xs
xsm
sm
md
lg

คิดถึงฉันไหม!? “ต้มยำกุ้ง” ซ่อน “เกม” โดนโต้เดือด ทำคนไทยจนทั้งประเทศ รวยอยู่คนเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภัทร เหมสุข นักวิชาการอิสระ โต้เดือด “ทักษิณ” ที่แนะคนไทยเรียนรู้วิกฤตต้มยำกุ้ง ระบุเท่าที่จำได้คนไทยยากจนทั้งประเทศภายในคืนเดียว แต่มีบางคนรวยในคืนเดียว... เจาะเบื้องลึก เล่นเกม “วีรบุรุษต้มยำกุ้ง”

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (2 ธ.ค. 63) เฟซบุ๊ก Pat Hemasuk ของนายภัทร เหมสุข นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความตอบโต้โพสต์อวยพรปีใหม่คนไทย ของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ยกเอาวิกฤตต้มยำกุ้งมาเตือนคนไทยให้เป็นบทเรียน โดยระบุว่า

“เท่าที่ผมจำได้ มีคนยากจนทั้งประเทศภายในคืนเดียว แต่มีคนบางคนรวยเพิ่มขึ้นภายในคืนเดียวอีกเช่นกันจากข้อมูลอินไซเดอร์

หลายหมื่นครอบครัวต้องเอาของใช้ในบ้านมาเปิดท้ายขายของเพื่อเอาตัวรอด ค่าเงินสามพันห้าเมื่อยี่สิบปีก่อนเติมน้ำมันรถไปทำงานได้ไม่เต็มถัง

เด็กสมัยนี้อาจจะจำไม่ได้เพราะเกิดไม่ทันหรือยังเด็กมาก แต่คนวัยทำงานทุกคนจะจำได้ไปจนตายว่าใครทำอะไรไว้ และใครคือคนแก้ไขจนประเทศเดินหน้าต่อไปได้”

ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊ก Thaksin Shinawatra ของนายทักษิณ ชินวัตร โพสต์ข้อความหัวข้อ “สวัสดีปีใหม่ 2563 แด่พี่น้องคนไทยที่เคารพรัก”

โดยระบุว่า “ผมขอส่งความปรารถนาดีมายังพี่น้องคนไทยทุกคนให้มีภูมิต้านทานต่อภาวะเศรษฐกิจที่ไม่น่าจะดีนักของปี 2563 ซึ่งจะเป็นปีที่ท้าทายของพี่น้องคนไทย ซึ่งจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจกันพร้อมต่อความผันผวน

การทำมาค้าขายและทำธุรกิจต้องระวังกันให้มากขึ้น ขอให้ผู้ที่ตกงานมีโอกาสกลับมายืนด้วยลำแข้งของตนเอง ขอให้ผู้มีหนี้สินฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยความมุ่งมั่น SME กลับมาทำมาค้าขึ้น เกษตรกรรอดพ้นจากปัญหาภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ขอให้คนไทยกลับมามีโอกาสทำมาหากินที่ดีอีกครั้ง

อย่าลืมว่า ลูกบอลที่พุ่งเข้าหาเรา (Set Back) จะถูกสวนกลับ (Bounce Back) ได้แรงกว่า หากตั้งสติและมียุทธศาสตร์ในการโต้กลับ แบบอย่างดีๆ ที่เกิดขึ้นกับหลายท่านช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง (2540-2544) ย่อมเป็นเรื่องที่นำมาเรียนรู้ได้ ขอให้ตัวแทนประชาชนที่แท้จริงได้ทำหน้าที่ตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน

สุดท้ายนี้ ผมขออวยพรให้ปี 2563 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเพื่อพี่น้องคนไทยทุกคน

ด้วยรักและห่วงใย ดร.ทักษิณ ชินวัตร 31 ธ.ค. 62”

สำหรับวิกฤตต้มยำกุ้ง มีผู้เขียนถึง หรือสื่อวิเคราะห์เอาไว้หลายสำนัก ที่หยิบยกมานี้ก็เป็นหนึ่งในแง่มุมวิเคราะห์เหล่านั้น

ย้อนไปเมื่อ... 2 ก.ค. 2540 ที่ทำให้ไทยต้องสูญเสียเอกราชทางเศรษฐกิจแบบเบ็ดเสร็จให้แก่ไอเอ็มเอฟ เพื่อแลกกับเงินกู้ 1.72 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำไปสู่การ “ลอยตัว” ค่าเงินบาท

2 ก.ค. 40 คือวันที่ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หลังจากธนาคารแห่งประทศไทย (ธปท.) พ่ายแพ้ต่อ นายจอร์จ โซรอส พ่อมดการเงินระดับโลก และพรรคพวก ที่เข้าโจมตีค่าเงินบาท มาตั้งแต่ต้นปี 2540

ผลจากความพ่ายแพ้อย่างหมดรูป ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปมากกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จนเงินทุนสำรองร่อยหรอเหลือเพียงแค่ 2,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จำนวน 1.72 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

การขอรับความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ ทำให้ประเทศไทยสูญเสียเอกราชทางเศรษฐกิจแบบเบ็ดเสร็จ ไทยต้องทำ Letter of Intend ซึ่งเป็นหนังสือผูกมัดให้ไทยต้องทำตามคำสั่งของไอเอ็มเอฟ เพื่อแลกกับเงินกู้ในแต่ละงวด

“Letter of Intend เป็นเพียงแค่ใบปะหน้า ที่บอกเพียงกว้างๆว่า เราต้องทำอะไรบ้าง แต่ที่หนักกว่าคือ Side Letter of Intend ที่หนักกว่าและเข้มงวดกว่าหลายเท่า ซึ่งถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเป็นเรื่องอะไร”

ต้มยำกุ้งปี 2540 ไม่ใช่วิกฤตทางเศรษฐกิจแรกที่ไทยเคยเผชิญ แต่เป็นวิกฤตที่หนักหนาสาหัสที่สุด เป็นวิกฤต 2 ขา คือ ทั้งการเงิน และการคลัง ที่ต่างจากวิกฤตครั้งก่อนๆ ที่จะวิกฤตเพียงด้านเดียว เช่น ในปี 2522-2525 ไทยเผชิญวิกฤตราคานํ้ามัน หรือ Oil Shock ถัดมาในปี 2526-2528 เผชิญวิกฤตทรัสต์ล้ม และลดค่าเงินบาท

สาเหตุวิกฤตต้มยำกุ้งมาจาก 1. ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสะสม ตั้งแต่ปี 2530-2539 สูงถึง 14,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ควบคู่กับการขาดดุลการค้า ขาดดุลงบประมาณ 2. หนี้ต่างประเทศสูงถึง 109,270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 3. การลงทุนเกินตัว ก่อให้เกิดฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ 4. ประสิทธิภาพสถาบันการเงินอ่อนแอ 5. การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาด 6. การโจมตีค่าเงินบาทของจอร์จ โซรอส เจ้าของกองทุนเก็งกำไร Quantum

ผลกระทบทางเศรษฐกิจเพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือจำนวนมาก ไทยต้องปิดสถาบันการเงิน 56 แห่ง จากทั้งหมด 58 แห่ง มีหนี้ดีหนี้เสียโอนไปให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) มากกว่า 8 แสนล้านบาท ธนาคารพาณิชย์เกือบครึ่งถูกเปลี่ยนมือจากสมบัติของทุนไทยไปเป็นของต่างชาติ ที่เหลืออยู่ก็มีกระทรวงการคลังถือหุ้น ตามมาตรการ 14 ส.ค. 41

ในขณะที่รัฐบาลต้องรัดเข็มขัด ตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็น ตัดงบทุนทุกด้าน การใช้งบประมาณถูกใช้จ่ายอย่างจำกัดจำเขี่ย ต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อหาเงินมาชำระหนี้ ตลอดจนออกกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ

ภาคเอกชนอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจบ้านจัดสรรปิดกิจการจำนวนมาก พนักงานถูกปลดระนาว หนี้สินท่วมตัว จนต้องเข้าสู่โปรแกรมปรับโครงสร้างหนี้ มูลหนี้ที่เข้าปรับโครงสร้างหนี้มากกว่า 1 ล้านล้านบาท

ภาพจากเฟซบุ๊ก Pat Hemasuk
เศรษฐกิจไทยปี 2540 ติดลบ 1.4% ก่อนจะติดลบหนักขึ้นในปีถัดมาถึง 10.5% ค่าเงินบาทอ่อนค่ากว่าเท่าตัว ดัชนีหุ้นไทยจาก 1,789 จุด ในปี 2537 ตกลงตํ่าสุดที่ 204 จุดในเดือนสิงหาคม 2541 ทำเอาคนรวยจนกันถ้วนหน้า

ผลกระทบทางการเมือง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรีวันที่ 8 พ.ย. 2540 โดยนายชวน หลีกภัย รับไม้ต่อนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 ในวันถัดไป พร้อมหนีบเอานายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นแม่ทัพแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2540 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อภิปรายพาดพิงไปถึงนายโภคิน พลกุล ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในเวลานั้น โดยตั้งข้อสงสัยว่านายโภคินจะนำมติจากที่ประชุมลับเรื่องการลดค่าเงินบาท ไปบอกนายทักษิณ ชินวัตร ทำให้บริษัทของนายทักษิณได้ประโยชน์

ไทยอยู่ในโปรแกรมไอเอ็มเอฟประมาณ 6 ปี ต่อมา นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศคืนหนี้ไอเอ็มเอฟทั้งหมดก่อนกำหนดเมื่อปี 2546 ถือว่าเป็นการประกาศเอกราชทางเศรษฐกิจ

วันนี้ยังมีคำถามออกมาเป็นระยะๆว่า เศรษฐกิจไทยจะเจอวิกฤตซํ้ารอยปี 2540 หรือไม่ ยังไม่มีใครกล้ายืนยันว่าจะเกิดหรือไม่เกิด แต่ที่แน่ๆ คือ หากเกิดวิกฤตรอบใหม่ จะเป็นวิกฤตด้านกลับปี 2540 ที่เกิดจากฟองสบู่ แต่รอบใหม่จะเป็นภาวะชะงักงัน ที่นักเศรษฐศาสตร์บางสำนักใช้คำว่า Slow Death ซึ่งหากเกิดขึ้นจะส่งผลสะเทือนต่อประชาชนทุกกลุ่มทั่วทั้งแผ่นดิน ที่จะไม่จำกัดเฉพาะชนชั้น Elite เหมือนวิกฤตต้มยำกุ้งที่ครบรอบ 20 ปี วันที่ 2 กรกฎาคม 2560 (ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,275 วันที่ 2-5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560)

โลกโซเชียลฯ แห่แชร์ข้อมูลอีกด้านของนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี จากผู้ใช้เฟซบุ๊ก Tub Dusadeepun ที่ระบุว่า นายชวนคือวีรบุรุษไอเอ็มเอฟตัวจริง ไม่ใช่นายทักษิณ ชินวัตร จนมีชาวเน็ตต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นและแชร์ออกไปหลายพันครั้งเลยทีเดียว โดยระบุว่า

“วันที่จำ … ไม่มีวันลืม ชวน หลีกภัย วีรบุรุษไอเอ็มเอฟ ตัวจริง! ไม่ใช่ทักษิณครับ ถ้าจำกันได้ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ตอนนั้น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ คือนายกรัฐมนตรี ที่ลดค่าเงินบาท จนประเทศย่ำแย่ ต้องกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ หลังจากนั้นคุณชวน หลีกภัย ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วก็ตามใช้หนี้ที่ พล.อ.ชวลิต กู้มาเป็นก้อนๆ ทุก 3 เดือน เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2541 ใครอยู่ในยุคช่วงนั้นคงจำกันได้ … ผมจำแม่น โดนตัดเงินเดือนกันทั้งบริษัทด้วยความเต็มใจเพื่อส่วนรวม

คุณชวนออกนโยบายให้คนไทยช่วยกันรัดเข็มขัดและประหยัดกัน ช่วงนั้นก็ทยอยใช้หนี้ไอเอ็มเอฟไปเรื่อยๆ จากเดิมทีเราต้องต้องกู้ทั้งหมด 7 ปี แต่ด้วยนโยบายรัดเข็มขัดของคุณชวน ที่ชวนคนไทยทั้งประเทศช่วยกัน ปรากฏว่าเมื่อถึงปี 43 ถ้าจำไม่ผิด คุณชวนขอยกเลิกกู้เงินก้อนสุดท้ายทั้งหมด!! ให้เหตุผลว่าเสถียรภาพทางการเงินของประเทศดีขึ้นแล้ว และก็ยังใช้หนี้ไอเอ็มเอฟเกือบหมดจนเหลืองวดสุดท้ายที่จะต้องใช้ภายในปี 2546

แต่พอหลังจากนั้น นายทักษิณ ชินวัตร เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้มาใช้หนี้ก้อนสุดท้าย ตอนปี 46 พอดี แต่การใช้หนี้ครั้งนั้นก็ไปกู้คนอื่นมาอีกประเทศไทยจึงมีหนี้และดอกเบี้ยเพิ่ม!! แต่ทักษิณก็เคลมว่าตัวเองเป็น วีรบุรุษไอเอ็มเอฟ! ถามหน่อยช่วงลดค่าเงินบาท พวกไหนรวยกันบ้าง!

ช่วงที่คุณชวนเป็นนายกฯ อยู่นั้น ประเทศชาติเงินเหลือเพราะประชาชนร่วมมือกับรัฐบาล โดยใช้ความพอเพียงจริงๆ งบประมาณแผ่นดินต่างๆ ถูกใช้อย่างประหยัดมากๆ ทหารในยุคนั้นก็ช่วยกันแทบจะไม่ซื้ออาวุธ โครงการต่างๆ ที่ยังไม่จำเป็นก็ชะลอไว้ก่อน

ไม่เว้นแม้แต่หลวงตาบัว ยังลงมาช่วยทำโครงการผ้าป่าช่วยชาติเลย แล้วก็ยังถูกกล่าวหาว่าทำงานช้า บ้านเมืองไม่เจริญ แต่ทั้งๆ ที่ประเทศมีเงินเหลือและใช้หนี้ไอเอ็มเอฟหมด สิ่งเหล่านี้ชาวบ้านไม่รู้หรอก เพราะไม่ใช่ประชานิยม

สาเหตุที่ต้องเขียนให้เข้าใจ เพราะในช่วงเศรษฐกิจ บ้านเมืองไม่ค่อยจะดี เลยถือโอกาส มีการเอาไปหาเสียงกัน ที่ไม่ตรงไปตามข้อเท็จจริงนัก อีกหนึ่งท่านที่ต้องให้เครดิตคือ คุณธารินทร์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ที่เป็นกำลังสำคัญในรัฐบาลคุณชวน หลีกภัย ที่พาประเทศเดินหน้าไปกับคนไทยจนรอดวิกฤตมาจนได้

ในช่วงนั้นจะเห็นได้เลยว่าถ้าคนไทยรักและร่วมมือกัน เราจะผ่านพ้นทุกวิกฤตได้ หันมารักกันและสร้างเอกภาพให้กับคนไทยด้วยกันเหมือนเมื่อก่อนที่ยังไม่แตกแยก แบ่งสีแยกข้าง แค่ทำให้ภาคประชาชนแข็งแรง แค่นี้เองประเทศเราก็จะเดินไปข้างหน้าด้วยกัน วันที่จำ …ไม่มีวันลืม” (ข้อมูลจาก springnews /14 มี.ค. 62)

ไม่รู้โพสต์ของนายทักษิณ ชินวัตร ต้องการโยงถึงวิกฤตต้มยำกุ้ง เพื่อความหวังดี หรือว่าต้องการย้ำเตือนให้คนไทย คิดถึง “วีรบุรุษ” ที่ช่วยให้คนไทยเป็นเอกราชจาก “ไอเอ็มเอฟ” หรือไม่?

เพราะอย่าลืม ข้อมูลบางกระแสจะรวบรัดให้เห็นว่า “ทักษิณ” เป็นพระเอกช่วยปลดหนี้ “ไอเอ็มเอฟ” เนื่องจากประกาศเอกราชในรัฐบาล “ทักษิณ” ทั้งที่ข้อเท็จจริง ปลดหนี้ไปตั้งแต่รัฐบาลชวนแล้วจนเหลือแค่งวดสุดท้าย

หมากเกมอย่างนี้ “ทักษิณ” ถนัดนักแล ดูเหมือนหวังดีต่อคนไทย แต่ก็หวังผลเป็นนัยให้คนไทยคิดถึงตัวเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น