xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายฯ จ่อฟ้อง "สุริยะ" ต่อศาลปกครอง-อาญา ปมออก "มติสันนิษฐาน" ล้มแบน "ไกลโฟเซต" ไม่ชอบกม.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เครือข่าย 686 องค์กรและผู้บริโภค เตรียมฟ้อง "สุริยะ" ต่อศาลปกครอง-ศาลอาญา ประชุมบอร์ดวัตถุอันตรายมิชอบ อ้างมติสันนิษฐานล้มแบนไกลโฟเซต ชี้ไม่ชอบด้วยกม. ย้ำ กม.กำหนดให้ลงมติเท่านั้น  ขณะที่ข้ออ้างทบทวนมติแบนสารพิษไม่มีเหตุสนับสนุนเพียงพอ เสนอยึดมติแบนสารพิษตามเดิม พร้อมฟ้องคดีแบบกลุ่มให้คนรับผลกระทบจากสารเคมี แฉเบื้องหลังล้มแบนไกลโฟเซตเกี่ยวพันนำเข้าสินค้าจีเอ็มโอ ชงออกฉลากสินค้าเกษตรใช้สารพิษต้องระบุ เป็นทางเลือกผู้บริโภค

วันนี้ (2 ธ.ค.) นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี พร้อมด้วย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทนศาสตร์ ม.ขอนแก่น และประธานคณะทำงานวิชาการเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจักศัตรูพืช (Thai-Pan) นายสุนทร รักษ์รงค์ ประธานเครือข่ายเกษตรกรสวนยาง และนายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ร่วมกันแถลงข่าวเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ เดินหน้าขับเคลื่อนการแบน 3 สารพิษ หลังมติสันนิษฐานล้มแบนไกลโฟเซต เลื่อนแบนพาราควอตและคลอร์ไพรีฟอส


นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ตามที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้แถลงผลการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 โดยอ้างว่าที่ประชุมมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้เลื่อนการแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสออกไปเป็นวันที่ 1 มิ.ย. 2563 และยกเลิกการแบนไกลโฟเซตเป็นจำกัดการใช้แทน แต่เมื่อมีเสียงโต้แย้งก็มาบอกว่า เป็นมติเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งเราขอใช้คำว่าเป็นมติสันนิษฐานของนายสุริยะ เพราะเป็นการดำเนินการที่ไม่มีเหตุผลรับรองในการทบทวนมติและกระบวนการก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุที่ผลที่เราเห็นว่ามติไม่ชอบ คือ 1.ข้ออ้างการทบทวนมติเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2652 ไม่มีเหตุผลสนับสนุนอย่างเพียงพอ เช่น อ้างว่าไกลโฟเซตไม่เป็นอันตราย เพราะสหรัฐฯและหลายประเทศยังให้ใช้อยู่ ซึ่งขัดแย้งกับข้อวินิจฉัยของสถาบันมะเร็งนานาชาติ (IARC) องค์การอนามัยโลก และคำตัดสินของศาลสหรัฐที่ให้บริษัทสารเคมีต้องจ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ใช้และแก่รัฐ  อ้างว่าขัดต่อความตกลงในองค์กรการค้าโลกที่ต้องให้แจ้งล่วงหน้า 60 วันก่อนมีมาตรการ  แต่ในความตกลงสุขอนามัยและอนามัยพืช (SPS) ระบุไว้ว่า กรณีที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทบต่อสุขภาพ สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องยึดกรอบเวลา

"ยังมีการอ้างว่ามีผู้คัดค้านจำนวนมาก 75% จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ ซึ่งเป็นไปโดยมิชอบ เนื่องจากนำรายชื่อผู้คัดค้านจากกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสารพิษ 17,527 รายชื่อมารวมด้วย และการลงมติทางออนไลน์ 1 คนก็ทำได้หลายครั้ง  การอ้างเรื่องผลกระทบการนำเข้าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะถั่วเหลืองและข้าวสาลีซึ่งประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตได้ไม่เพียงพอ จนส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจ ก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากสามารถปรับค่าสารตกค้างการนำเข้า (Import Tolerance) ให้มีค่าต่ำสุดที่ไม่กระทบต่อการนำเข้าได้ ส่วนกรณีข้ออ้างว่าไม่มีระยะเวลาเพียงพอและไม่มีวิธีการทดแทนนั้น จริงๆ แล้วกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้แบนมากว่า 2 ปี 7 เดือนแล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กลับไม่เสนอทางเลือกที่เป็นรูปธรรม ทั้งที่ในทางปฏิบัติและการวิจัยของกรมวิชาการเกษตรเองพบว่า ในพืชหลักหลายกลุ่ม วิธีการควบคุมวัชพืชโดยไม่ใช้สารเคมีเป็นแนวทางหลักของเกษตรส่วนใหญ่อยู่แล้ว  และอยากบอกว่าขณะนี้ประเทศเม็กซิโกที่ปลูกข้าวโพดมากที่สุด ประกาศห้ามนำเข้าไกลโฟเซตแล้ว ทั้งที่ปลูกข้าวโพดมากกว่าประเทศไทย 7 เท่า ส่วนพาราคอวตนั้น มาเลเซียและเวียดนามที่มีการปลูกพืชหลายชนิดใกล้เคียงกับไทย ขณะนี้เวียดนามประกาศแบนพาราควอตไปแล้ว ส่วนมาเลเซียจะเริ่มในวันที่ 1 ม.ค.นี้" นายวิฑูรย์ กล่าว


นายวิฑูรย์ กล่าวว่า 2.กระบวนการลงมติเมื่อวันที่ 27 พ.ย. เห็นว่าการลงมติดังกล่าวเป็นการลงมติที่ไม่ชอบ เห็นได้จากการแถลงว่าลงมติแบบเอกฉันท์ และอ้างเป็นเสียงส่วนใหญ่หลังจาก รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ลาออกจากกรรมการวัตถุอันตราย เพราะไม่ยอมรับผล เพราะยืนยันว่าเสนอยึดมติเดิม เช่นเดียวกับตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่กระทรวงอื่นๆ ก็ไม่ทราบว่าจะลงมติแบบใด ทั้งที่กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนในมาตรา 12 ของพ.ร.บ.วัตถุอันตราย คือ การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด โดยที่ผ่านมา การวินิจฉัยในกรณี 3 สาร ซึ่งมีความเห็นแตกต่างกันของคณะกรรมการ ได้ใช้วิธีการลงคะแนนตลอด 3 ครั้งที่ผ่านมา ทั้งการลงมติเมื่อ พ.ค. 2561 ให้จำกัดการใช้ทั้ง 3 สารเคมี และเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินเรียกร้องให้มีการแบน การประชุมเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2562 ก็ลงมติชัดเจน และวันที่ 22 ต.ค.2562 ก็ลงมติชัดเจน จึงเห็นว่าการลงมติล่าสุดนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ข้อเสนอของเครือข่าย มี 5 ข้อ คือ 1.ยืนยันให้ทุกฝ่ายเคารพมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2562 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมต้องดำเนินการตามขั้นตอนในการออกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้การแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายโดยเร็ว 2.เครือข่ายฯขอประกาศจะดำเนินการฟ้องศาลปกครอง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต่อนายสุริยะ ที่ดำเนินการประชุมเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2562 โดยมิชอบ  3.เครือข่ายฯได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบการตกค้างของ 3 สารพิษ ในสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการที่ใส่ใจและมีนโยบายคุ้มครองสุขภาพของประชาชน  4.เครือข่ายฯจะดำเนินการฟ้องคดีแบบกลุ่มให้กับผู้ที่ได้รับอันตรายจาก 3 สารพิษนี้ คาดว่าดำเนินการได้ภายในเดือนนี้ โดยได้ความร่วมมือกับทีมทนายความที่ต่อสู้คดีให้กับนายดเวนย์ ลี จอห์นสัน ที่ชนะคดีไกลโฟเซตในสหรัฐอเมริกา และ 5. เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนเกษตรกรในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยดำเนินการตามมติและข้อเสนอของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์ 423 ต่อ 0


เมื่อถามถึงการฟ้องศาลปกครองจะดำเนินการเมื่อไรอย่างไร  นายวิฑูรย์ กล่าวว่า จากการหารือ เราทราบว่ามีบางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงมติที่ไม่เห็นด้วยกับคำแถลงของนายสุริยะ และเสนอให้มีการตีความ ซึ่งหน่วยงานราชการสามารถยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาในการตีความ ซึ่งเราจะรอขั้นตอนนี้ก่อน แต่ระหว่างนี้จะเตรียมการกระบวนการฟ้องเอาไว้แล้วในกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า คำสั่งนั้นมีผล เราจะดำเนินการฟ้องต่อไปโดยเร็วที่สุด เมื่อมติมีผลตามกฎหมายก็จะยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลปกครอง และฟ้องศาลอาญาว่าด้วยการทุจริตมิชอบและประสานงานกับหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันและทุจริตเพื่อร่วมดำเนินการเรื่องนี้ร่วมกันด้วย แต่หากชัดเจนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการยื่นเสนอให้มีการตีความก็จะยื่นฟ้องทันทีเช่นกัน 

"มติเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ยังมีผลบังคับใช้อยู่ เป็นหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ หรือรัฐบาล ที่ต้องดำเนินการให้การบังคับใช้มีผลโดยเร็ว และที่ให้ความสำคัญคือข้อเสนอมาตรการทางเลือกสำหรับเกษตรกร ในทางปฏิบัติการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชซึ่งเป็นความกังวลหลัก ระยะเวลาที่ใช้สารจริงๆ จะมีระยะเวลาถึงช่วงฤดูเพาะปลูก ซึ่งไทยจะเริ่มช่วง พ.ค.-ก.ค. หมายความมีเวลา 5-7 เดือนในการดำเนินการ แต่รับไม่ได้ที่รัฐบาลไม่เคยแถลงวิธีการเรื่องทางเลือกการกำจัดวัชพืชและประกาศนโยบายสนับสนุนชัดเจน โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเห็นว่ามีกระบวนการไม่เสนอรายละเอียดอย่างครบถ้วนจนเป็นส่วนหนึ่งของการชงลูกและรับลูกการนำไปสู่การทบทวนยกเลิกแบนไกลโฟเซตหรือไม่ เพราะเอกสารการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อปี 2561 ก็บอกทางเลือกเอาไว้มากมาย ข้อเสนอของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่บอกว่ามีหลายแนวทางที่ดีกว่าการใช้สารเคมี เช่น เครื่องจักรกลดีกว่าในหลายพืช แต่ไม่ถูกอ้างอิงในการประชุมเลย" นายวิฑูรย์ กล่าว


นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า การตั้งค่าสารตกค้างสามารถตั้งให้ต่ำที่สุดได้ อย่างถั่วเหลืองซึ่งปัจจุบันไทยยึดตามมาตรฐาน Codex ที่ 20 ppm ก็สามารถตั้งค่าให้ต่ำสุดได้ เช่น 5 ppm ซึ่งการกำหนดค่าเหล่านี้ด้วยตัวเองเป็นการสร้างอำนาจการต่อรองให้ประเทศ ไม่ใช่เป็นข้อจำกัดของประเทศเลย เช่น การพยายามส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองมากขึ้น หรือการหาแหล่งปลูกถั่วเหลืองที่มีค่าตกค้างน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย หรือใช้วัตถุดิบอื่นใดในประเทศเพื่อแทนถั่วเหลือง ไม่ใช่พึ่งพาถั่วเหลืองนำเข้าอย่างเดียว อย่างสภาหอการค้าไทยก็เรียกร้องให้แบนแต่คงค่าสารตกค้างไว้ ซึ่งข้อเรียกร้องให้ล้มการแบนไกลโฟเซตโดยอ้างเหตุผลนี้มาจากอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เป็นหลัก และบางบริษัทเท่านั้นที่มีกิจการในเครือข่ายค้าขายสารพิษ และเตรียมให้มีการปลูกถั่วเหลืองแบบจีเอ็มโอ จึงต้องการล้มการแบนไกลโฟเซตไม่ใช่แค่เหตุผลเบื้องหน้าเท่านั้น แต่เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าดัดแปลงในอนาคตด้วย


ถามถึงการฟ้องคดีแบบกลุ่ม น.ส.สารี กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ได้รับความเสียหายจากการอันตรายจากสารเคมีประมาณ 110 ราย แต่จะรวบรวมเพิ่มเติมด้วย เท่าที่เห็นข้อมูลจากของสหรัฐอเมริกา ผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดสามารถฟ้องคดีได้ ก็ถือเป็นโอกาสในการรวบรวมข้อมูลเพื่อฟ้องต่อไป หากคิดว่าได้รับผลกระทบก็มาร่วมกับพวกเราในการฟ้องได้ ทั้งนี้ยืนยันว่าเราไม่ได้มองเกษตรกรเป็นศัตรูกัน เพราะเกษตรกรเป้นผู้มีพระคุณต่อผู้บริโภค แต่เมื่อเกษตรกรจำนวนหนึ่งยืนยันที่จะใช้สารเคมี และคิดว่ามีความจำเป็น และเราเองก็ไม่ได้สนับสนุนให้ใช้ตัวใหม่ เพราะเชื่อว่าท้ายที่สุดควรไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืน เพราะการตรวจทุกครั้งที่ตรวจการตกค้าง ล่าสุดก็พบกว่า 60% สารเคมี 13 ชนิดในน้ำส้ม 100% หรือน้ำส้มคั้นสด ผู้บริโภคก็ไม่มีทางเลือกมา ถ้าเกษตรกรจะใช้สารเคมี การมีระบบฉลากที่บอกถึงกระบวนการผลิต แหล่งที่มาอาหารก็เป็นทางออกของผู้บริโภค กระทรวงเกษตรฯก็ควรที่จะผลักดันให้เกิดการระบุกระบวนการผลิตในอาหาร เช่น การผลิตอาหารบอกมีสารกันบูดวัตถุเจือปนอาหารอะไร สินค้าทางการเกษตรก็เช่นกันที่ควรจะต้องมีการบอกว่าที่มาของกระบวนการผลิตว่ามีการใช้สารเคมีมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ใช้สารเคมีกลุ่มไหน เหมือนใช้สารกันบูดในกระบวนการผลิตอาหาร


นายอุบล กล่าวว่า ความพยายามของเกษตรกรที่ไม่ประสงค์ใช้สารเคมีมีหลายรูปแบบ ทั้งขนาดใหญ่ เช่น ผู้ปลูกอ้อยรายใหญ่ ผู้ปลูกกปาล์มและยางรายใหญ่ เป็นต้น เขาก็ใช้เอาแทรกเตอร์เข้าไปไถวัชพืช เกษตรกรายย่อยที่ปลูกมันสำปะหลังก็ใช้แทรกเตอร์ขนาดเล็ก เราพบคนใช้ควายไถดินกลบร่องกำจัดวัชพืชในไร่อ่อย ทั้งที่อุดรธานีและมหาสารคาม เราพบเกษตรกรเอาแตงไท ฟักทอง เถาไม้เลื้อย เข้าไปปลูกในไร่อ้อยครอบคลุมวัชพืชได้ถึง 5 ไร่ในหนองบัวลำภู เกษตรกรที่ไม่ประสงค์ใช้สารเคมีดิ้นรนในหลายวิธี เพราะฉะน้น เป็นเรื่องที่กระทรวงเกษตรกและสหรกรณ์ควรไปทำความเข้าใจและพัฒนาต่อยอดวิธีการเหล่านี้ ใช้พื้นที่ในั่งยืนต้องปลูกพืชหมุนเวียน กระทรวงเกษตรฯก็มีความรู้แต่ไม่เคยทำอะไรเลยที่คำนึงถึงความยั่งยืน จึงอาจเป็นปัญหาที่ไม่อยากจะทำมากกว่า

น.ส.ทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า เครือข่ายฯ 686 องค์กร มีความคลางแคลงใจกับมติอย่างมาก เพราะวาระที่เข้าไปสู่กรรมการวัตถุอันตรายเป็นวาระการออกประกาศ ไม่ใช่วาระการทบทวนมติ ที่สำคัญเป็นคณะกรรมการชุดใหม่ แต่มีการพูดถึงผลกระทบหรืออันตรายจากสารเคมีมากมากกว่า 2 ปี คณะกรรมการชุดใหม่มีข้อมูลเพียงพอตัดสินใจได้ว่าจะกลับมติแบนสารเคมีหรือไม่ และบทบาทของคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีสิทธิเหนืออำนาจระบอบประชาธิปไตยที่สภาผู้แทนราษฎรที่ถือเป็นตัวแทนประชาชนทั้งหมด ที่มีมติ 423 เสียงให้มีการแบนสารเคมีและมีเกษตรกรรมยั่งยืนภายใน 10 ปีหรือไม่


นพ.ปัตพงษ์ กล่าวว่า ผู้ผลิตที่ผลิตอาหารทั้งหลาย ต้องแสดงตัวว่าตัวเองใส่ใจสุขภาประชาชน มีมาตรการดูแลเรื่องนี้อย่างไร เช่น เลือกใช้ส่งเสริมเกษตรกรผลิตผลผลิตปราศจากสารเคมีอย่างไร หรือตรวจสอบว่าอาหารที่ตนเองผลิตออกมานั้นไม่มีสารเคมี ถือเป็นโอกาสที่บริษัทผู้ผลิตทั้งหลายจะสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดกับผู้บริโภคที่ตื่นตัวมากเรียกร้องสินค้าปราศจากสารพิษสารเคมี








กำลังโหลดความคิดเห็น