xs
xsm
sm
md
lg

“เจ๊หน่อย-เหลิม”สงครามตัวแทนเปิดศึกกันเอง !?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง
เมืองไทย 360 องศา




แม้ว่าข่าวความขัดแย้งระหว่าง “เจ๊หน่อย” หรือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กับ “เหลิมบางบอน” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในพรรคเพื่อไทยไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ เพราะสำหรับคอการเมืองที่ติดตามกันมานานย่อมรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้อย่างดี และไปไกลถึงขั้นที่ว่าประเภท “ผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ” กันเลยทีเดียว และที่ผ่านมาที่ทั้งคู่ต่างก็ยังอยู่ร่วมชายคาเดียวกันในพรรคเพื่อไทยก็เพื่อประโยชน์ทางการเมือง

ที่ผ่านมาอาจมองว่าภายในพรรคเพื่อไทยมีความสงบราบเรียบ นั่นก็เป็นเพราะมีการแบ่งหน้าที่ให้แสดงบทบาทแยกกันไปอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา และหากมองกันในภาพรวมในเวลานั้นก็ต้องยอมรับว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มีบทบาทเหลื่อมล้ำหน้า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อยู่บ้าง เนื่องจากฝ่ายแรกได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานยุทธศาสตร์ของพรรค ดูแลเรื่องยุทธศาสตร์ของพรรคตามชื่อที่ปรากฏ รวมไปถึงยังได้เป็นหนึ่งในแคดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค

ขณะที่ฝ่ายหลังเหมือนกับว่าต้องลดบทบาทลง แต่สำหรับในพื้นที่ของตัวเองย่านฝั่งธนฯเขาจะเป็นคนกำหนดเอง และการที่สามารถผลักดัน วัน อยู่บำรุง ลูกชายจนสามารถเข้ามาเป็น ส.ส.สมัยแรกได้สำเร็จ แม้ว่าตัวเองจะวืดพร้อมกับบรรดา “ขาใหญ่”คนอื่นๆในพรรคไม่ได้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อแบบยกชุดก็ถือว่าพอใจแล้ว

อย่างไรก็ดีหลังจากผ่านการเลือกตั้งมาได้ระยะหนึ่งหากสังเกตให้ดีจะพบว่าบทบาทของพรรคเพื่อไทยในรอบ 5-6 เดือนที่ผ่านมาทั้งในและนอกสภาต้องยอมรับความจริงว่าได้ถดถอยอย่างมาก แต่หากพิจารณากันอย่างเป็นธรรมและเป็นจริงแล้วจะไปโทษ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ของพรรคฝ่ายเดียวก็คงไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากต้องมองในเรื่ององค์ประกอบอื่นเข้าไปด้วย อย่างแรกก็อาจเป็นเพราะว่าบรรดา “แกนหลัก” แบบ “บิ๊กเนม” ล้วนไม่ได้เป็น ส.ส.ไม่ได้เข้าสภามาได้แม้แต่คนเดียว หากไล่ลงมาตั้งแต่หัวหน้าพรรคคือ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ที่ต้องดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ต่างจาก “ส้มหล่น” ถูกมองว่า “ขัดตาทัพ” เอาไว้ชั่วคราวเท่านั้น

เมื่อเป็นแบบนี้บทบาททั้งในและนอกสภาในช่วงที่ผ่านมาจึงแทบจะไม่มีพลัง บรรดา ส.ส.ที่อุปโลกน์ขึ้นมาว่าเป็น “ดาวสภา” ที่มีอยู่ในเวลานี้ก็เห็นกันอยู่ก็คือ “มือยังไม่ถึงขั้น” ดังนั้นบทบาทจึงตกมาอยู่ที่พรรคอนาคตใหม่ที่มี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นแกนนำ ทั้งที่พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก มีจำนวน ส.ส.ในสภามากที่สุด

วกมาที่ความขัดแย้งหมางใจกันระหว่าง “สองขาใหญ่” ดังกล่าวในพรรคเพื่อไทย ที่ต้องบอกว่า “เกาเหลา” แบบไม่กินเส้นมานาน เพียงแต่ว่าทั้งคู่ต่างอยู่ในสถานะ “ลูกน้อง” อีกชั้นหนึ่ง นั่นคือต้องอยู่ใต้ร่มเงาของ นายทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว โดยให้ทั้งคู่มีสถานะที่แยกจากกันไม่ได้ขึ้นต่อกัน ต่างคนต่างก็มี “บาง” หรือขุมกำลังเครือข่ายเป็นของตัวเอง ลักษณะจึงต่างคนต่างอยู่เป็นแบบนี้มาตลอด และอาจมีบ้างที่อาจมีรายการ “แอบแทง” กันอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นเรื่องสาระสำคัญอะไรนัก

อย่างไรก็ดีสาเหตุของความขัดแย้งที่มีแนวโน้มอาจถึงขั้นต้องแตกหักระหว่างสองฝ่าย โดยเฉพาะฝ่าย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ โดยเริ่มจากการที่มีความเคลื่อนไหวของ ส.ส.อีสานจำนวนหนึ่งพร้อมด้วย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เดินทางไปพบ นายทักษิณ ชินวัตร ที่รับรู้กันดีว่าเป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทยที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง เมื่อราวปลายเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องมาจนถึงต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ตามข่าวอ้างว่ามีการเสนอให้ปลด คุณหญิงสุดารัตน์ พ้นจากการเป็นประธานด้านยุทธศาสตร์พรรค เนื่องจากพวกเขาบอกว่าทำงานล้มเหลวอะไรประมาณนี้ จนมีรายงานข่าวตามมาว่า คุณหญิงสุดารัตน์ ถึงกับนั่งไม่ติดต้องรีบตามไปชี้แจง ซึ่งดูเหมือนทุกอย่างจึงสงบลงชั่วคราว

อาจเป็นเพราะในช่วงเวลานั้นกำลังเป็นช่วงหาเสียงเลือกตั้งซ่อม เขต 2 ที่จังหวัดขอนแก่น ในโค้งสุดท้ายที่พรรคเพื่อไทยต้องการรักษาเก้าอี้ ส.ส.เอาไว้ให้ได้ จึงไม่อยากให้เกิดการกระเพื่อมหรือเปล่า

แต่หลังจากที่จะมีการยื่นญัตติซักฟอกรัฐบาล ก็มีข่าวการแต่งตั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็น “ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ”ของพรรคเพื่อไทย โดยมีภารกิจหลักคือติดตามควบคุมและตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลรวมถึงภารกิจอื่น และภารกิจแรกก็คือ การดูแลข้อมูลและเตรียมความพร้อมสำหรับการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม้ไว้วางใจรัฐบาลที่กำลังจะมีขึ้นในปลายเดือนนี้ ซึ่งตำแหน่งและบทบาทดังกล่าวมัน “ทับซ้อน” กับตำแหน่งและบทบาทของ คุณหญิงสุดารัตน์ เต็มๆ และนี่ก็ถูกมองว่าเป็นสาเหตุให้ “ขาดผึง” จนมีรายงานว่าเธอได้เก็บข้าวของออกจากพรรคเพื่อไทย โดยได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคกับ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเรียบร้อยแล้ว

แต่ที่น่าจับตาก็คือการเรียกประชุม ส.ส.ในสังกัดของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แม้จะอ้างว่าเป็นการเลี้ยงขอบคุณที่มีการช่วยหาเสียงเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดขอนแก่น และสวัสดีปีใหม่ก็ตาม แต่เมื่อทุกอย่างมันประจวบเหมาะแบบนี้ มันก็ย่อมน่าจับตาว่าจะเกิดอะไรขึ้น ในท่ามกลางข่าว “เลือดไหล” ในพรรคเพื่อไทย ซึ่งศึกในครั้งนี้น่าสนใจยิ่งกว่าศึกนอกเสียอีก เพราะเป็นลักษณะ “สงครามตัวแทน” ที่ออกมาฟาดฟันแทนนาย นั่นเอง !!


กำลังโหลดความคิดเห็น