xs
xsm
sm
md
lg

“เสี่ยป้อม” จ่อใช้ ม.44 ห้ามนำเข้าขยะพิษ มท.1 ตั้งคณะทำงาน “บิ๊กเต่า” ถกข้อกำหนด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม (แฟ้มภาพ)
“ประวิตร” นั่งหัวโต๊ะเคาะห้ามนำเข้าขยะพิษ จ่อใช้ ม.44 ด้าน “บิ๊กป๊อก” ตั้งคณะทำงานให้ รมว.ทรัพยากรฯ บูรณาการทุกหน่วยถกข้อกำหนดอนุญาต

วันนี้ (20 มิ.ย.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ครั้ง ถึงแนวทางการแก้ปัญหาการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพิษ ว่าไม่มีแล้ว และไม่ให้มีการนำเข้ามาในประเทศไทยอีกแล้ว และเรื่องใดที่อาจต้องใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาจะต้องใช้

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ในที่ประชุม พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร.ได้เสนอให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกใบอนุญาตเพื่อไม่ให้มีการนำเข้า และต่อไปจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา มี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน โดยมีทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ กรมศุลกากร ที่ดูแลเรื่องการนำเข้าและการขนย้าย กระทรวงอุตสาหกรรมที่เป็นผู้อนุญาตตั้งโรงงาน ส่วนกระทรวงมหาดไทยจะเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นที่มีการตั้งโรงงาน เพื่อพิจารณาในเรื่องนี้ ไม่เฉพาะแค่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่อาจจะมีการนำขยะอื่นเข้ามาอีก จึงต้องมาออกข้อกำหนดว่า ถ้าไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและเป็นภาระเกิดผลกระทบและไม่คุ้มค่าจะไม่อนุญาตให้นำเข้ามา ไม่ใช่เฉพาะแค่ขยะอิเล็กทรอนิกส์แต่รวมทั้งหมด

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่นำเข้ามาได้ มีสาเหตุจากการอนุญาตตามโควตา แต่บริษัททำผิดเงื่อนไขโดยนำเข้ามาเกินและเป็นขยะที่ไม่ถูกต้อง จึงต้องหยุดปัญหาด้วยการยกเลิกการอนุมัติให้นำเข้าไปก่อน โดยดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และเมื่อมีการกำหนดประเภทการอนุญาตให้นำเข้า หากยังพบว่าทำผิดจะดำเนินการตามกฎหมาย ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยท้องถิ่นต้องรับผิดชอบเรื่องของพื้นที่ แต่ยังติดปัญหาการเข้าไปตรวจสอบ เพราะอาจกลายเป็นการเข้าไปบุกรุกพื้นที่ ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการที่ทำให้เข้าไปตรวจสอบได้ ซึ่งจะต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไปด้วย โดยเจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องดูด้วยว่าสิ่งใดที่ควรห้ามนำเข้ามา เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรู้เรื่องก็จะเข้าไปตรวจได้ ตนจะไปหามาตรการเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปตรวจสอบไม่โดนฟ้องในภายหลัง และไม่ให้เกิดช่องทางที่ท้องถิ่นเข้าไปทำอะไรที่ไม่ถูกไม่ควร จึงเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวไม่สายเกินไปที่จะแก้ปัญหา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถึงขั้นต้องใช้คำสั่งมาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหาหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า หากมีความจำเป็นก็จะใช้ แต่ถ้าได้รับอนุญาตแล้วทำผิดเงื่อนไขต้องยกเลิกการอนุญาต โดยไม่ต้องใช้มาตรา 44 แต่ใช้วิธีแก้กฎกระทรวงที่มีการอนุญาต เพื่อแก้ปัญหาต่อไปซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ โดยระหว่างนี้จะต้องตรวจที่สนามบินและศุลกากรเพื่อไม่ให้เล็ดลอดเข้ามาได้อีก


กำลังโหลดความคิดเห็น