไม่ว่าจะใช้ระบบเดิมหรือระบบปัจจุบัน ต้องมีต้นทุนการซื้อไฟเข้ามาในระบบของการไฟฟ้าก็แพงกว่าต้นทุนเฉลี่ย คนที่แบกภาระนี้คือประชาชนทั้งหมดที่ใช้ไฟ แต่เหมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้นอกสองตัว เพราะจะเป็นการกำจัดขยะให้หมดไป แล้วได้พลังงานด้วย

นพ.ระวี ถามต่อว่า กระทรวงมหาดไทย มีแนวทางจะจัดการขยะอันตรายให้มีมาตรฐานได้อย่างไร และทางรัฐบาลจะสั่งห้ามนำเข้าขยะอันตรายเข้าประเทศหรือไม่ เมื่อใด พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เรื่องขยะอันตราย ขยะพิษ ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงมหาดไทย เป็นเรื่องของกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ตนจะตอบให้ว่าเมื่อปี 2560 ทางนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปและบริหารจัดการแผ่นดินเป็นผู้แก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบปัญหาดังกล่าว คือจากเดิมกระทรวงอุตสาหกรรมมีการกำหนดโควต้าให้นำเข้าได้ ทั้งพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์บางส่วน หลังจากตั้งอนุกรรมการ ก็ได้มีมาตรการทันที ไม่ให้นำเข้าขยะดังกล่าวอีก อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 นี้จะไม่มีขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะนำเข้าจากต่างประเทศอีก ในส่วนที่เข้ามาแล้วก็ต้องมีมาตรการที่จะดำเนินการต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น