xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ เร่งแบน 3 สารพิษเมื่อครบกำหนด แต่รับขอขยายเวลาได้แต่ต้องมีเหตุผล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปธ.ผู้ตรวจฯ พร้อมเร่งรัดแบน 3 สารพิษ เมื่อครบกำหนด 1 ม.ค. 63 ยอมรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถขอขยายเวลาได้ แต่ต้องมีเหตุผล อย่าอ้างเวลา เพราะเตือนมาแล้วหลายครั้ง ชี้ควรแบนในส่วนของสารที่สามารถทำได้ทันที

วันนี้ (31 ธ.ค.) พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เลื่อนแบน 3 สารพิษออกไปเป็นเดือน มิถุนายน 2563 ขณะที่ผู้ตรวจฯ มีมติให้แบน 3 สาร คือ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส ในวันที่ 1 ม.ค. 2563 ซึ่งมีเวลา 13 เดือนในการเตรียมการ ถ้ารัฐบาลและหน่วยงานรัฐไปดำเนินการตามขั้นตอนที่ผู้ตรวจฯให้คำแนะนำไป ก็จะไม่เกิดผลเสียหายเช่นนี้ โดยการประชุมผู้ตรวจฯ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม มีความเห็นว่า การนำเข้าสารพิษทั้ง 3 ตัวนี้ ปริมาณการนำเข้าตั้งแต่มิถุนายน 2562 ที่กรมวิชาการเกษตรบอกว่าได้ยุติการออกใบอนุญาตนำเข้า ซึ่งผู้ตรวจฯ ได้ตรวจพบว่ามีการแจ้งองค์การการค้าโลกทราบตั้งแต่เดือนตุลาคม

พล.อ.วิทวัส กล่าวด้วยว่า ส่วนที่ระบุว่าเมื่อห้ามนำเข้าไกลโฟเซตแล้วจะส่งผลกระทบต่อการปลูกถั่วเหลืองและต้องมีการนำเข้าจากประเทศบราซิล อเมริกา ซึ่งถั่วเหลืองที่นำเข้ามาเป็นพืชจีเอ็มโอ เมื่อนำมาแปรรูปเป็นอาหารสำหรับคนและสัตว์แล้ว ผู้ตรวจฯ กังวลเพราะตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องที่เกี่ยวกับอาหารที่มีสารพิษตกค้าง ถ้าจะห้ามเรื่องไกลโฟเซตจะต้องไปกำหนดว่าหน่วยวัดที่เรายอมให้มีสารตกค้างของไกลโฟเซตมีแค่ไหนถึงก่ออันตราย รวมถึงจะต้องมีการปิดฉลากในผลิตภัณฑ์อาหารว่ามีการใช้ถั่วเหลืองที่มีการใช้สารไกลโฟเซตตกค้างกี่หน่วย เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้และผู้บริโภคก็ต้องรับความเสี่ยงต่อไป

“เป็นสิทธิของผู้บริโภคจะรู้ว่าจะใช้ผลิตภัณฑ์นี้แล้วเป็นอันตราย และต้องรับผิดชอบสุขภาพของตัวเอง ทางผู้ตรวจฯ ก็จะหารือกับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ ที่จะต้องดูเรื่องการปิดฉลากผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้อง ทั้งนี้การดำเนินงานของกรมวิชาการเกษตรที่มีการวิจัยการหาสารชีวพันธุ์ในแต่ละปีดำเนินการไปถึงไหน ผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร ผู้ตรวจฯจะขอความร่วมจากองค์อิสระอื่น เช่น สตง. ที่จะช่วยผู้ตรวจฯตรวจการใช้งบประมาณผลการทำงานในการใช้งบประมาณคุ้มค่าหรือไม่ และที่สำคัญได้ขอรายงานที่ประชุมของคณะกรรมการฯ 2 ครั้งที่ผ่านมา คือ 22 ตุลาคม และ 27 พฤศจิกายน เพื่อมาพิจารณาว่าได้มีการดำเนินการด้วยความรอบคอบอย่างไร ซึ่งจะครบกำหนด 30 วัน ในเดือนมกราคม 2563”

เมื่อถามว่าหน่วยงานสามารถขอขยายเวลาส่งรายงานได้หรือไม่ พล.อ.วิทวัสกล่าวว่า เขาก็มีสิทธิขยายได้ แต่ต้องมีเหตุพอสมควร ส่วนการแบน 3 สารพิษมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยดูเป็นการกดดันรัฐบาล ถ้าเป็นเช่นนี้มองว่าโอกาสที่จะแบนสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ พล.อ.วิทวัสกล่าวว่า ในเมื่อพาราควอต และคลอร์ไพรีฟอสมีแนวโน้มที่จะแบนได้ แต่ต้องดูว่ากระบวนการที่นำไปสู่การแบนเป็นอย่างไร ซึ่งมติคณะกรรมการฯมีการขยายการแบนถึงเดือนมิถุนายน ซึ่งก่อนหน้านี้มีเสียงคัดค้านคณะกรรมการฯ ก็คงเกรงว่าภายใน 1 เดือนปริมาณสารพิษที่มีอยู่ในมือผู้นำเข้าหรือเกษตรกรจะทำลายอย่างไร ซึ่งเห็นว่าตั้งแต่ที่ออกมติมากรมวิชาการเกษตรต้องไปควบคุมให้ดี เมื่อถึงมิถุนายน 2563 แล้วต้องมีคำตอบ ไม่ใช่มาขอต่อรอง นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ดีในการทำงานของข้าราชการที่จะมาต่อรองอยู่เรื่อย

ส่วนการควบคุมไกลโฟเซต เป็นเหมือนทางสองแพร่ง ถ้าแบนก็ต้องมีหลักฐานทางการแพทย์มายืนยัน ถ้าไม่แบนต้องมีมาตรการอย่างน้อยที่สุดต้องปิดฉลากว่าผลิตภัณฑ์อาหารมีสารไกลโฟเซตตกค้างอยู่กี่หน่วย ถ้าถึงกำหนดแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังขอขยายระยะเวลาอีก ผู้ตรวจฯ ก็มีอำนาจที่จะส่งต่อไปยังองค์กรอิสระอื่นที่ลงโทษทางวินัยอาญา และแพ่ง

“ผู้ตรวจฯ ไม่ประสงค์จะไปใช้อำนาจเช่นนั้น ต้องการให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอยู่ในขอบเขต รวมถึงไม่สร้างความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐกับองค์กรอิสระ พร้อมทั้งหวังว่าคำวินิจฉัยที่ออกไปแล้วถือว่าผู้ตรวจฯ ได้ช่วยทำงาน อย่างประเด็นที่บอกว่าห้ามใช้ในพื้นที่สูง หมายถึงพื้นที่ป่าอนุรักษ์โซนเอ ผู้ตรวจฯเห็นว่าไม่มีการเพาะปลูกในพื้นที่ดังกล่าวแน่นอน เป็นการเขียนไว้อย่างสวยหรู ซึ่งความเป็นจริงพื้นที่การเพาะปลูกส่วนใหญ่จะอยู่ด้านล่าง และใกล้แหล่งน้ำซึ่งสารมันกระจายไปทั่ว” พล.อ.วิทวัสกล่าว

ประธานผู้ตรวจยังกล่าวด้วยว่า การที่จะเอากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อบต.มาร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจการใช้สารพิษแต่ละพื้นที่ คนเหล่านี้อยู่ด้วยความเป็นพี่เป็นน้องมีความสัมพันธ์ในชุมชนจึงไม่มีทางไปตรวจสอบ และการบังคับใช้กฎหมายเป็นหน้าที่ของท่านจะเอาคนเหล่านี้ไปช่วยตรวจฯ คงทำไม่ได้ เข้าใจว่าที่มีการขยายระยะเวลาแบนไปถึงเดือนมิถุนายนนั้น อาจเป็นเพราะไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายใน 1 เดือน แต่ต้องทราบด้วยว่าผู้ตรวจฯได้ให้เวลาถึง 13 เดือนแล้ว และได้มีการบอกขั้นตอนการดำเนินการด้วย อย่างไรก็ตาม หลังได้รับรายงานผู้ตรวจฯก็จะเชิญหน่วยงานมาหารือถึงเหตุผลที่ขอขยายเวลา รวมถึงตัวเลขปริมาณสารเคมีที่มีอยู่ ปริมาณการใช้แต่ละพื้นที่เพาะปลูก หากทำให้ละเอียดรอบคอบฝ่ายต่างๆ ก็คงจะเห็นด้วย

เมื่อถามว่าที่ยังดำเนินการแบนไม่ได้ เป็นเพราะมีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องหรือไม่ พล.อ.วิทวัสกล่าวว่า เรื่องผลประโยชน์ ทุกคนคงระวัง คิดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรรู้ว่าตัวเองทำอะไรในตอนนี้ คงหนีไม่พ้น เพราะข้อมูลเรื่องใดเรื่องหนึ่งผู้ตรวจฯ ก็สามารถหาได้ และทุกภาคส่วนก็หาได้ เพราะอยู่ในโลกข้อมูล แต่ต้องระวังว่าสิ่งที่ท่านไม่ให้แล้วคนอื่นไปได้มาจากแหล่งอื่น จึงอยากให้มาร่วมมือช่วยกันดีกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น